ชี (บาลีวันละคำ 187)
ชี
(ภาษาไทย หรือมาจากบาลี ?)
คำว่า “ชี” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
ชี (คำนาม) = นักบวช เช่น ชีปะขาว; คําเรียกหญิงที่นุ่งขาวห่มขาว โกนคิ้วโกนผมถือศีล, แม่ชี ก็เรียก. (ส. ชี ใช้พูดต้นนามเป็นเครื่องหมายแห่งความยกย่อง).
ดูเหมือน พจน.จะชี้เป็นนัยว่า “ชี” มาจากคำว่า “ชี” ในภาษาสันสกฤต
คนอินเดียที่ประชาชนนับถือมากๆ จะมีคำต่อท้ายชื่อว่า “ชี” เช่น Gandhi ji
พจน.42 ยังมีคำว่า “ชีต้น” หมายถึงพระสงฆ์ที่เป็นอาจารย์
และมีคำว่า “ธชี” บอกว่าเป็นภาษาบาลี ให้ความหมายว่า พราหมณ์, นักบวช และว่าสันสกฤตเป็น “ธฺวชินฺ” แปลว่า ผู้ถือธง และหมายถึง “พราหมณ์” ด้วย
คำว่า “ธชี” จะพบบ่อยในร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกเมื่อเอ่ยถึง ชูชก บางทีเพี้ยนเป็น “ตาชี”
ได้ข้อสรุปว่า คำว่า “ชี” แต่เดิมหมายถึงนักบวช ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นเพศหญิง แม้แต่นักบวชชายก็เรียก “ชี” เช่นคำว่า “ชีต้น” แล้วยังมี “ชีปะขาว” ซึ่งหมายถึงผู้ชายที่ปลีกตัวไปอยู่วัด ไม่ได้บวช แต่นุ่งขาวห่มขาว
– “Ji – ชี” เป็นคำสันสกฤต ตระกูลเดียวกับบาลี ใช้เรียกควบนาม ด้วยความเคารพ เช่นที่คนอินเดียเรียกมหาตมะ คานธี ว่า Gandhi ji – คานธี ชี
– “ธชี” หมายถึงพราหมณ์ พราหมณ์ต้องนุ่งขาวห่มขาว และเป็นวรรณะนักบวช
เพราะฉะนั้น คำว่า “ชี” ที่ปัจจุบันหมายถึงหญิงที่นุ่งขาวห่มขาว โกนคิ้วโกนผมถือศีล ก็น่าจะมาจาก “ธชี” หรือ “ชี” ในบาลีสันสกฤต
ข้อเท็จจริง : ชี หรือ แม่ชี ในเมืองไทยเป็นสตรีที่กฎหมายมองผิดมุม
– จะไปเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่มีสิทธิ์ เพราะเป็นนักบวช
– ขึ้นรถไฟ จะขอลดค่าโดยสาร เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่มีสิทธิ์ เพราะไม่ใช่นักบวช
แล้วแม่ชีเป็นอะไรกันแน่ ?
บาลีวันละคำ (187)
11-11-55
ธชี
[ทะ-] น. พราหมณ์, นักบวช. (ป.; ส. ธฺวชินฺ ว่า ผู้ถือธง, พราหมณ์).
ธชินี (อิต.) (– เสนา) (บาลี-อังกฤษ)
สัน. ธุวชินี จาก ธฺวชี “ผู้ถือธง” คือ กองทัพ, กองทหาร
ชี ๑
น. นักบวช เช่น ชีปะขาว; คําเรียกหญิงที่นุ่งขาวห่มขาว โกนคิ้วโกนผมถือศีล, แม่ชี ก็เรียก. (ส. ชี ใช้พูดต้นนามเป็นเครื่องหมายแห่งความยกย่อง).
ชีต้น
น. พระสงฆ์ที่เป็นอาจารย์.
ชีปะขาว ๑
น. นักบวชนุ่งขาว.