บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความชุด :

ถ้าจะรักษาพระศาสนา

จงรักษาวิถีชีวิตสงฆ์

-๑๒-

คุณสมบัติของผู้รักษาพระศาสนา

——————————–

ได้อธิบายมาแล้วว่าวิถีชีวิตสงฆ์คืออะไร คนสมัยปัจจุบันมองวิถีชีวิตสงฆ์อย่างไร การรักษาวิถีชีวิตสงฆ์มีอุปสรรคข้อขัดข้องอย่างไร

บัดนี้ก็มาถึงตอนสำคัญ คือถ้าเห็นว่าวิถีชีวิตสงฆ์เป็นที่ปรากฏตัวแห่งพระศาสนาและเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่ง ควรแก่การที่จะต้องช่วยกันรักษาไว้ให้สืบต่อมั่นคงยั่งยืน ผู้จะทำหน้าที่รักษาและสนับสนุนวิถีชีวิตสงฆ์จำต้องเตรียมตัวฝึกฝนตนเองให้มีคุณสมบัติพร้อมที่จะทำหน้าที่เช่นนั้นได้เป็นอย่างดี

คุณสมบัติของผู้รักษาพระศาสนาควรเป็นเช่นไร?

เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้แล้ว พญาวสวัตดีมารได้เข้าไปกราบทูลว่า บัดนี้พระองค์ก็ได้ตรัสรู้สมความปรารถนาแล้ว ไม่มีกิจที่จะต้องทำอีกต่อไปแล้ว ขอให้ปรินิพพานเสียเถิด

พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า พระองค์ขอเวลาประกาศธรรมที่ได้ตรัสรู้นี้สักระยะหนึ่งก่อน เมื่อพุทธบริษัทมีความรู้ความสามารถที่จะรักษาพระศาสนาสืบต่อไปได้แล้วพระองค์ก็จะปรินิพพาน

พระพุทธองค์เสด็จประกาศพระศาสนาอยู่ ๔๕ พรรษา จนมีพุทธบริษัทแพร่หลายพรั่งพร้อมแล้ว พญาวสวัตดีมารก็ได้เข้าไปกราบทูลทวงสัญญา

ตามคำของมารที่กราบทูล เป็นอันพระพุทธองค์ทรงยอมรับว่า บัดนี้พุทธบริษัทมีความสามารถที่จะรักษาพระธรรมวินัยสืบอายุพระพุทธศาสนาต่อไปได้แล้ว ก็จึงตกลงพระทัยที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน 

คำของมารที่กราบทูลเฉพาะความตอนที่แสดงคุณสมบัติของพุทธบริษัทมีว่าดังนี้ –

……………………..

เอตรหิ  โข  ปน  ภนฺเต  ภิกฺขู  ภควโต  สาวกา 

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็บัดนี้ ภิกษุ (ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา) ผู้เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า 

วิยตฺตา เป็นผู้ฉลาด 

วินีตา ได้รับแนะนำดีแล้ว 

วิสารทา เป็นผู้แกล้วกล้า 

พหุสฺสุตา เป็นพหูสูต 

ธมฺมธรา เป็นผู้ทรงธรรม 

ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺนา ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม 

สามีจิปฏิปนฺนา เป็นผู้ปฏิบัติชอบ 

อนุธมฺมจาริโน ประพฤติตามธรรม 

สกํ  อาจริยกํ  อุคฺคเหตฺวา เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว 

อาจิกฺขนฺติ  เทเสนฺติ  ปญฺญเปนฺติ  ปฏฺฐเปนฺติ  วิวรนฺติ  วิภชนฺติ  อุตฺตานีกโรนฺติ 

ย่อมบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ตื้นได้

อุปฺปนฺนํ  ปรปฺปวาทํ  สหธมฺเมน  สุนิคฺคหิตํ  นิคฺคเหตฺวา  สปฺปาฏิหาริยํ  ธมฺมํ  เทเสนฺติ 

แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ข่มขี่ปรัปวาทที่เกิดขึ้นได้โดยสหธรรมเรียบร้อย

ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค

พระไตรปิฎกเล่ม ๑๐ ข้อ ๙๕

……………………..

นี่คือคุณสมบัติของพุทธบริษัทที่พระพุทธองค์ทรงรับรองว่าจะสามารถรักษาสืบทอดพระพุทธศาสนาเอาไว้ได้

………………..

ขออนุญาตถอดความออกมาเป็นคุณสมบัติของผู้รักษาพระศาสนาหรือหน้าที่ของผู้ดำรงวิถีชีวิตสงฆ์และผู้สนับสนุนให้วิถีชีวิตสงฆ์ดำรงยั่งยืนมั่นคงสืบไป เป็นดังนี้ –

๏ ศึกษาเล่าเรียน 

๏ พากเพียรปฏิบัติ 

๏ เคร่งครัดบำรุง 

๏ มุ่งหน้าเผยแผ่ 

๏ แก้ไขให้หมดจด

………………..

ขออนุญาตขยายความสั้นๆ

๏ ศึกษาเล่าเรียน 

ค้นคว้าอ่านเขียนเรียนพระธรรมวินัยสม่ำเสมอ อันไหนเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า อันไหนไม่ใช่ อย่าคิดเป็นอันขาดว่ารู้แล้ว อันไหนใช่ จงเร่งปฏิบัติ อันไหนไม่ใช่ อย่าไปสนับสนุน

๏ พากเพียรปฏิบัติ 

อย่าเรียนเพื่อรู้อย่างเดียว ลงมือปฏิบัติด้วย 

คุณธรรมใดๆ ที่ยังไม่มีในตน ขวนขวายบำเพ็ญให้เกิดมี ที่มีแล้วทำให้มีมากยิ่งๆ ขึ้นไป

๏ เคร่งครัดบำรุง 

จะดีจะชั่วอย่างไร อย่าทิ้งวัด อย่าทิ้งพระ อย่าเอาความบกพร่องของท่านมาทำให้เราบกพร่องต่อหน้าที่ของเราไปอีกคนหนึ่ง 

ถ้าพวกเราไม่ดูแลกันเอง แล้วจะหวังให้ใครเขาเห็นใจ 

อุปถัมภ์บำรุงท่านหรืออยู่ข้างท่าน ไม่ได้หมายถึงเห็นด้วยกับความบกพร่องของท่าน แต่หมายถึงหาช่องทางที่จะช่วยเหลือแก้ไขให้ถูกต้อง อุปมาเหมือนคนป่วย ไม่ใช่ปล่อยให้ตาย แต่หาทางช่วยรักษาให้หาย

คนเก่าท่านสอนว่า ถ้าไม่ศรัทธาที่จะไหว้พระ ก็ขอให้มีศรัทธาที่จะไหว้ผ้าเหลืองอันเป็นธงชัยของพระอรหันต์

๏ มุ่งหน้าเผยแผ่ 

ช่วยกันประกาศพระธรรมวินัยที่ถูกต้องทุกโอกาสทุกช่องทางที่สามารถทำได้ 

แนะนำสั่งสอนคนในครอบครัว 

ขยายไปถึงญาติมิตรในวงกว้างออกไป 

นั่นหมายถึงว่าต้องหาความรู้ไว้ให้พอด้วย ซึ่งก็คือ-ศึกษาเล่าเรียน-ที่เริ่มมาตั้งแต่ต้น

๏ แก้ไขให้หมดจด

ใครสอนผิด พูดผิด และประพฤติผิดต่อพระรัตนตรัย อย่าปล่อยให้ผ่านไปโดยคิดว่าไม่ใช่ธุระที่จะไปทักท้วงชี้แจง ตรงกันข้าม ต้องถือว่าเป็นธุระโดยตรงที่จะต้องช่วยกันแก้ไข แต่ต้องทำด้วยวิธีละมุนละไมมีเมตตาธรรมเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ไปทะเลาะกัน

………………..

ภารกิจเหล่านี้ ชาวพุทธจะอ้างไม่ได้อีกแล้วว่า ไม่ใช่หน้าที่ของข้าพเจ้า

จะทำได้กี่ข้อ ทำได้มากได้น้อย ไม่เป็นประมาณ

แต่ต้องทำ ต้องพยายามทำ และต้องทำเดี๋ยวนี้ 

ชาวพุทธที่ไม่ทำภารกิจเหล่านี้ ต้องอธิบายได้ว่าทำไม แต่ไม่เป็นไร ไม่ทำไม่ช่วยทำก็ไม่ว่า ขอเพียงอย่าขวางทางคนทำ การอยู่เฉยๆ ในแง่หนึ่งก็มองได้ว่าเป็นการช่วยได้เหมือนกัน คือช่วยโดยการไม่สร้างปัญหาเพิ่มขึ้น 

คุณสมบัติหรือหน้าที่ดังที่สรุปมานั้น น่าจะเหมาะกับนิสัยของคนไทยที่ไม่ถนัดการทำงานเป็นทีม ทั้งนี้เพราะเป็นเรื่องที่แต่ละคนสามารถปฏิบัติได้ตามลำพัง ไม่จำเป็นต้องรอใคร ไม่จำเป็นต้องร่วมทีมกับใครถ้าไม่ถนัด แต่ใครถนัดที่จะทำเป็นทีมได้ก็ยิ่งดี

ผมเชื่อว่า ถ้าเราทำหน้าที่ของชาวพุทธตามหลักการดังกล่าวนี้เรื่อยไป ไม่หยุด ไม่เลิก กว่าพระศาสนาจะพินาศ อย่างน้อยเราก็คงทำที่พึ่งอันเกษมให้แก่ตัวเองได้บ้างตามสัตติกำลังของแต่ละคน

เมื่อทำเต็มความสามารถแล้ว ถ้าไม่อาจจะรักษาพระศาสนาไว้ได้ ก็ไม่ต้องเสียใจอะไรเลย แต่มีสิทธิ์ที่จะภาคภูมิใจว่า เราได้ทำหน้าที่ของเราสมบูรณ์แล้ว

และคำที่เรานิยมพูดกันเสมอๆ ก็จะไม่ใช่เพียงคำที่พูดกันเพราะๆ หากแต่มีความหมายจริงๆ นั่นคือ –

ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์

พบพระพุทธศาสนา

ได้ศรัทธาเลื่อมใส

แม้ตายไปสุคติก็เป็นที่หวัง

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔

๑๖:๑๖

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *