บาลีวันละคำ

โทรทัศน์ (บาลีวันละคำ 197)

โทรทัศน์

คำบาลีสันสกฤตที่บัญญัติขึ้นใช้ในภาษาไทย จากภาษาอังกฤษว่า television

คำว่า “โทรทัศน์” ประกอบด้วย โทร + ทัศน์

“โทร” บาลีเป็น “ทูร” (ทู-ระ) แปลง อู ที่ ทู เป็น โอ = โท : ทูร = โทร (โท-ระ) แปลว่า ไกล, ห่าง, ที่ไกล (โปรดสังเกตว่า เสียงใกล้กับ tele- ในภาษาอังกฤษ)

“ทัศน์” บาลีเป็น “ทสฺสน” (ทัด-สะ-นะ) สันสกฤตเป็น “ทรฺศน” เราใช้กึ่งไปข้างสันสกฤต เป็น “ทัศน” แล้วการันต์ที่ น เป็น “ทัศน์” (ทัด) แปลว่า การดู, การมอง, การเห็น, การทราบ, การเข้าใจ, ความรู้ชัด, ตา, สิ่งที่มองเห็น, ความเห็น, ลัทธิ, ทฤษฎี; การแสดง

“โทรทัศน์” แปลตามศัพท์ว่า “–มองเห็นได้จากที่ไกล”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ดังนี้ –

โทรทัศน์ = กระบวนการถ่ายทอดเสียงและภาพได้พร้อมกันจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง โดยวิธีเปลี่ยนคลื่นเสียงและภาพให้เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกสู่อากาศ

: เห็นได้ใกล้หรือเห็นได้ไกล ก็ไม่สำคัญเท่ากับ-เห็นอะไร

เห็นอะไร ก็ยังไม่สำคัญเท่ากับ-เห็นไปทำไม

บาลีวันละคำ (197)

21-11-55

ทูร ค.,นป. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)

ไกล, ห่าง; ที่ไกล.

ทูร (บาลี-อังกฤษ)

ไกล, ห่าง, ห่างไกล

ตรงกันข้ามกับ อาสนฺน หรือ สนฺติก

โทร-

  [โทระ-] ว. คํานําหน้าศัพท์ แปลว่า ไกล.

ทสฺสน นป. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)

การดู, การมอง, การเห็น, การทราบ, การเข้าใจ, ความรู้ชัด, ความเข้าใจชัด, ญาณ, โสดาปัตติมรรค, ตา, สิ่งที่มองเห็น, ทัศนะ, ความเห็น, ลัทธิ, ทฤษฎี; การแสดง

ทสฺสน (บาลี-อังกฤษ)

การเห็น, การมองดู, การสังเกต, สิ่งที่ปรากฏ, รูปร่าง, การหยั่งรู้ความจริง, ทฤษฎี

ทัศน-, ทัศน์, ทัศนะ, ทัศนา

  [ทัดสะนะ-, ทัด, ทัดสะ-] น. ความเห็น, การเห็น, เครื่องรู้เห็น, สิ่งที่เห็น, การแสดง, ทรรศนะ ก็ใช้. (ป. ทสฺสน; ส. ทรฺศน).

โทรทัศน์

  น. กระบวนการถ่ายทอดเสียงและภาพได้พร้อมกันจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง โดยวิธีเปลี่ยนคลื่นเสียงและภาพให้เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกสู่อากาศ, เรียกเครื่องที่มีหน้าที่ดังกล่าวว่า เครื่องส่งโทรทัศน์ และเรียกเครื่องที่มีหน้าที่เปลี่ยนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ได้รับจากเครื่องส่งโทรทัศน์ให้กลับเป็นคลื่นเสียงและภาพตามเดิมว่า เครื่องรับโทรทัศน์. (อ. television).

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย