บาลีวันละคำ

ปุพฺโพ (บาลีวันละคำ 2,042)

ปุพฺโพ = น้ำหนอง

ลำดับ 22 ในอาการสามสิบสอง

อ่านว่า ปุบ-โพ

ปุพฺโพ” รูปคำเดิมเป็น “ปุพฺพ” (ปุบ-พะ) รากศัพท์มาจาก ปุพฺพฺ (ธาตุ = เต็ม) + ปัจจัย

: ปุพฺพ + = ปุพฺพ แปลตามศัพท์ว่า “น้ำที่เต็มแผล” หมายถึง หนอง, หนองฝี, ความเปื่อยเน่า (pus, matter, corruption)

ในภาษาบาลี ศัพท์ว่า “ปุพฺพ” มีความหมายอีกอย่างหนึ่ง แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่เต็ม” หมายถึง อดีต, แต่ก่อน, ก่อน (previous, former, before) เป็นคนละความหมายกับ “ปุพฺพ” ในที่นี้

ปุพฺพ” (ปุงลิงค์) แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “ปุพฺโพ

ปุพฺโพ” ในภาษาไทยแปลง ปลา เป็น ใบไม้ ตามหลักนิยม ใช้เป็น “บุพโพ” (บุบ-โพ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

บุพโพ : (คำนาม) นํ้าหนอง, นํ้าเหลือง, ราชาศัพท์ใช้ว่า พระบุพโพ. (ป. ปุพฺพ).”

ข้อสังเกต :

๑ คำว่า “ปุพฺพ” ที่ยังไม่แจกรูป ในภาษาไทยใช้เป็น “บุพ-” และ “บุพพ-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ –

บุพ-, บุพพ– : (คำวิเศษณ์) ก่อน, ทีแรก; เบื้องต้น, เบื้องหน้า. (ป. ปุพฺพ; ส. ปูรฺว).”

๒ ส่วน “ปุพฺพ” ที่แปลว่า นํ้าหนอง, นํ้าเหลือง ภาษาไทยเอามาใช้เป็น “บุพโพ” ตามรูปที่แจกแล้วในบาลี (ปุพฺโพ) ไม่มีที่ใช้เป็น “ปุพพะ” หรือ “บุพพะ” หรือใช้เป็น “บุพ-” และ “บุพพ-” เหมือน “ปุพฺพ” ที่แปลว่า ก่อน, ทีแรก; เบื้องต้น, เบื้องหน้า

กล่าวอีกนัยหนึ่ง –

บุพ-” และ “บุพพ-” ในภาษาไทย แปลว่า ก่อน, ทีแรก; เบื้องต้น, เบื้องหน้า

ถ้าจะหมายถึง นํ้าหนอง, นํ้าเหลือง ต้องเป็น “บุพโพ

…………..

ขยายความ :

คัมภีร์วิสุทธิมรรคบรรยายลักษณะของ “ปุพฺโพ” (บุพโพ) ไว้ดังนี้ –

ปุพฺโพติ  ปณฺฑุปลาสวณฺโณ.

คำว่า “ปุพฺโพ” คือน้ำเหลืองนั้นปกติมีสีเหลืองอ่อนดังสีใบไม้เหลือง

มตสรีเร  ปน  ปูติพหลาจามวณฺโณ  โหติ.

แต่ในร่างคนตาย บุพโพกลายเป็นสีขาวหม่นดังสีน้ำข้าวบูดข้นๆ ไป

สณฺฐานโต  โอกาสสณฺฐาโน.

บุพโพนั้นมีรูปทรงสัณฐานตามรูปทรงอวัยวะที่มันเข้าไปอยู่

โอกาสโต  ปน  ปุพฺพสฺส  โอกาโส  นาม  นิพทฺโธ  นตฺถิ  ยตฺถ  โส  สนฺนิจิโต  ติฏฺเฐยฺย.  ยตฺร  ยตฺร  ปน  ขาณุกณฺฏกปฺปหรณอคฺคิชาลาทีหิ  อภิหเต  สรีรปฺปเทเส  โลหิตํ  สณฺฐหิตฺวา  ปจฺจติ  คณฺฑปีฬกาทโย  วา  อุปฺปชฺชนฺติ  ตตฺร  ตตฺร  ติฏฺฐติ.

แต่แหล่งที่บุพโพจะขังอยู่เป็นประจำหามีไม่ เป็นแต่ในตำแหน่งร่างกายแห่งใดๆ ที่ถูกตอตำ หนามทิ่ม ถูกกระทบกระแทกแตกพอง หรือถูกไฟลวกเป็นต้น โลหิตห้อระบมขึ้น หรือว่าเป็นฝีเป็นตุ่มพุพอง มันจึงมาอยู่ตามที่นั้นๆ

(คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 2 อนุสสติกัมมัฏฐานนิทเทส หน้า 45)

ในบทสวด “พระอาการสามสิบสอง” กล่าวถึง “ปุพฺโพ” ไว้ดังนี้ –

๏ ปุพโพคือหนอง…..เปื่อยเน่าพุพอง……เป็นหนองภายใน

ครั้นเปื่อยเน่าพอง…..เป็นหนองหลั่งไหล..จงเร่งคิดไว้

ให้เห็นอนิจจา๚ะ๛

…………..

คัมภีร์ปรมัตถโชติกา อธิบายติโรกุฑฑสูตร ตอนว่าด้วยเปรตญาติพระเจ้าพิมพิสาร พรรณนาสภาพเปรตบางพวกไว้ดังนี้ –

…….

…….

บางพวกไม่ได้รสอื่นนอกจากรสคือความหิวระหาย เพราะแม้จะได้ข้าวน้ำก็ไม่สามารถบริโภคได้ตามต้องการ เพราะมีหลอดคอขนาดเล็กเท่ารูเข็ม และเพราะมีท้องใหญ่ดังภูเขา

… อปฺเปกจฺเจ  อญฺญมญฺญสฺส  อญฺเญสํ  วา  สตฺตานํ  ปภินฺนคณฺฑปีฬกมุขา  ปคฺฆริตรุทิรปุพฺพลสิกาทึ  ลทฺธา  อมตมิว  สายมาเน …

บางพวกได้น้ำเลือด น้ำหนอง ไขข้อเป็นต้น ที่ไหลออกจากแผลหัวฝีที่แตกเยิ้มของกันและกันหรือของพวกอื่น ก็ลิ้มเลียปานดังว่าเป็นน้ำอมฤต

…….

…….

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้ารังเกียจน้ำเลือดน้ำหนองว่าเป็นของสกปรกแสนทุเรศ

: ก็จงรังเกียจบาปกรรมที่ทำให้เกิดเป็นเปรตร้อยเท่าพันทวีเถิด

—————-

(ตามคำอาราธนาของคุณครูอนันต์ นาควิจิตร)

ภาพประกอบ: จาก google

ควรตามไปดูคำว่า “อาการ 32” ที่ลิงก์ข้างล่างนี้ด้วย:

#บาลีวันละคำ (2,042)

14-1-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย