อุคคหิตก์ (บาลีวันละคำ 3,265)
อุคคหิตก์
ทำความรู้จักไว้สักนิดก็น่าจะดี
อ่านว่า อุก-คะ-หิด
“อุคคหิตก์” เขียนแบบบาลีเป็น “อุคฺคหิตก” อ่านว่า อุก-คะ-หิ-ตะ-กะ รากศัพท์มาจาก อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น, นอก) + คหฺ (ธาตุ = ยึด, ถือ, รับ, จับ) + ต ปัจจัย, ซ้อน คฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อุ + คฺ + คหฺ), ลง อิ อาคมหลังธาตุหน้าปัจจัย (คหฺ + อิ + ต), ลง ก สกรรถ (กะ-สะ-กัด)
: อุ + คฺ + คหฺ = อุคฺคหฺ + อิ + ต = อุคฺคหิต + ก = อุคฺคหิตก (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “-ที่รับไว้แล้ว” หมายถึง จับขึ้นมา, รับเอา, ได้มา, เอาใจใส่ (taken up, taken, acquired)
“อุคฺคหิตก” เขียนแบบไทย ใส่การันต์ที่ ก เป็น “อุคคหิตก์” อ่านว่า อุก-คะ-หิด
“อุคคหิตก์” เป็นคำที่ตัดมาจากคำเต็มว่า “อุคฺคหิตปฏิคฺคหิตก” (อุก-คะ-หิ-ตะ-ปะ-ติก-คะ-หิ-ตะ-กะ) แปลว่า “ของที่จับต้องแล้วรับประเคนใหม่” เป็น 1 ในข้อห้ามทางพระวินัยเกี่ยวกับการขบฉันของภิกษุ
ขยายความ :
ในคัมภีร์พระวินัย มีพุทธบัญญัติแสดงไว้ว่า –
…………..
น ภิกฺขเว อนฺโตวุตฺถํ อนฺโตปกฺกํ สามํปกฺกํ อุคฺคหิตปฏิคฺคหิตกํ ปริภุญฺชิตพฺพํ โย ปริภุญฺเชยฺย อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺส.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันอาหารที่เก็บไว้ภายในที่อยู่ อาหารที่หุงต้มภายในที่อยู่ อาหารที่หุงต้มเอง อาหารที่จับต้องแล้วรับประเคนใหม่ รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ.
ที่มา: พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 5 ข้อ 81
…………..
อาหารที่ภิกษุฉันต้องมีผู้หยิบยื่นส่งให้ที่เรียกว่า “ประเคน” ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ทั้งนี้เพื่อแสดงถึงความบริสุทธิ์ว่าไม่ได้หยิบฉวยเอาของผู้อื่นมาฉันโดยพลการ (ชาวบ้านเอาอาหารใส่บาตร ถือว่าเป็นการประเคนแบบหนึ่ง)
อาหารที่รับประเคนแล้ว จะฉันหรือยังไม่ได้ฉันก็ตาม เมื่อพ้นวันนั้นไปแล้ว หากมีผู้นำมาประเคนใหม่ ห้ามรับประเคน เพราะเป็นอาหารที่เรียกว่า “อุคฺคหิตปฏิคฺคหิตกํ” หรือ “อุคคหิตก์” ห้ามฉัน ทั้งนี้เพื่อตัดทางสะสมอาหาร ตัดความกังวลเกี่ยวด้วยการระวังรักษา เป็นการหาเลี้ยงชีพแบบวันต่อวันอย่างโปร่งโล่งเบาสบาย
หมายเหตุ:
บาลีวันละคำแสดงความหมายของศัพท์ให้เข้าใจเป็นพื้นฐานเท่านั้น
อย่างไร แค่ไหน จึงเรียกว่า “อุคคหิตก์” = อาหารที่จับต้องแล้วรับประเคนใหม่ และรายละเอียดอื่นๆ พึงศึกษาตามหลักพระธรรมวินัยต่อไป
ดูประกอบ:
“สามปักกะ” บาลีวันละคำ (2,474) 22-3-62
“อันโตวุตถะ” บาลีวันละคำ (2,475) 23-3-62
“อันโตปักกะ” บาลีวันละคำ (2,476) 24-3-62
…………..
ดูก่อนภราดา!
: จงยอมเสียเวลาศึกษาระเบียบเรื่องกินให้มากที่สุด
: แต่จงเสียเวลากับการกินให้น้อยที่สุด
21-5-64