บาลีวันละคำ

นานาจิตตัง (บาลีวันละคำ 196)

นานาจิตตัง

อ่านว่า นา-นา-จิด-ตัง

“นานาจิตตัง” บาลีเขียนว่า “นานาจิตฺต” (นา-นา-จิด-ตะ)

นานา + จิตฺต = นานาจิตฺต

“จิตฺต” แจกวิภัตติเป็น “จิตฺตํ” (จิด-ตัง) ภาษาไทยเอาเสียง จิด-ตัง ติดเข้ามาด้วย จึงเป็น “นานาจิตตัง”

“นานา” แปลตามรากศัพท์เดิมว่า “อย่างนั้นอย่างนี้” (so and so) = ต่างๆ นานา, ทุกชนิด, ต่างๆ กัน

คำว่า “นานา” ระวังอย่าเขียนผิดเป็น “นา ๆ” คำเดิมของบาลีเขียน “นา” 2 คำ เป็น “นานา” จึงใช้ไม้ยมกไม่ได้

“จิตฺต” แปลได้หลายความหมาย คือ

(1) เดือนห้า = “เดือนที่กำหนดด้วยดาวจิตรา”

(2) สีระบาย, จิตรกรรม

(3) “สิ่งที่คิด” “สิ่งที่รู้อารมณ์” “สิ่งที่สะสมการสืบต่อของตนไว้” “สิ่งที่เป็นเหตุให้ทำอะไรได้แปลกๆ” ความหมายนี้คือที่เราคุ้นกัน หมายถึงจิต, ใจ หรือความคิด

“นานาจิตฺตํ – นานาจิตตัง” มีความหมายว่า มีจิตใจแตกต่างกัน, มีความคิดไม่เหมือนกัน, ต่างจิตต่างใจ, ต่างคนก็ต่างความคิด เช่นคนหนึ่งถูกกับอากาศเย็น แต่อีกคนหนึ่งถูกกับอากาศร้อน

: มีความคิดไม่เหมือนกัน เป็นเรื่องธรรมดา

การเกณฑ์ให้คนอื่นต้องเป็นเหมือนที่เราคิด เป็นเรื่องผิดธรรมดา

บาลีวันละคำ (196)

20-11-55

นานาจิตฺต ค.

มีจิตใจแตกต่างกัน, มีความคิดไม่เหมือนกัน.

นานาจิตตัง

  ว. ต่างจิตต่างใจ, ต่างคนก็ต่างความคิดเช่นคนหนึ่งถูกกับอากาศเย็น แต่อีกคนหนึ่งถูกกับอากาศร้อน.

นานา (บาลี-อังกฤษ)

“อย่างนั้นอย่างนี้” คือ ต่างๆ นานา, ทุกชนิด, ต่างๆ กัน

จิต, จิต-

  [จิด, จิดตะ-] น. ใจ, สิ่งที่มีหน้าที่รู้ คิดและนึก, (โบ เขียนว่า จิตร), ลักษณนามว่า ดวง. (ป. จิตฺต).

จิตฺต (ศัพท์วิเคราะห์)

1. “เดือนที่กำหนดด้วยดาวจิตตา” คือดาวที่คู่กับดวงจันทร์เต็มดวง =  เดือนห้า

2. สีระบาย, ลวดลาย

3 .จิต, ใจ

– จินฺเตตีติ จิตฺตํ ธรรมชาตที่คิด (จินฺต ธาตุ ในความหมายว่าคิด ต ปัจจัย)

อารมฺมณํ จินฺเตติ วิชานาตีติ จิตฺตํ ธรรมชาตที่รู้อารมณ์ (จินฺต + ต)

– ชวนวีถิวเสน อตฺตโน สนฺตานํ จิโนตีติ จตฺตํ ธรรมชาตที่สะสมการสืบต่อของตนไว้ด้วยอำนาจชวนวิถี (จิ ธาตุ ในความหมายว่าสะสม ต ปัจจัย ซ้อน ต)

– จิตฺตํ กโรตีติ จิตฺตํ ธรรมชาตที่ทำให้วิจิตร (จิตฺต + ณ)

4. จิตรกรรม, ความวิจิตร

จิตฺเตน กรณโต จิตฺเตติ วิจิตฺเตติ วิจิตฺตํ กริยเตติ จิตฺตํ ศิลปะที่งามวิจิตรเพราะสร้างขึ้นด้วยจิต (จิตฺต ตุ ในความหมายว่างดงาม, วิจิตร อ ปัจจัย)

5. ความคิด จินฺตนํ จิตฺตํ ความคิด (จินฺต ธาตุ ในความหมายว่าคิด ต ปัจจัย)

จิตฺต (บาลี-อังกฤษ)

วิจิตร, มีลวดลายหลายหลาก, สวยงาม, อร่อย, หวาน

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย