บาลีวันละคำ

อุโบสถกรรม (บาลีวันละคำ 2,248)

อุโบสถกรรม

ถ้าไม่ทำก็คือศาสนาเสื่อม

อ่านว่า อุ-โบ-สด-ถะ-กำ

ประกอบด้วยคำว่า อุโบสถ + กรรม

(๑) “อุโบสถ

บาลีเป็น “อุโปสถ” อ่านว่า อุ-โป-สะ-ถะ รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + วสฺ (ธาตุ = อยู่) + อถ ปัจจัย, แปลง อะ ที่ (อุ)- กับ -(สฺ) เป็น โอ (อุป + วสฺ > อุโปส)

: อุป + วสฺ = อุปวสฺ > อุโปส + อถ = อุโปสถ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ธรรมเป็นที่เข้าจำ”, “กาลเป็นที่เข้าจำ” (คือเข้าไปอยู่โดยการถือศีลหรืออดอาหาร) (2) “กาลเป็นที่เข้าถึงการอดอาหารหรือเข้าถึงศีลเป็นต้นแล้วอยู่

อุโปสถ” ในภาษาบาลีมีความหมาย 4 อย่าง –

(1) การสวดปาติโมกข์ของพระสงฆ์ทุกกึ่งเดือน = อุโบสถกรรม (biweekly recitation of the Vinaya rules by a chapter of Buddhist monks; the days for special meetings of the order, and for recitation of the Pāṭimokkha)

(2) การอยู่จำรักษาศีล 8 ของอุบาสกอุบาสิกา = อุโบสถศีล (observance; the observance of the Eight Precepts; the Eight Precepts observed by lay devotees on Uposatha days)

(3) วันสวดปาติโมกข์ของพระสงฆ์ และวันรักษาศีล 8 ของอุบาสกอุบาสิกา = วันอุโบสถ (Uposatha days)

(วันอุโบสถของพระสงฆ์ คือ ขึ้น 15 ค่ำ, แรม 15 ค่ำ หรือ 14 ค่ำเมื่อเดือนขาด, วันอุโบสถของอุบาสกอุบาสิกาเพิ่มอีกสองวัน คือ ขึ้นและแรม 8 ค่ำ)

(4) สถานที่สงฆ์ทำสังฆกรรม เรียกเต็มศัพท์ว่า “อุโปสถาคาร” หรือ “อุโปสถัคคะ” = โรงอุโบสถ คือที่เราเรียกว่า “โบสถ์” (the Uposatha hall; consecrated assembly hall)

อุโปสถ” ใช้ในภาษาไทยว่า “อุโบสถ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อุโบสถ ๑ : (คำนาม) เรียกสถานที่ที่พระสงฆ์ประชุมกันทําสังฆกรรมเช่นสวดพระปาติโมกข์ อุปสมบท ว่า โรงอุโบสถ หรือ อุโบสถ, เรียกย่อว่า โบสถ์; (ภาษาปาก) เรียกวันพระว่า วันอุโบสถ; เรียกการแสดงพระปาติโมกข์ของพระสงฆ์ทุก ๆ กึ่งเดือน คือ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ และวันแรม ๑๕ ค่ำ หรือวันแรม ๑๔ ค่ำ ในเดือนขาด ว่า การทําอุโบสถ; เรียกการรักษาศีล ๘ ของคฤหัสถ์ว่า การรักษาอุโบสถ. (ป. อุโปสถ; ส. อุโปษธ, อุปวสถ).”

(๒) “กรรม

บาลีเป็น “กมฺม” (กำ-มะ) สันสกฤตเป็น “กรฺม” (กระ-มะ, ควบ กลืนเสียง ระ ลงคอ) ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “กรรม

กมฺม” รากศัพท์คือ กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุและ ที่ต้นปัจจัย

: กร > + รมฺม > มฺม : + มฺม = กมฺม

กมฺม” แปลว่า การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (the doing, deed, work) นิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม

อุโปสถ + กมฺม = อุโปสถกมฺม (อุ-โป-สะ-ถะ-กำ-มะ) แปลว่า “กรรมคืออุโบสถ” หรือ “การทำอุโบสถ” ใช้ทับศัพท์ว่า “อุโบสถกรรม

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “อุโบสถ” อธิบายไว้ดังนี้ –

อุโบสถ : 1. การสวดปาติโมกข์ของพระสงฆ์ทุกกึ่งเดือน เป็นเครื่องซักซ้อมตรวจสอบความบริสุทธิ์ทางวินัยของภิกษุทั้งหลาย และทั้งเป็นเครื่องแสดงความพร้อมเพรียงของสงฆ์ด้วย, อุโบสถเป็นสังฆกรรมที่ต้องทำเป็นประจำสม่ำเสมอและมีกำหนดเวลาที่แน่นอน มีชื่อเรียกย่อยออกไปหลายอย่าง การทำอุโบสถจะมีการสวดปาติโมกข์ได้ต่อเมื่อมีภิกษุครบองค์สงฆ์จตุวรรค คือ ๔ รูปขึ้นไป ถ้าสงฆ์ครบองค์กำหนดเช่นนี้ทำอุโบสถ เรียกว่า สังฆอุโบสถ (มีรายละเอียดวิธีปฏิบัติตามพุทธบัญญัติในอุโปสถขันธกะ, วินย.๔/๑๔๗/๒๐๑); ในกรณีที่มีภิกษุอยู่ในวัดเพียง ๒ หรือ ๓ รูป เป็นเพียงคณะ ท่านให้บอกความบริสุทธิ์แก่กันและกันแทนการสวดปาติโมกข์ เรียกอุโบสถนี้ว่า คณอุโบสถ หรือ ปาริสุทธิอุโบสถ

…………..

อธิบายขยายความ :

อุโบสถกรรม” มักเรียกรู้กันด้วยคำว่า “วันปาติโมกข์” “ฟังปาติโมกข์” “ลงปาติโมกข์” หรือ “ลงโบสถ์” เมื่อพูดด้วยคำเหล่านี้ก็จะรู้กันว่าหมายถึงมีการสวดพระปาติโมกข์

วิธีการคือ เมื่อถึงวันที่กำหนด คือขึ้น 15 ค่ำ และวันแรม 15 ค่ำ หรือวันแรม 14 ค่ำ ในเดือนขาด ภิกษุในวัดต่างๆ จะประชุมกันในโบสถ์ซึ่งได้เตรียมปัดกวาด ปูลาดอาสนะ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ และตามประทีปไว้พร้อมแล้ว เมื่อทำวัตรสวดมนต์จบแล้ว ภิกษุผู้ทรงจำพระปาติโมกข์จะขึ้นนั่งบนอาสนะซึ่งนิยมทำเหมือนธรรมาสน์ แต่เตี้ยกว่า เรียกกันว่า “เตียงปาติโมกข์” ภิกษุทั้งหมดที่ชุมนุมกันจะนั่งล้อมให้ได้หัตถบาส (แบบเดียวกับในพิธีอุปสมบท) แล้วภิกษุผู้ทรงจำพระปาติโมกข์ก็เริ่มสวดพระปาติโมกข์คือสิกขาบท 227 ข้อเป็นภาษาบาลี (สวดจากความทรงจำ ไม่ใช่อ่านจากหนังสือ) ปกติจะมีภิกษุอีกรูปหนึ่งเปิดคัมภีร์พระปาติโมกข์อ่านทานตามไป ถ้าสวดผิดพลาดตรงคำใด ภิกษุที่อ่านทานจะทักท้วงขึ้น ภิกษุรูปที่สวดจะกลับมาสวดคำนั้นใหม่ ทั้งนี้เพื่อให้ข้อความที่สวดนั้นบริสุทธิ์บริบูรณ์ถูกต้องตรงตามพระบาลี

เนื่องจากคัมภีร์พระปาติโมกข์มีข้อความยาวพอสมควร จึงต้องสวดค่อนข้างเร็ว ใช้เวลาตามมาตรฐานที่รู้กันคือระหว่าง 35 – 40 – 45 นาที ที่สวดช้าอาจใช้เวลาถึง 1 ชั่วโมงก็มี

การทำอุโบสถกรรมหรือลงโบสถ์ฟังพระปาติโมกข์ในพระศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้ากำหนดให้ทำทุกกึ่งเดือน ตามคำในพระบาลีที่ว่า –

…………..

เอตฺตกํ  ตสฺส  ภควโต  สุตฺตาคตํ  สุตฺตปริยาปนฺนํ  อนฺวฑฺฒมาสํ  อุทฺเทสํ  อาคจฺฉติ.

สิกขาบทของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นมีเท่านี้ มาในพระปาติโมกข์ นับเนื่องในพระปาติโมกข์ มาสู่อุเทศ (คือการยกขึ้นสวด) ทุกกึ่งเดือน

ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 2 ข้อ 881

…………..

การทำอุโบสถกรรมถือกันว่าเป็นการสืบอายุพระศาสนา เพราะเมื่อภิกษุยังทบทวนถึงศืลของตนอยู่สม่ำเสมอย่อมเป็นหลักประกันว่ายังมีศีลบริสุทธิ์อยู่ ภิกษุมีศีลบริสุทธิ์อยู่ตราบใด พระศาสนาก็ชื่อว่ายังดำรงมั่นคงอยู่ตราบนั้น

ภิกษุแต่ปางก่อนท่านจึงเข้มงวดกวดขันในการทำอุโบสถกรรมยิ่งนัก ด้วยการฝึกฝนให้มีภิกษุทรงจำพระปาติโมกข์ขึ้นในทุกๆ อาราม และเมื่อถึง “วันปาติโมกข์” ก็จะวางกิจทั้งปวงไว้ก่อน ตั้งใจทำอุโบสถกรรมโดยพร้อมเพรียงกัน

วัดใดไม่มีภิกษุทรงจำพระปาติโมกข์ ภิกษุในวัดนั้นจะพากันไปร่วมฟังพระปาติโมกข์ในวัดใกล้เคียง หรือนิมนต์ภิกษุทรงจำพระปาติโมกข์จากต่างวัดมาสวดพระปาติโมกข์ที่วัดของตน

วัดที่ไม่มีภิกษุทรงจำพระปาติโมกข์และต้องทำเช่นนี้มักรู้สึกกันว่าเป็นความน้อยหน้าชนิดหนึ่ง แต่ถึงกระนั้นท่านก็ยังอุตส่าห์ขวนขวายทำอุโบสถกรรมไม่ยอมให้ขาดได้ เพราะถือว่าเป็นการสืบอายุพระศาสนาดังกล่าวแล้ว

ดูเพิ่มเติม:

ปาติโมกฺข” บาลีวันละคำ (102) 18-8-55

ปาติโมกข์” บาลีวันละคำ (827) 23-8-57

อุโปสถ” บาลีวันละคำ (67) 11-7-55

อุโบสถ” บาลีวันละคำ (1,700) 29-1-60

…………..

บาลีวันละคำชุด:-

: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา

: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: พระท่านตรวจสอบศีล ด้วยความบริสุทธิ์

: เราท่านจะตรวจสอบความเป็นมนุษย์-ด้วยอะไร?

#บาลีวันละคำ (2,248)

8-8-61

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *