เรื่องสั้นของทองย้อย

ลุงแผน

ลุงแผน

ลุงแผนเป็นคนมอญ บ้านอยู่ท่าเสา 

ที่เรียกว่า “ท่าเสา” นั้นคือบริเวณริมน้ำแม่กลองกำหนดตั้งแต่เหนือวัดช่องลมขึ้นไปจนถึงสะพานสิริลักขณ์ 

ถ้าเดินจากวัดมหาธาตุราชบุรีเป็นเส้นตรงไปทางตะวันออกประมาณ ๕๐๐ เมตร+ ก็จะถึงแม่น้ำแม่กลอง และถึงบ้านลุงแผน 

ผมมาอยู่วัดมหาธาตุเมื่อปี ๒๕๐๖ ก็เห็นลุงแผนเดินมาไหว้พระสวดมนต์ที่วัดมหาธาตุอยู่เนืองๆ 

บริเวณที่ลุงแผนไปสวดมนต์ก็คือบนวิหารหลวงซึ่งสมัยนั้นส่วนหนึ่งมุงสังกะสีและส่วนหนึ่งมุงกระเบื้อง เสาไม้ เปิดโล่ง มีพระมงคลบุรี-พระศรีนัคร์ พระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยอยุธยาผินหลังชนกันประดิษฐานเป็นประธาน 

สมัยนั้นวิหารหลวงมีสภาพทรุดโทรมมาก ไม่มีใครดูแล เป็นที่สำหรับสุนัขขึ้นไปหลบนอน เพราะฉะนั้นนอกจากฝุ่นจับพื้นสกปรกแล้วยังอุดมไปด้วยขี้หมาอีกด้วย 

เวลามาไหว้พระลุงแผนจะสวมกางเกงขาก๊วย เสื้อคอกลมสีขาว มีผ้าขาวม้าเฉวียงบ่า ถือธูปเทียนมาด้วยทุกครั้ง 

เรื่องผ้าเฉวียงบ่านี่ มีคนบอกว่าคนมอญถือเคร่งครัดมาก เวลาไปวัดต้องคาดผ้าสไบเฉียงกันทุกคนทั้งชายทั้งหญิง ใครไม่มีผ้าเฉวียงบ่าหรือสไบเฉียงถือว่าผิดวัฒนธรรม

เมื่อจะเริ่มไหว้พระ ลุงแผนจึงต้องมีหน้าที่กวาดฝุ่นผงตามพื้นและเก็บขี้หมาให้เรียบร้อยก่อนจึงจะมีที่นั่งไหว้พระสวดมนต์ได้ 

นอกจากลุงแผนแล้ว ยังมีลุงลี่อีกคนหนึ่ง เป็นมอญเหมือนกัน และมักจะมาไหว้พระสวดมนต์ตอนบ่ายๆ เย็นๆ แต่ลุงลี่มาไม่บ่อยเหมือนลุงแผน 

เวลาสองมอญมาเจอกันบนวิหารหลวงก็จะส่งภาษามอญกันอย่างครึกครื้น สวดมนต์ (เป็นสำเนียงมอญ) เสร็จแล้วยังคุยกันต่อไปอีกจนได้เวลาเย็นพอสมควรก็จะแยกย้ายกันกลับบ้าน

ต่อมาเมื่อกรมศิลปากรมีงบประมาณมาบูรณะโบราณสถานในวัดมหาธาตุ วิหารหลวงก็ได้รับการซ่อมทำใหม่หมดทั้งหลัง รูปทรงหลังคาก็เปลี่ยนไปตามที่กรมศิลปากรออกแบบ แต่องค์ประกอบภายในยังคงเหมือนเดิม พื้นที่บนวิหารกว้างขึ้นกว่าเดิม ขึ้นไปไหว้สวดมนต์ได้สะดวกดีกว่าเดิมเป็นอันมาก 

—————

ประมาณปี ๒๕๔๐ กรมยุทธศึกษาทหารเรือย้ายกองบังคับการและหน่วยขึ้นตรงออกมาอยู่ที่ศาลายา ทำให้ผมเดินทางไป-กลับจากบ้านไปที่ทำงานได้สะดวกรวดเร็วขึ้น 

ออกจากศาลายาสี่โมงครึ่ง ประมาณห้าโมงกว่าๆ ก็ถึงราชบุรีแล้ว 

จึงทำให้ผมมีเวลาแวะเข้าไปไหว้พระที่วัดมหาธาตุก่อนเข้าบ้านได้แทบทุกวัน นั่นหมายถึงมีโอกาสเจอลุงแผนแทบทุกวันด้วยนั่นเอง 

ตอนนั้นลุงลี่ตายแล้ว ลุงแผนยังคงมาไหว้พระสวดมนต์ตอนเย็นที่วัดทุกวันเหมือนเดิม แต่งตัวเหมือนเดิม มีธูปเทียนติดมาเหมือนเดิม ที่เพิ่มขึ้นก็คือถือไม้เท้ากรานทางมาด้วย 

ระยะนั้นดูเหมือนจะเป็นกิจวัตรอย่างหนึ่งระหว่างลุงแผนกับผม คือถ้าใครมาถึงก่อน พอไหว้พระสวดมนต์แล้วก็จะนั่งรออีกคนหนึ่งเพื่อ “สนทนาธรรม” กัน มีโอเลี้ยงคนละแก้วเป็นเครื่องแกล้ม (โอเลี้ยงนั้นเป็นบริการด้วยเมตตาธรรมจากโรงครัวของวัดประกอบด้วยนโยบายของผู้ดูแลวิหาร คือถ้ามีแขกขึ้นไปไหว้พระบนวิหาร ผู้ดูแลก็จะยกเครื่องดื่มตามมีตามเกิดมารับรองเป็นเครื่องปฏิการะ เวลานั้นโอเลี้ยงเป็นเครื่องดื่มสามัญที่ปรุงได้ง่ายที่สุด เสียดายที่ตอนนี้บริการนี้ไม่มีแล้ว) 

เวลานั่ง “สนทนาธรรม” กัน ผมมักเป็นฝ่ายฟัง ลุงแผนเป็นฝ่ายพูด ตอนนั้นลุงแผนน่าจะอายุ ๘๐ ปลายๆ แล้ว เสียงดังและชอบเล่าเรื่องเก่า โดยเฉพาะเรื่องไปขายโอ่งทางเรือถึงเมืองนครสวรรค์ เรื่องถ้ำวิเศษที่เขาแก้วนครสวรรค์ และเรื่องพระนักเลง 

เรื่องเหล่านี้ลุงแผนเล่าให้ผมฟังมาเป็นสิบๆ ครั้ง แต่ละครั้งลุงแผนจะเล่าเหมือนกับว่าเพิ่งเล่าเป็นครั้งแรก เพราะฉะนั้นก็เป็นหน้าที่ของผมที่จะต้องฟังเหมือนกับว่าเพิ่งได้ฟังเป็นครั้งแรกด้วยเช่นกัน 

ศิลปะในการฟังแบบนี้ไม่มีสอนในโรงเรียน รับรองได้ 

ตอนนี้เวลาฟังใครเล่าเรื่องอะไรซ้ำๆ ผมจะต้องนึกถึงลุงแผนทุกทีไป 

ลุงแผนตายเมื่ออายุ ๙๒ น่าจะประมาณ ๑๐ ปีมาแล้ว ตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่วัดมหาธาตุราชบุรี 

วันนั้นผมไปรดน้ำศพลุงแผน จับมือลากับลุงแผน-ลุงแผนผู้เป็นตำนานของผม 

…………….

ระหว่างเข้าพรรษานี้ผมเดินไปไหว้พระสวดมนต์ที่วัดมหาธาตุตอนเย็นทุกวัน เดินไปก็นึกถึงลุงแผนไป 

ผมตั้งใจจะไปไหว้พระสวดมนต์ทุกวันแม้ว่าจะออกพรรษาแล้ว ก็จะพยายามไป ตั้งใจไว้อย่างนั้น-ทำเหมือนที่ลุงแผนเคยทำ 

จะมีใครนึกถึงผมเหมือนที่ผมนึกถึงลุงแผนหรือเปล่า อีกไม่นานก็คงรู้ 

วันที่ ๑๑ เบื้องหน้าแต่พรรษากาล

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๗ สิงหาคม ๒๕๖๑

๑๕:๔๑

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *