บาลีวันละคำ

วินัยธร (บาลีวันละคำ 2,629)

วินัยธร

อ่านว่า วิ-ไน-ทอน

ประกอบด้วยคำว่า วินัย + ธร

(๑) “วินัย

บาลีเป็น “วินย” (วิ-นะ-ยะ) รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + นี (ธาตุ = นำไป) + ปัจจัย แผลง อี (ที่ นี) เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย

: วิ + นี = วินี > (อี เป็น เอ = ) วิเน > (เอ เป็น อย = ) วินย + = วินย แปลตามศัพท์ว่า “อุบายเป็นเครื่องนำไป” หรือ “การนำไปอย่างวิเศษ” ความหมายที่เข้าใจกันคือ กฎ, ระเบียบแบบแผน, ข้อบังคับ, ข้อปฏิบัติ

วินย” ในบาลีใช้ในความหมายหลายอย่าง คือ :

(1) การขับออก, การเลิก, การทำลาย, การกำจัดออก (driving out, abolishing, destruction, removal)

(2) กฎ, วิธีพูดหรือตัดสิน, ความหมาย, วาทวิทยา (วิชาการใช้ถ้อยคำ) (rule, way of saying or judging, sense, terminology)

(3) วินัย, จรรยา, ศีลธรรม, ความประพฤติที่ดี (norm of conduct, ethics, morality, good behavior)

(4) ประมวลจรรยา, วินัยสงฆ์, กฎ, จรรยาบรรณหรือพระวินัย (code of ethics, monastic discipline, rule, rules of morality or of canon law)

วินย” ภาษาไทยใช้ว่า “วินัย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วินย-, วินัย : (คำนาม) ระเบียบแบบแผนและข้อบังคับ, ข้อปฏิบัติ, เช่น วินัยทหาร ทหารต้องยึดมั่นในวินัย; สิกขาบทของพระสงฆ์. (ป., ส.).”

(๒) “ธร

บาลีอ่านว่า ทะ-ระ รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + ปัจจัย

: ธรฺ + = ธร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทรงไว้” หมายถึง รองรับ, สวม, เก็บ; จำไว้ในใจ, ท่องจำ (bearing, wearing, keeping; holding in mind, knowing by heart)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ธร : (คำนาม) การยึดไว้, การถือไว้, การทรงไว้, การมีไว้; ผู้รักษาไว้, ผู้ทรงไว้, มักใช้เป็นส่วนท้ายของสมาส เช่น วิชาธร วินัยธร. (ป.; ส.).”

วินย + ธร = วินยธร (วิ-นะ-ยะ-ทะ-ระ) แปลว่า “ผู้ทรงไว้ซึ่งวินัย” หมายถึงผู้รู้ผู้ชำนาญหลักพระวินัย

วินยธร” ภาษาไทยใช้เป็น “วินัยธร” (วิ-ไน-ทอน) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วินัยธร : (คำนาม) ภิกษุผู้ชํานาญวินัย. (ป.).”

ขยายความ :

วินัยธร” เป็นคำเรียกภิกษุผู้ทรงความรู้ทางพระวินัย และได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับพระวินัย เป็นตำแหน่งที่มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล คู่กับ “ธรรมธร” หรือ “ธรรมกถึก” คือภิกษุผู้ทรงความรู้ทางธรรม

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความไว้ดังนี้ –

วินัยธร : “ผู้ทรงวินัย”, ภิกษุผู้ชำนาญวินัย; พระอุบาลีเถระ ได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเอตทัคคะในบรรดาพระวินัยธร.”

…………..

ดูก่อนภราดา!

เรียนวินัย: ดี

รู้วินัย: ดีมาก

มีวินัย: ดีที่สุด

ละเมิดวินัย: เลวที่สุด

#บาลีวันละคำ (2,629)

24-8-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย