ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน (บาลีวันละคำ 4,360)
ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน
ทบทวนความรู้เป็นพุทธบูชา
(๑) “ประสูติ”
บาลีเป็น “ปสูติ” อ่านว่า ปะ-สู-ติ รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ปกติ) + สู (ธาตุ = คลอดลูก) + ติ ปัจจัย
: ป + สู = ปสู + ติ = ปสูติ แปลตามศัพท์ว่า “การคลอดลูก” คือ การให้กำเนิด, การเกิด (bringing forth, birth)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ประสูติ, ประสูติ– : (คำราชาศัพท์) (คำนาม) การเกิด; การคลอด.ก. เกิด; คลอด. (ส. ปฺรสูติ; ป. ปสูติ).”
(๒) “ตรัสรู้”
อ่านว่า ตฺรัด-สะ-รู้ เป็นคำไทย แต่จะมาจากภาษาอะไรยังไม่แจ้ง “ตรัส” คำเดียว พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ตรัส : (คำราชาศัพท์) (คำกริยา) พูด. (คำวิเศษณ์) แจ้ง, สว่าง, ชัดเจน.”
ตรัส + รู้ = ตรัสรู้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ตรัสรู้ : (คำกริยา) รู้แจ้ง (ใช้เฉพาะพระพุทธเจ้า); (ภาษาปาก) รู้เอาเองว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้.”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “ตรัสรู้” ไว้ดังนี้ –
…………..
ตรัสรู้ : รู้แจ้ง หมายถึงรู้อริยสัจจ์ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อย่างแจ้งชัดถึงได้บรรลุมรรคผล
ใน “ปฐมสมโพธิกถา” พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส (ทรงชำระเสร็จในพ.ศ. ๒๓๘๘) ทรงใช้คำว่า “ตรัสรู้” แก่พระอรหันต์ทั้งปวง เช่น “เหตุผลในการกราบทูลให้แสดงธรรม คือ บุคคลผู้พร้อมตรัสรู้ตามมีอยู่ หากไม่ตรัสธรรมพวกเขาก็ย่อมเสียโอกาส” และทรงใช้แก่การบรรลุมรรคผลทุกระดับ ตั้งแต่เป็นโสดาบัน เช่นว่า “อันว่าพระธรรมาภิสมัยคือตรัสรู้มรรคผลก็บังเกิดแก่สัตว์ ๘๔ โกฏิเป็นประมาณ” และ “เบื้องว่าบุคคลตรัสรู้ซึ่งองค์พระอริยมรรคทั้ง ๘ ประการนี้แล้ว ก็จะได้ซึ่งโสดาปัตติผล”
ในหนังสือ พระปฐมสมโพธิ แบบธรรมยุต ที่สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทว) ทรงรจนาในช่วง พ.ศ. ๒๔๑๙-๒๔๔๕ ซึ่งพิมพ์เป็นแบบเรียนนักธรรมในธรรมสมบัติ เป็นหมวดที่ ๑ ตามพระดำริของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ก็ใช้คำว่า “ตรัสรู้” แก่พระอรหันตสาวกทั่วไป เช่น “เราผู้พระศาสดาและท่านทั้งหลายผู้สาวกได้ตามตรัสรู้แล้ว” และ “ท่านทั้งหลายผู้สาวก อันได้ตรัสรู้จบซึ่งศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ นั้นแล้ว”
ตัวอย่างที่ยกมานี้ แสดงว่าในสมัยก่อน ท่านใช้คำว่า “ตรัสรู้” แก่ผู้บรรลุมรรคผลทั่วทั้งหมด โดยคงถือว่าการรู้ของผู้บรรลุมรรคผล มิใช่เป็นการรู้สามัญอย่างปุถุชน
…………..
(๓) “ปรินิพพาน”
เขียนแบบบาลีเป็น “ปรินิพฺพาน” (มีจุดใต้ พฺ ตัวแรก) อ่านว่า ปะ-ริ-นิบ-พา-นะ ประกอบด้วย ปริ + นิพฺพาน
(ก) “ปริ” อ่านว่า ปะ-ริ เป็นคำอุปสรรค (คำสำหรับใช้เติมข้างหน้าคำนามหรือคำกริยาที่เป็นรูปคำบาลีหรือสันสกฤตให้มีความหมายแผกเพี้ยนไปจากเดิม หรือมีความหมายตรงข้ามกับความหมายเดิมเป็นต้น และถือเป็นคำเดียวกับคำนามหรือคำกริยานั้น เพราะตามปรกติจะไม่ใช้ตามลำพัง) มีความหมายว่า รอบ, เวียนรอบ; ทั่วไป, เต็มไปหมด, รวมหมด (around, round about; all round, completely, altogether)
(ข) “นิพฺพาน” บาลีอ่านว่า นิบ-พา-นะ รากศัพท์มาจาก –
(1) นิ (คำอุปสรรค = ไม่มี, ออก) + วาน (ตัณหา, เครื่องร้อยรัด), แปลง ว เป็น พ, ซ้อน พฺ ระหว่างอุปสรรคและบทหลัง
: นิ + วาน = นิวาน > นิพาน : นิ + พฺ + พาน = นิพฺพาน แปลตามศัพท์ว่า “สภาวธรรมที่ออกพ้นจากตัณหาที่เรียกว่า วานะ”
(2) นิ (คำอุปสรรค = ไม่มี, ออก) + วา (ธาตุ = ดับ, สงบ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ซ้อน วฺ ระหว่างอุปสรรคและธาตุ (นิ + ว + วา), แปลง วฺว (คือ ว ที่ซ้อนเข้ามาและ ว ที่เป็นธาตุ) เป็น พฺพ
: นิ + ว + วา = นิววา + ยุ > อน = นิววาน > นิพฺพาน แปลตามศัพท์ว่า “สภาวธรรมเป็นเหตุดับไปแห่งไฟราคะเป็นต้น”
(3) น (คำนิบาต = ไม่, ไม่มี) + วาน (ตัณหา, เครื่องร้อยรัด), แปลง อะ ที่ น เป็น อิ (น > นิ), แปลง ว ที่ วาน เป็น พ, ซ้อน พฺ ระหว่างนิบาตและบทหลัง
: น + วาน = นวาน > นิวาน > นิพาน : นิ + พฺ + พาน = นิพฺพาน แปลตามศัพท์ว่า “สภาวะธรรมเป็นที่ไม่มีตัณหา หรือสภาวธรรมที่เมื่อบุคคลได้บรรลุแล้วย่อมไม่มีตัณหา”
“นิพฺพาน” (นปุงสกลิงค์) มีความหมายดังนี้ –
(1) การดับของตะเกียงหรือไฟ (the going out of a lamp or fire)
(2) อนามัย, ความรู้สึกว่าร่างกายมีความผาสุกสวัสดี (health, the sense of bodily well-being)
(3) การดับไฟทางใจ 3 กอง คือ ราค, โทส และ โมห (The dying out in the heart of the threefold fire of rāga, dosa & moha: ความกำหนัด, ความโกรธ และความหลง lust, ill-will & stupidity)
(4) ความรู้สึกมีสุขภาพในด้านดี, ความมั่นคง, ความถูกปลดปล่อยเป็นอิสระ, ชัยชนะและความสงบ, ความพ้นจากอบายมุข, ความสุขสำราญ (the sense of spiritual well-being, of security, emancipation, victory and peace, salvation, bliss)
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
“นิพพาน : การดับกิเลสและกองทุกข์ เป็นโลกุตตรธรรม และเป็นจุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นิพพาน : (คำนาม) ความดับสนิทแห่งกิเลสและกองทุกข์. (คำกริยา) ดับกิเลสและกองทุกข์, ตาย (ใช้แก่พระอรหันต์). (ป.; ส. นิรฺวาณ), โบราณใช้ว่า นิรพาณ ก็มี. (จารึกสยาม).”
ปริ + นิพฺพาน = ปรินิพฺพาน แปลตามศัพท์ว่า “ดับรอบ” คือ ดับสนิท ดับหมดสิ้น
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลขยายความ “ปรินิพฺพาน” ไว้ดังนี้ –
(1) complete extinction of khandhalife; i. e. all possibility of such life & its rebirth, final release from [the misery of] rebirth and transmigration, death [after the last life-span of an Arahant] (การดับสนิทของชีวิตซึ่งกอปรด้วยขันธ์; คือการดับของชีวิตและของการกลับมาเกิดอีกในชาติใหม่, การพ้นจาก [ความทุกข์ของ] การเกิดใหม่, การเปลี่ยนแปลงและมรณะ [ภายหลังชีวิตสุดท้ายของพระอรหันต์]).
(2) release from cravings & attachment to life, emancipation (in this life) with the assurance of final death; freedom of spirit, calm, perfect well-being or peace of soul (ธรรมเป็นที่สร่างเมา, เป็นที่กำจัดความกระหาย, เป็นที่ถอนอาลัย, เป็นที่ตัดวัฏฏะ, เป็นที่สิ้นตัณหา, เป็นที่สำรอกตัณหา, เป็นที่ดับตัณหา, เป็นแดนออกไปแห่งเครื่องร้อยรัดคือตัณหา)
หมายเหตุ: คำแปลเป็นไทยจากพจนานุกรมบาลี-ไทย-อังกฤษ ฉบับภูมิพโลภิกขุ
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปรินิพพาน : (คำนาม) การดับรอบ, การดับสนิท, การดับโดยไม่เหลือ; เรียกอาการตายของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์. (ป.; ส. ปรินิรฺวาณ).”
ขยายความ “ปรินิพพาน” :
ในคัมภีร์กล่าวถึง “ปรินิพพาน” ของพระพุทธเจ้า ว่ามี 3 อย่าง คือ –
1 กิเลสปรินิพพาน (กิ-เล-สะ-) = การดับรอบแห่งกิเลส ได้มีแล้วที่โพธิบัลลังก์ในวันที่ตรัสรู้ คือดับกิเลสแต่ยังทรงพระชนม์อยู่
2 ขันธปรินิพพาน (ขัน-ธะ-) การดับรอบแห่งขันธ์ ได้มีแล้วที่เมืองกุสินารา คือที่เราเรียกว่า “เสด็จดับขันธปรินิพพาน” ภาษาธรรมดาที่เข้าใจกันคือ พระพุทธเจ้าสิ้นพระชนม์
3 ธาตุปรินิพพาน (ธา-ตุ-) การดับรอบแห่งพระธาตุ จักมีในอนาคต คือพระบรมสารีริกธาตุทั่วสกลจักรวาลจะไปรวมกัน ณ โพธิมณฑลที่ตรัสรู้ แล้วเกิดเตโชธาตุขึ้นทำลายสูญสิ้นไป เป็นอันว่าพระศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์นี้สิ้นสุดลง
…………..
ใกล้ถึงวันวิสาขบูชาซึ่งมักจะต้องเอ่ยคำว่า “ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน” ควบคู่กันไปด้วยเสมอ บาลีวันละคำขอเป็นแรงใจให้ท่านพูดคำเหล่านี้ได้ด้วยความมั่นใจยิ่งขึ้น
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ระลึกถึงพระพุทธคุณทุกวันเวลา
: วิสาขบูชาก็มีได้ทุกวัน
#บาลีวันละคำ (4,360)
20-5-67
…………………………….
…………………………….