บาลีวันละคำ

ไตรครอง – ไตรอาศัย (บาลีวันละคำ 2,247)

ไตรครองไตรอาศัย

อีกสิ่งหนึ่งที่นานไปจะไม่มีใครรู้จัก

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ที่คำว่า “ผ้าไตร” มีคำนิยามดังนี้ –

ผ้าไตร : (คำนาม) ผ้า ๓ ผืนของภิกษุ คือ อันตรวาสก (สบง) อุตราสงค์ (จีวร) และสังฆาฏิ (ผ้าทาบ), ไตร ก็เรียก เช่น ไตรครอง ดอกไม้คลุมไตร, เรียกเต็มว่า ผ้าไตรจีวร.”

คำนิยามนี้อ้างถึงคำว่า “ไตรครอง” แต่พจนานุกรมฯ ก็ไม่ได้เก็บคำว่า “ไตรครอง” ไว้

ไตรครอง” หมายถึงอะไร?

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “อธิษฐาน” มีคำอธิบายตอนหนึ่งดังนี้ –

อธิษฐาน : 1. ในทางพระวินัย แปลว่า การตั้งเอาไว้ ตั้งใจกำหนดแน่นอนลงไป เช่น อธิษฐานพรรษา ตั้งเอาไว้เป็นของเพื่อการนั้นๆ หรือตั้งใจกำหนดลงไปว่าให้เป็นของใช้ประจำตัวชนิดนั้นๆ เช่น ได้ผ้ามาผืนหนึ่ง ตั้งใจว่าจะใช้เป็นอะไร คือจะเป็นสังฆาฏิ อุตตราสงค์ อันตรวาสก ก็อธิษฐานเป็นอย่างนั้นๆ เมื่ออธิษฐานแล้ว ของนั้นเรียกว่าเป็นของอธิษฐาน เช่น เป็นสังฆาฏิอธิษฐาน จีวรอธิษฐาน (นิยมเรียกกันว่า จีวรครอง) ตลอดจนบาตรอธิษฐาน ส่วนของชนิดนั้น ที่ได้เพิ่มมาอีกหรือเกินจากนั้นไปก็เป็นอติเรก เช่น เป็นอติเรกจีวร, อติเรกบาตร, …

…………..

ความในวงเล็บที่ว่า “นิยมเรียกกันว่า จีวรครอง” คำว่า “จีวรครอง” มีความหมายอย่างเดียวกับ “ไตรครอง

ไตรครอง” จึงหมายถึง ผ้า 3 ผืนของภิกษุที่ตั้งใจกำหนดลงไปว่าจะใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มประจำตัว

ตามหลักพระวินัย อนุญาตให้ภิกษุมีเครื่องนุ่งห่มได้เพียง 3 ชิ้น คือ –

(1) ผ้านุ่ง เรียก “อันตรวาสก” (อัน-ตะ-ระ-วา-สก) คือที่เราเรียกกันว่า “สบง

(2) ผ้าห่ม เรียก “อุตตราสงค์” (อุด-ตะ-รา-สง) นี่คือที่เราเรียกกันว่า “จีวร

(3) ผ้าห่มซ้อน (ผ้าห่มผืนที่สอง ที่พจนานุกรมฯ แปลว่า “ผ้าทาบ”) เรียกว่า “สังฆาฏิ” (สัง-คา-ติ) คือที่เราเห็นพระในเมืองไทยใช้พาดบ่า

รวมผ้า 3 ผืนที่ตั้งใจกำหนดใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มประจำตัว เรียกว่า “ไตรครอง

ไตรครอง” นี้กำหนดให้มีได้เพียงชุดเดียวเท่านั้น

ส่วน “ไตร” ที่ได้เพิ่มมาอีกหรือเกินจากนั้นไปซึ่งไม่สามารถใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มประจำตัวได้อีก แต่จะมีไว้ก็ได้ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด เรียกว่า “อติเรกจีวร” แต่มักเรียกกันว่า “ไตรอาศัย

สรุปว่า –

ไตรครอง” คือ ผ้า 3 ผืน (สบง จีวร สังฆาฏิ) ของภิกษุที่กำหนดว่าจะใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มประจำตัว มีได้ชุดเดียว

ไตรอาศัย” คือ ผ้าไตรนอกเหนือจากไตรครองที่สามารถมีไว้ได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด

หาความรู้เฉพาะคำว่า “ไตร:

ไตร” ศัพท์เดิมในบาลีเป็น “ติ” เป็นศัพท์จำพวกที่เรียกว่า “สังขยา” คือคำนับจำนวน แปลว่า “สาม” (จำนวน 3)

ในกรณีมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย“ติ” คงรูปเป็น “ติ” ก็มี แผลงเป็น “เต” ก็มี เช่น –

ติรตน (ติ-ระ-ตะ-นะ) = รัตนะสาม

เตมาส (เต-มา-สะ) = สามเดือน

คำที่มี “ติ” หรือ “เต” (ที่เป็นศัพท์สังขยา) นำหน้าเช่นนี้ ในภาษาไทยมักแปลงรูปเป็น “ตรี” หรือ “ไตร” เช่น ตรีรัตน์ ไตรรัตน์ ตรีมาส ไตรมาส

อาจจับหลักไว้ง่ายๆ ว่า –

: ติ > ตรี

: เต > ไตร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

ไตร ๓ : (คำวิเศษณ์) สาม, คําสําหรับนําหน้าสมาสอย่างเดียว (บางทีใช้ว่า ตรี ก็ได้) เช่น ไตรลักษณ์ ไตรทวาร, แม้จะพูดไว้ท้ายคําบ้าง เช่น ผ้าไตร หอไตร ก็เพราะละท้ายสมาสเสีย คือ ผ้าไตรจีวร หอไตรปิฎก. (ส.).”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับปรุงคำนิยามใหม่ เหลือเพียง –

ไตร ๓ : (คำวิเศษณ์) สาม, คำสำหรับนำหน้าสมาส เช่น ไตรลักษณ์ ไตรทวาร. (ส.).”

ขยายความ :

ในศีล 227 ข้อของภิกษุ มีข้อหนึ่งบัญญัติไว้ว่า “ภิกษุอยู่ปราศจากไตรจีวรแม้คืนหนึ่งต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์

หมายความว่า ตามพระวินัย ภิกษุจะต้องมี “ไตรครอง” ติดตัวอยู่ทุกวัน พูดให้เห็นภาพชัดๆ ว่า ตื่นเช้าขึ้นมาต้องมี “ไตรครอง” ติดตัวครบทั้ง 3 ผืนทุกวัน จนได้อรุณแล้วจึงเอาออกจากตัวได้ เรียกกันว่า “เปลื้องครอง

หลังเวลาเปลื้องครองแล้ว เมื่อไปไหนมาไหนหรือทำกิจใดๆ จะเอาผ้าไตรผืนใดผืนหนึ่งเก็บวางไว้ห่างจากตัวก็ได้ แต่เมื่อถึงเวลาก่อนอรุณขึ้นของวันใหม่ไตรครองจะต้องอยู่ติดกับตัวเพื่อให้เป็นไปตามหลักที่ว่า “ตื่นเช้าขึ้นมาต้องมี ‘ไตรครอง’ ติดตัวครบทั้ง 3 ผืนทุกวัน”

ด้วยเหตุนี้ พระสมัยก่อนท่านจึงนิยมตื่นในเวลาประมาณตีสี่แล้วนุ่งห่มผ้าไตรครบ 3 ผืนตั้งแต่เวลานั้น เรียกกันว่า “ครองผ้า” เพื่อให้มั่นใจได้ว่าตื่นเช้าขึ้นมาจะมี “ไตรครอง” ติดตัวครบทั้ง 3 ผืนตามพระวินัยอย่างแน่นอน

เมื่อจำพรรษาครบ 3 เดือนโดยไม่ขาดพรรษาและได้รับกฐินแล้ว พระวินัยผ่อนผันให้ภิกษุไปไหนมาไหนโดยไม่ต้องเอาผ้าไตรไปครบ 3 ผืนได้ นั่นคือได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามสิกขาบทข้อนี้เป็นเวลา 5 เดือนหลังจากออกพรรษา คือตั้งแต่แรมค่ำ 1 เดือน 11 ถึงกลางเดือน 4

และนี่เองคือที่มาของประเพณีที่วัดต่างๆ ตื่นตีสี่ในพรรษา เคาะระฆังทำวัตรสวดมนต์เป็นพิเศษอีกเวลาหนึ่ง นั่นคือพระท่านลุกขึ้นมา “ครองผ้า” แล้วถือโอกาสทำวัตรสวดมนต์ไปด้วย

…………..

บาลีวันละคำชุด:-

: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา

: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไม่มีผ้าครองกาย รู้ว่าอายเป็นไฉน

: ไม่มีธรรมครองใจ ไฉนจึงไม่รู้จักอาย

#บาลีวันละคำ (2,247)

7-8-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย