รอบรู้กับธรรมธารา

ปริตรจากพจนานุกรมพุทธศาสน์

ปริตร

จาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต

ปริตร 

1. [ปะ-ริด] น้อย, เล็กน้อย, นิดหน่อย, ต่ำต้อย, ด้อย, คับแคบ, ไม่สำคัญ (ตรงข้ามกับ มหา หรือ มหันต์) 2. [ปะ-ริด] สภาวะที่ด้อย หรือคับแคบ หมายถึงธรรมที่เป็นกามาวจร, พึงทราบว่า ธรรมทั้งปวง หรือสิ่งทั้งหลายประดามีนั้น นัยหนึ่งประมวลจัดแยกได้เป็น ๓ ประเภท ได้แก่ ปริตตะ (ธรรมที่ด้อยหรือคับแคบ คือเป็นกามาวจร) มหัคคตะ หรือมหรคต (ธรรมที่ถึงความยิ่งใหญ่ คือเป็นรูปาวจร หรืออรูปาวจร) และ อัปปมาณะ (ธรรมที่ประมาณมิได้ คือเป็นโลกุตตระ); ดู กามาวจร 3. [ปะ-หริด] “เครื่องคุ้มครองป้องกัน”, บทสวดที่นับถือเป็นพระพุทธมนต์ คือบาลีภาษิตดั้งเดิมในพระไตรปิฎก ซึ่งได้ยกมาจัดไว้เป็นพวกหนึ่งในฐานะเป็นคำขลัง หรือคำศักดิ์สิทธิ์ ที่มีอานุภาพคุ้มครองป้องกันช่วยให้พ้นจากภยันตราย และเป็นสิริมงคลทำให้เกษมสวัสดีมีความสุขความเจริญ (ในยุคหลังมีการเรียบเรียงปริตรเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากบาลีภาษิตในพระไตรปิฎกบ้าง พึงทราบตามคำอธิบายต่อไป และพึงแยกว่า บทสวดที่มักสวดเพิ่มหรือพ่วงกับพระปริตรในพิธีหรือในโอกาสเดียวกัน มีอีกมาก มิใช่มาจากพระไตรปิฎก แต่เป็นของนิพนธ์ขึ้นภายหลัง ไม่ใช่พระปริตร แต่เป็นบทสวดประกอบ โดยสวดนำบ้าง สวดต่อท้ายบ้าง) 

กล่าวได้ว่า การสวดพระปริตรเป็นการปฏิบัติสืบเนื่องจากความนิยมในสังคมซึ่งมีการสวดสาธยายร่ายมนต์ (มันตสัชฌายน์, มันตปริชัปปน์) ที่แพร่หลายเป็นหลักสำคัญอย่างหนึ่งในศาสนาพราหมณ์ แต่ได้ปรับแก้จัดและจำกัดทั้งความหมาย เนื้อหา และการปฏิบัติ ให้เข้ากับคติแห่งพระพุทธศาสนา อย่างน้อยเพื่อช่วยให้ชนจำนวนมากที่เคยยึดถือมาตามคติพราหมณ์และยังไม่เข้มแข็งมั่นคงในพุทธคติ หรืออยู่ในบรรยากาศของคติพราหมณ์นั้น และยังอาจหวั่นไหว ให้มีเครื่องมั่นใจและให้มีหลักเชื่อมต่อที่จะช่วยพาพัฒนาก้าวต่อไป, ทั้งนี้ ในฝ่ายภิกษุ มีพุทธบัญญัติ (วินย.๗/๑๘๓-๔/๗๑) ห้ามมิให้เรียนมิให้บอกติรัจฉานวิชา หากฝ่าฝืน ต้องอาบัติทุกกฏ โดยมิได้แสดงข้อยกเว้นไว้ ส่วนในฝ่ายภิกษุณี (วินย.๓/๓๒๒-๗/๑๗๖–๑๗๘) มีพุทธบัญญัติห้ามมิให้เรียนมิให้บอกติรัจฉานวิชา หากฝ่าฝืน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ แต่มีข้อยกเว้นว่า เรียนหรือบอกปริตรเพื่อคุ้มครอง (แก่ตนเองหรือแก่ผู้อื่นก็ตาม) ไม่ต้องอาบัติ, มีคำอธิบายว่า ติรัจฉานวิชา คือวิชาทำร้ายคนอื่น รวมทั้งมนต์อาถรรพ์ (อาถรรพณมนต์ ตามคัมภีร์อถรรพเวทของพราหมณ์) เช่น มนต์ในการฝังรูปฝังรอย มนต์สะกดคนให้อยู่ใต้อำนาจ มนต์แผดเผาสรีรธาตุให้เขาผอมแห้ง มนต์ชักลากเอาทรัพย์ของคนอื่นมา มนต์ทำให้มิตรผิดใจแตกกัน ฯลฯ มนต์เหล่านี้ภิกษุณีจะเรียนหรือสอนไม่ได้ เป็นการผิดพุทธบัญญัติ แต่เรียนหรือสอนปริตรเพื่อคุ้มครองตนเองหรือผู้อื่นก็ตาม ไม่ผิด, นอกจากนั้น หลายครั้ง พระพุทธเจ้าทรงแนะนำพระสาวก ให้เจริญเมตตาต่อสัตว์ทั้งหลาย เช่นต่องูบ้าง ให้ทำสัจกิริยาคืออ้างสัจจะอ้างคุณธรรมบ้าง ให้ระลึกถึงคุณและเคารพนบน้อมพระรัตนตรัยบ้าง เป็นกำลังที่คุ้มครองรักษา แล้วพระดำรัสนั้นก็ได้รับความนับถือจัดเป็นปริตรชื่อต่างๆ, ที่กล่าวนี้ พอให้เห็นความเป็นมาของพระปริตร 

ต่อไปนี้ จะสรุปข้อควรทราบเกี่ยวกับพระปริตรไว้เป็นความรู้ประกอบ

๑) โดยชื่อ: เรียกว่า “ปริตร” ตามความหมายที่เป็นเครื่องคุ้มครองป้องกันอันชอบธรรม ซึ่งต่างจากมนต์ ที่ได้มีความหมายโน้มไปในทางเป็นอาถรรพณมนต์ตามลัทธิของพราหมณ์ อย่างที่เรียกในบัดนี้ว่าเป็นไสยศาสตร์ ซึ่งมักใช้ทำร้ายผู้อื่น และสนองความโลภ เป็นต้น 

๒) โดยเนื้อหา: ปริตรเป็นเรื่องของคุณธรรมทั้งในเนื้อหาและการปฏิบัติ คุณธรรมที่เป็นพื้นทั่วไปคือเมตตา บางปริตรเป็นคำแผ่เมตตาทั้งบท (เช่น กรณียเมตตปริตร และขันธปริตร) แม้แต่เมื่อจะเริ่มสวดพระปริตร ก็มีคำประพันธ์ที่แต่งขึ้นมาให้สวดสำหรับชุมนุมเทวดาก่อน ซึ่งบอกให้ผู้สวดตั้งจิตแผ่เมตตาแต่ต้น อย่างที่เรียกว่ามีเมตตาเป็นปุเรจาริก (และคำที่เชิญเทวดามาฟัง ก็บอกว่าเชิญมาฟังธรรม) คุณธรรมสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เป็นแกนของปริตรคือสัจจะ บางปริตรเป็นคำตั้งสัจกิริยาทั้งบท (เช่น อังคุลิมาลปริตร และวัฏฏกปริตร) บางปริตรเป็นคำระลึกคุณพระรัตนตรัย (รตนปริตร โมรปริตร ธชัคคปริตร อาฏานาฏิยปริตร) บางปริตรเป็นคำสอนหลักธรรมที่จะปฏิบัติให้ชีวิตสังคมเจริญงอกงามและหลักธรรมที่เจริญจิตเจริญปัญญา (มงคลสูตร โพชฌังคปริตร, โพชฌังคปริตรนั้นท่านนำสาระจากพระสูตรเดิมมาเรียบเรียงและเติมคำอ้างสัจจะต่อท้ายทุกท่อน) 

๓) โดยหลักการ: ปริตรเป็นไปตามหลักพระพุทธศาสนาที่ถือธรรมเป็นใหญ่สูงสุด ไม่มีการร้องขอหรืออ้างอำนาจของเทพเจ้า (เทพทั้งหลายแม้แต่ที่นับถือว่าสูงสุด ก็ยังทำร้ายกัน ไม่บริสุทธิ์แท้ และไม่เป็นมาตรฐานที่แน่นอน ต้องขึ้นต่อธรรม มีธรรมเป็นตัวตัดสินในที่สุด เช่นว่า ก่อนโน้น พราหมณ์ถือว่าพระพรหมเป็นใหญ่ สร้างทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ต่อมาลัทธินับถือพระศิวะเล่าว่า เดิมทีพระพรหมมี ๕ พักตร์ กระทั่งคราวหนึ่งถูกพระศิวะกริ้วและทำลายพักตร์ที่ห้าเสีย จึงเหลือสี่พักตร์) ปริตรไม่อิงและไม่เอื้อต่อกิเลสโลภะ โทสะ โมหะเลย เน้นแต่ธรรม เฉพาะอย่างยิ่งเมตตาและสัจจะอย่างที่กล่าวแล้ว และอ้างพุทธคุณหรือคุณพระรัตนตรัยทั้งหมดเป็นอำนาจคุ้มครองรักษาอำนวยความเกษมสวัสดี ในหลายปริตรมีคำแทรกเสริม บอกให้เทวดามีเมตตาต่อหมู่มนุษย์ ทั้งเตือนเทวดาว่ามนุษย์ได้พากันบวงสรวงบูชา จึงขอให้ทำหน้าที่ดูแลรักษาเขาด้วยดี 

๔) โดยประโยชน์: ความหมายและการใช้ประโยชน์จากปริตร ต่างกันไปตามระดับการพัฒนาของบุคคล ตั้งแต่ชาวบ้านทั่วไป ที่มุ่งให้เป็นกำลังอำนาจปกปักรักษาคุ้มครองป้องกัน จนถึงพระอรหันต์ซึ่งใช้เจริญธรรมปีติ แต่ที่ยืนเป็นหลักคือ ช่วยให้จิตของผู้สวดและผู้ฟังเจริญกุศล เช่น ศรัทธาปสาทะ ปีติปราโมทย์และความสุข ตลอดจนตั้งมั่นเป็นสมาธิ รวมทั้งเตรียมจิตให้พร้อมที่จะก้าวสู่ภูมิธรรมที่สูงขึ้นไป คือเป็นกุศลภาวนา เป็นจิตตภาวนา 

๕) โดยที่มา: แหล่งที่มาของพระปริตรได้แก่คำแนะนำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า กล่าวคือ พระสูตร พุทธานุญาต ชาดก เรื่องไหนตอนใดมีเนื้อความซึ่งได้ความหมายตรงตามที่ต้องการ ก็นำมาสวดและนิยมสืบกันมา เช่น มหาโจรองคุลิมาลเมื่อกลับใจมาบวชแล้ว วันหนึ่งไปบิณฑบาต พบสตรีครรภ์แก่คลอดยากมีอาการทุลักทุเลลำบาก ท่านสงสาร กลับจากบิณฑบาตแล้วก็มาเฝ้าทูลความแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์จึงทรงแนะนำให้ท่านเข้าไปหาสตรีนั้นและกล่าวคำเป็นสัจกิริยาว่า “ดูกรน้องหญิง ตั้งแต่อาตมาได้เกิดแล้วในอริยชาติ มิได้รู้สึกเลยว่าจะจงใจปลงสัตว์เสียจากชีวิต ด้วยสัจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน ขอความสวัสดีจงมีแก่ครรภ์ของท่านเถิด” พระองคุลิมาลได้ปฏิบัติตาม สตรีนั้นก็คลอดบุตรได้ง่ายโดยสวัสดี (ม.ม.๑๓/๕๓๑/๔๘๕) คำบาลีที่กล่าวสัจกิริยานี้ก็เป็นที่นิยมนำมาใช้ โดยมีชื่อว่าอังคุลิมาลปริตร ถือว่าเป็นมหาปริตรทีเดียว, บางทีมีเหตุร้ายเกิดขึ้น เช่น คราวหนึ่งมีภิกษุถูกงูกัดถึงมรณภาพ เมื่อทรงทราบ ได้ตรัสอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายแผ่เมตตาจิตไปยังพญางูสี่ตระกูล (วิรูปักข์ เอราบถ ฉัพยาบุตร กัณหาโคตมกะ) เพื่อคุ้มครองรักษาและป้องกันตัว และได้ตรัสคาถาแผ่เมตตาแก่ตระกูลพญางูทั้งสี่นั้น ตลอดจนแก่สรรพสัตว์ ลงท้ายด้วยคุณพระรัตนตรัย และนมัสการพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ (วินย.๗/๒๖/๑๑; องฺ.จตุกฺก.๒๑/๖๗/๙๔) เป็นที่มาของขันธปริตร (คาถาที่เป็นปริตรนี้มาในขันธปริตตชาดกด้วย, ขุ.ชา.๒๗/๒๕๕/๗๔), หรืออย่างพระพุทธเจ้าตรัสสอนธรรมโดยทรงเล่าเรื่องชาดกเป็นตัวอย่าง แล้วชาดกบางเรื่องที่มีถ้อยคำซึ่งได้ช่วยให้บุคคลหรือสัตว์ในเรื่องรอดพ้นอันตราย ก็มาเป็นปริตร ดังเช่น “คาถานกคุ่ม” ที่ลูกนกคุ่มกล่าวเป็นสัจกิริยา ทำให้ไฟป่าไม่ลุกลามเข้ามาไหม้รัง (ขุ.ชา.๒๗/๓๕/๑๒ มีคาถาแต่ไม่ครบ, มาครบใน ขุ.จริยา.๓๓/๒๓๗/๕๘๘) ก็มาเป็นวัฏฏกปริตร, หรืออย่างมงคลสูตร (ขุ.ขุ.๒๕/๕/๓; ขุ.สุ.๒๕/๓๑๗/๓๗๖) ที่ว่าพระพุทธเจ้า เมื่อเหล่าเทวดาทูลขอให้ตรัสแสดงยอดมงคล แทนที่จะตรัสถึงสิ่งที่พบเห็นได้ยินดีร้ายว่าเป็นมงคลหรือไม่เป็นมงคลอย่างที่คนยึดถือกัน กลับทรงสอนหลักความประพฤติปฏิบัติในชีวิตและสังคม เช่น การไม่คบคนพาล การคบบัณฑิต การยกย่องเชิดชูคนที่ควรยกย่องเชิดชู ฯลฯ จนถึงความมีจิตใจเกษมศานต์เป็นอิสระไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรม ว่าเป็นอุดมมงคล มงคลสูตรนี้ก็เป็นที่นิยมนับถือ นำมารวมไว้ในชุดพระปริตรเต็มทั้งพระสูตร 

พระปริตรที่ชื่อว่า อาฏานาฏิยปริตร จากอาฏานาฏิยสูตร (ที.ปา.๑๑/๒๐๗/๒๐๘) นับว่ามีกำเนิดแปลกออกไป คือ มิใช่เป็นพุทธดำรัสที่ตรัสเอง แต่มีเรื่องในพระสูตรนั้นว่า ณ ยามดึก ราตรีหนึ่ง ท้าวมหาราชสี่ (จาตุมหาราช หรือจตุโลกบาล) พร้อมด้วยบริวารจำนวนมาก ได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้า ที่เขาคิชฌกูฏ เมืองราชคฤห์ ครั้นแล้ว ท้าวเวสสวัณ ผู้ครองทิศอุดร (ไทยมักเรียก เวสสุวัณ, มีอีกชื่อหนึ่งว่า กุเวร) ได้กราบทูล (ในนามของผู้มาเฝ้าทั้งหมด) ว่า พวกยักษ์ที่ไม่เลื่อมใสพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็มี ที่เลื่อมใส ก็มี ส่วนมากที่ไม่เลื่อมใสเพราะตนเองทำปาณาติบาต เป็นต้น จนถึงดื่มสุราเมรัย เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนให้งดเว้นกรรมชั่วเหล่านั้น จึงไม่ชอบใจ ท้าวมหาราชทรงห่วงใยว่า มีพระสาวกที่ไปอยู่ในป่าดงเงียบเปลี่ยวห่างไกลอันน่ากลัว จึงขอถวายคาถา “อาฏานาฏิยา รกฺขา” (อาฏานาฏิยรักขา เรียกง่ายๆ ว่า อาฏานาฏิยารักข์ โดยเรียกตามชื่อเทพนครอาฏานาฏา ที่ท้าวมหาราชประชุมกันประพันธ์อาฏานาฏิยรักขานี้ขึ้น) โดยขอให้ทรงรับไว้ เพื่อทำให้ยักษ์พวกนั้นเลื่อมใส เป็นเครื่องคุ้มครองรักษาภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ให้อยู่ผาสุกปลอดจากการถูกเบียดเบียน แล้วท้าวเวสสวัณก็กล่าวคำอารักขานั้น เริ่มต้นด้วยคำนมัสการพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ มีพระวิปัสสี เป็นต้น ต่อด้วยเรื่องของท้าวมหาราชสี่รายพระองค์ที่พร้อมด้วยโอรสและเหล่าอมนุษย์พากันน้อมวันทาพระพุทธเจ้า, เมื่อจบแล้ว ท้าวเวสสวัณกราบทูลย้ำว่า คาถาอาฏานาฏิยรักขานี้ เพื่อเป็นเครื่องคุ้มครองรักษาภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ให้อยู่ผาสุกปลอดจากการถูกเบียดเบียน เมื่อเรียนไว้แม่นยำดีแล้ว หากอมนุษย์เช่นยักษ์เป็นต้นตนใดมีใจประทุษร้ายมากล้ำกราย อมนุษย์ตนนั้นก็จะถูกต่อต้านและถูกลงโทษโดยพวกอมนุษย์ทั้งหลาย หากตนใดไม่เชื่อฟัง ก็ถือว่าเป็นขบถต่อท้าวมหาราชสี่นั้น กล่าวแล้วก็พากันกราบทูลลากลับไป ครั้นผ่านราตรีนั้นไปแล้ว พระพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าเรื่องทั้งหมดแก่ภิกษุทั้งหลาย ตรัสว่าอาฏานาฏิยรักขานั้นกอปรด้วยประโยชน์ในการคุ้มครองรักษาดังกล่าวแล้ว และทรงแนะนำให้เรียนไว้, คาถาอาฏานาฏิยรักขานี้เองได้มาเป็นอาฏานาฏิยปริตร และอาฏานาฏิยปริตรนี้นับว่าเป็นตัวอย่างอันชัดเจนที่แสดงถึงวิธีสอนที่นำประชาชนให้ฝึกศึกษาพัฒนาชีวิตขึ้นมาตามลำดับ จากจุดเชื่อมต่อกับความเชื่อถือพื้นฐานของเขา เพื่อก้าวเข้ามาสู่คติแห่งพระพุทธศาสนา คือในแง่ความเชื่ออำนาจศักดิ์สิทธิ์ ถือว่าต้องเป็นอำนาจที่ทรงธรรมจึงจะศักดิ์สิทธิ์จริงจังยั่งยืน และชำระอำนาจนั้นให้บริสุทธิ์เป็นกุศลปราศจากการใช้กิเลสเช่นโลภะและโทสะ ให้อำนาจที่เป็นกุศลชนะอำนาจอกุศล และที่สำคัญยิ่งคือไม่ให้ขัดหลักกรรม แต่ให้สนับสนุนความเพียรในการทำกุศลกรรม โดยมีความหมายในแง่คุ้มครองป้องกันให้ปลอดโปร่งปราศจากสิ่งขัดขวางกังวลทั้งภายนอกและในใจ เพื่อให้พร้อมหรือมั่นใจมีกำลังใจที่จะเพียรทำกิจที่มุ่งหมาย เช่น ภิกษุก็จะเจริญสมณธรรมได้เต็มที่ (มิใช่รออำนาจศักดิ์สิทธิ์มาบันดาลผลนั้นให้) 

เรื่องราวอันเป็นที่มาของปริตรทั้งหลายตามที่เล่าในพระไตรปิฎก มีเพียงสั้นๆ ตรงๆ อย่างที่กล่าวแล้ว แต่ที่มาของบางปริตรปรากฏในอรรถกถาเป็นเรื่องราวยืดยาวพิสดาร โดยเฉพาะรตนปริตร จากรตนสูตร (ขุ.ขุ.๒๕/๗/๕; ขุ.สุ.๒๕/ ๓๑๔/๓๖๗) ซึ่งอรรถกถาเล่าว่า คราวหนึ่ง ที่เมืองเวสาลี ได้เกิดทุพภิกขภัยใหญ่ ผู้คนล้มตาย ซากศพเกลื่อนเมือง พวกอมนุษย์ก็เข้ามา แถมอหิวาตกโรคซ้ำอีก ในที่สุด กษัตริย์ลิจฉวีตกลงไปอาราธนาพระพุทธเจ้า ซึ่งเวลานั้นประทับที่เมืองราชคฤห์ (ยังอยู่ในรัชกาลของพระเจ้าพิมพิสาร) ขอให้เสด็จมา พระพุทธองค์ประทับเรือเสด็จมา เมื่อถึงเขตแดน พอย่างพระบาทลงทรงเหยียบฝั่งแม่น้ำคงคา ฝนโบกขรพรรษก็ตกลงมาจนน้ำท่วม พัดพาซากศพลอยลงแม่น้ำคงคาไปหมด และเมื่อเสด็จถึงเมืองเวสาลี ท้าวสักกะและประดาเทพก็มาชุมนุมรับเสด็จ เป็นเหตุให้พวกอมนุษย์หวาดกลัว พากันหนีไป ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสรตนสูตรให้พระอานนท์เรียนและเดินทำปริตรไปในระหว่างกำแพงเมืองทั้ง ๓ ชั้น พระอานนท์เรียนรตนสูตรนั้นแล้วสวดเพื่อเป็นปริตร คือเป็นเครื่องคุ้มครองป้องกัน พร้อมทั้งถือบาตรของพระพุทธเจ้าใส่น้ำเดินพรมไปทั่วทั้งเมือง เป็นอันว่า ทั้งภัยแล้ง ภัยอมนุษย์ และภัยจากโรค ก็สงบสิ้นไป พระพุทธเจ้าประทับที่เมืองเวสาลีครึ่งเดือนจึงเสด็จกลับ มีการชุมนุมครั้งใหญ่เพื่อส่งเสด็จ เรียกว่า “คงฺโคโรหณสมาคม” (เป็นไทย=คงคาโรหณสมาคม, การชุมนุมในคราวเสด็จลงแม่น้ำคงคาเพื่อเสด็จกลับสู่เมืองราชคฤห์; การชุมนุมใหญ่อย่างนี้มีอีก ๒ ครั้ง คือ ยมกปาฏิหาริยสมาคม และเทโวโรหณสมาคม), พระสูตรนี้แสดงคุณของพระรัตนตรัย จึงเรียกว่า รตนสูตร (ในมิลินทปัญหาบางฉบับเรียกว่า สุวัตถิสูตร เพราะแต่ละคาถาลงท้ายว่า “สุวตฺถิ โหตุ” – ด้วยสัจจะนี้ ขอความสวัสดีจงมี), เรื่องที่อรรถกถาเล่านี้ น่าจะเป็นที่มาของประเพณีการเอาน้ำใส่บาตรทำน้ำมนต์ แล้วพรมน้ำมนต์เพื่อความสุขสวัสดี 

๖) โดยความเป็นมา: เดิมนั้น “ปริตต์” มีความหมายว่า “เครื่องคุ้มครองป้องกัน” เช่นกล่าวข้อความนั้นๆ เพื่อเป็นปริตร หรือให้เป็นปริตร (เป็นเครื่องคุ้มครองป้องกัน) ยังไม่เรียกข้อความนั้นเองว่าปริตร จึงใช้คำว่า “ทำปริตต์” (ปริตตกรณะ) เช่นทำการแผ่เมตตา หรือทำการน้อมรำลึกหรือนมัสการอย่างนั้นๆ ให้เป็นเครื่องคุ้มครองป้องกัน ไม่ใช้คำว่ากล่าวหรือสวดปริตต์ ต่อมาจึงค่อยๆ เรียกข้อความที่สวดหรือบทสวดนั้นเองว่าปริตร แล้วปริตรก็มีความหมายว่า “บทสวดเพื่อเป็นเครื่องคุ้มครองป้องกัน” ดังที่ในบัดนี้ ใช้คำว่า “กล่าวปริตร” หรือ “สวดพระปริตร” (ปริตตภณนะ) เป็นพื้น

ปริตรได้เป็นคำเรียกบทสวด โดยมีรายชื่อปรากฏในคัมภีร์ชั้นหลังจากพระไตรปิฎก เริ่มแต่มิลินทปัญหา ซึ่งถือกันว่าเกิดขึ้นประมาณ พ.ศ.๕๐๐ ในมิลินทปัญหานั้น มีรายชื่อ ๕-๗ ปริตร (ฉบับหนึ่งที่เป็นอักษรพม่ามี ๗ ปริตร คือ รตนสูตร เมตตสูตร ขันธปริตร โมรปริตร ธชัคคปริตร อาฏานาฏิยปริตร องคุลิมาลปริตร, ฉบับอักษรไทยมี ๕ ปริตร คือ ขันธปริตร สุวัตถิปริตร [=รตนสูตร] โมรปริตร ธชัคคปริตร อาฏานาฏิยปริตร), ต่อมาในชั้นอรรถกถา (ถึง พ.ศ.๙๐๐ เศษ) พบรายชื่ออย่างมาก ๘ ปริตร คือ อาฏานาฏิยปริตร อิสิคิลิปริตร ธชัคคปริตร โพชฌังคปริตร ขันธปริตร โมรปริตร เมตตปริตร รตนปริตร (องฺ.อ. ๒/๒๑๐; นิทฺ.อ.๓๓๖), ต่อนี้ไป จะกล่าวข้อสังเกตตามลำดับ ดังนี้ 

. ปริตรที่ยืนตัวอยู่ในทุกรายชื่อตั้งแต่มิลินทปัญหามาจนวิสุทธิมัคค์กระทั่งถึงคัมภีร์แม้แต่ชั้นฎีกา มีเพียง ๕ คือ รตนปริตร ขันธปริตร ธชัคคปริตร อาฏานาฏิยปริตร และโมรปริตร

. ตลอดยุคที่กล่าวมา รายชื่อหลักขึ้นต้นด้วยรตนปริตร ซึ่งบางทีเรียกชื่อเดิมเป็นรตนสูตร และในรายชื่อทุกบัญชี ไม่มีมงคลสูตรเลย 

. ไม่ชัดว่ามีมงคลสูตรเพิ่มเข้ามาในรายชื่อปริตรเมื่อใด แต่คงเพิ่มในยุคสมัยที่ไม่นานนัก น่าสังเกตว่า ท่านเพิ่มเข้ามาโดยจัดเป็นปริตรแรกทีเดียวนำหน้ารตนปริตร อีกทั้งเป็นบทเดียวที่คงเรียกชื่อเป็นสูตรคงที่ยืนตัว ไม่เรียกชื่อว่าปริตร ทั้งนี้ พอเห็นเหตุผลได้ชัดว่า เนื้อความในมงคลสูตรไม่มีลักษณะเป็นปริตรโดยตรง คือมิใช่มุ่งจะป้องกันภัยใดๆ อย่างปริตรอื่น แต่เป็นเรื่องของสิริมงคลคือเป็นไปเพื่อความสุขความเจริญงอกงามกว้างๆ ครอบคลุมทั่วไปหมด ถึงจะไม่เป็นปริตร ก็ดีมีคุณไม่น้อยกว่าปริตร และควรเอามาสวดนำก่อนด้วยซ้ำ เพื่อให้เกิดสิริมงคลเป็นพื้นฐานหรือเป็นบรรยากาศไว้ก่อน แล้วจะแก้หรือกันอันตรายอย่างไหนก็ค่อยว่ากันต่อไป (และในแง่เนื้อความ มงคลสูตรก็ครอบคลุมความดีงามสุขสวัสดีทุกประการ โดยมีหลักธรรมที่เหมาะแก่ทุกบุคคล ครบทุกขั้นตอนของชีวิต) อีกทั้งท่านเอามาใช้เต็มทั้งพระสูตร ไม่ได้คัดตัดมาเพียงบางส่วน จึงเป็นอันได้เหตุผลที่นำมาสวดเข้าชุดปริตร และจัดเป็นบทแรก โดยเรียกชื่อคงเดิมว่ามงคลสูตร, ในคัมภีร์ขุททกปาฐะแห่งพระไตรปิฎก ท่านเรียงลำดับมงคลสูตรและรตนสูตรไว้ถัดกัน โดยมีมงคลสูตรเป็นสูตรแรก อรรถกถาอธิบายว่าลำดับนี้เข้ากับเหตุผลว่า มงคลสูตรเป็นอัตตรักษ์ (รักษาตัว) รตนสูตรเป็นปรารักษ์ (รักษาผู้อื่น)

. ส่วนปริตรอื่นนั้นชัดอยู่แล้วว่า ปริตรใดเดิมเป็นพระสูตร และนำมาใช้สวดเต็มทั้งสูตร ปริตรนั้นจะเรียกชื่อเป็นสูตร หรือเรียกเป็นปริตร ก็ได้ คือ รตนสูตร/ปริตร กรณียเมตตสูตร/ปริตร (บางทีเรียกสั้นๆ ว่า เมตตสูตร/ปริตร)  และธชัคคสูตร/ปริตร, ปริตรนอกนี้ มิใช่มาจากพระสูตร (เช่น มาจากชาดก) หรือถ้ามาจากพระสูตร ก็ไม่นำมาเต็มทั้งสูตร แต่คัดตัดมาเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงเรียกว่าปริตรอย่างเดียว

. อาฏานาฏิยปริตร มาจากอาฏานาฏิยสูตร แต่นำมาใช้เฉพาะคาถา “อาฏานาฏิยา รกฺขา” ที่ท้าวมหาราชสี่ถวาย ไม่นำมาเต็มทั้งสูตร (คือนำมาเพียงเอกเทศของพระสูตร) จึงเรียกว่าปริตรเท่านั้น ไม่เรียกว่าสูตร ในแง่นี้ อาฏานาฏิยปริตรก็เหมือนกับปริตรอื่นๆ ที่เรียกว่าปริตรอย่างเดียว แต่แง่ที่แปลกกว่านั้นก็คือ นำมาเฉพาะคาถานมัสการพระพุทธเจ้าเจ็ดพระองค์ ๖ คาถา ส่วนคาถาต่อจากนั้นซึ่งว่าด้วยเรื่องของท้าวมหาราชสี่ ท่านตัดออก แล้วประพันธ์คาถาใหม่ซึ่งส่วนใหญ่พรรณนาพระคุณของพระพุทธเจ้ามากมายหลายพระองค์ นบวันทาพระพุทธเจ้าเหล่านั้น ขอให้พระคุณของพระองค์ปกปักรักษา และขอให้ท้าวมหาราชทั้งสี่มารักษาด้วย, การที่พระโบราณาจารย์กระทำอย่างนี้ คงเป็นเพราะท่านเห็นว่า คาถาอาฏานาฏิยรักขามิใช่เป็นพระพุทธวจนะ แต่เป็นคำของเทพเท่านั้น เมื่อจะนำมาใช้ในกิจนอกพระไตรปิฎก ท่านจึงแต่งเพิ่มและเติมแทนได้ โดยเฉพาะคาถาที่ท่านแต่งนั้น ก็เป็นการเสริมเจตนารมณ์ของท้าวมหาราชทั้งสี่ที่แสดงออกใน ๖ คาถาแรก ให้ปริตรหนักแน่นมีกำลังมากยิ่งขึ้น, โพชฌังคปริตรมีลักษณะพิเศษต่างออกไปอีก เนื่องจากว่า เรื่องที่พระพุทธองค์เอง พระมหากัสสปะ และพระมหาโมคคัลลานะ สดับคำแสดงโพชฌงค์แล้วหายจากอาพาธนั้น กระจายอยู่ในสามพระสูตรต่างหากกัน (สํ.ม.๑๙/๔๑๕-๔๒๘/๑๑๓-๗) พระโบราณาจารย์จึงใช้วิธีประพันธ์คาถาประมวลเรื่องสรุปความรวมไว้เป็นปริตรเดียวกัน โพชฌังคปริตรจึงมิใช่เป็นบาลีภาษิตจากพระไตรปิฎกโดยตรง, เรื่องของอาฏานาฏิยปริตร (รวมทั้งโพชฌังคปริตร) นี้ น่าจะเป็นตัวอย่างให้ในยุคหลังมีการแต่งคาถาใหม่ขึ้นเป็นปริตรชื่อใหม่ๆ โดยนำเอาพุทธพจน์หรือข้อความในพระไตรปิฎกมาตั้งเป็นแกน ก็มี ไม่มีข้อความจากพระไตรปิฎกโดยตรงเลย ก็มี ได้แก่ อภยปริตร และชยปริตร ในประมวลบทสวดที่เรียกว่า “สิบสองตำนาน”

๗) โดยการจัดเป็นแบบแผน: ต่อมา ในบ้านเมืองที่พระพุทธศาสนาเจริญแพร่หลาย มีคนทุกหมู่เหล่านับถือแล้ว ความนิยมสวดพระปริตรก็แพร่หลายมากขึ้นๆ จนเกิดเป็นประเพณีขึ้นโดยมีพิธีกรรมเกี่ยวกับการสวดพระปริตรนั้น และประเพณีนั้นก็พัฒนาต่อๆ มา เช่น มีการสวดปริตรนี้ในโอกาสนั้น สวดปริตรนั้นในโอกาสนี้ มีการสวดปริตรเป็นชุดในงานสำคัญ มีการแยกว่าพึงสวดชุดใดในงานไหนระดับใด ตลอดจนจัดลำดับในชุดพร้อมด้วยบทสวดประกอบต่างๆ เป็นต้น, ในคัมภีร์มิลินทปัญหา ซึ่งเล่าเรื่องราวเมื่อใกล้ พ.ศ.๕๐๐ แม้จะมิได้กล่าวถึงพิธีสวดพระปริตรโดยตรง แต่ปัญหาหนึ่งที่พญามิลินท์ตรัสถามพระนาคเสนว่า ถ้าปริตรทำให้คนพ้นจากบ่วงมัจจุราชได้ จะไม่ขัดกันหรือกับคำสอนที่ว่า ถึงจะเหาะเหินไปในฟากฟ้า ถึงจะซ่อนตัวลึกถึงกลางมหาสมุทร หรือจะหนีไปที่ไหน ก็หาพ้นจากบ่วงมัจจุราชไปได้ไม่ และระบุชื่อปริตรไว้ด้วยหลายบท (ฉบับอักษรพม่าระบุไว้ ๗, ฉบับอักษรไทยระบุไว้ ๕ ดังกล่าวข้างต้น) นี้แสดงว่า การสวดพระปริตรคงจะเป็นที่นิยมทั่วไปแล้วในชมพูทวีป รวมทั้งแคว้นโยนก (โยนกเวลานั้นขยายกว้างตั้งแต่แถบเหนือของอัฟกานิสถานและปากีสถาน มาจนถึงตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียปัจจุบัน) ต่อมา ในลังกาทวีป มีเรื่องราวเป็นหลักฐานชัดเจนตามคัมภีร์มหาวงส์ (พงศาวดารลังกายุคต้น) ว่า ในรัชกาลพระเจ้าอุปติสสะ ที่ ๑  (พ.ศ. ๙๐๕–๙๕๒) เกิดทุพภิกขภัย พระองค์ได้โปรดให้นิมนต์พระสงฆ์ประชุมใหญ่สวดพระปริตร แล้วฝนตกหายแล้ง ในสมัยหลังต่อมา ก็มีเหตุการณ์เช่นนี้อีก, พิธีสวดอย่างนี้ นอกจากเป็นงานใหญ่แล้ว ก็กลายเป็นประเพณี การสวดบางอย่างก็ทำเป็นประจำทุกปี อย่างน้อยก็ทำนองเป็นการบำรุงขวัญ ในบางคัมภีร์อย่างวินยสังคหะ ถึงกับอธิบายวิธีจัดเตรียมการในการสวดพระปริตรในบางโอกาส เช่น เมื่อไปสวดให้คนเจ็บไข้ฟัง พึงให้เขารับสิกขาบทก่อน (เราเรียกว่าให้ศีล) แล้วกล่าวธรรมแก่เขา พึงทำปริตรให้แก่ผู้ที่ตั้งอยู่ในศีล ถ้าคนถูกผีเข้า ไม่ควรสวดอาฏานาฏิยปริตรก่อน แต่พึงสวดเมตตสูตร ธชัคคสูตร และรตนสูตร ตลอดสัปดาห์ ถ้าผีไม่ยอมออก จึงควรสวดอาฏานาฏิยปริตร ดังนี้เป็นต้น

ปริตรที่จัดเป็นหมวดหรือเป็นชุด ต่อมาก็มีการแยกเป็นชุดเล็กและชุดใหญ่ ดังที่เรียกว่า “เจ็ดตำนาน” (ใช้คำบาลีเป็น สัตตปริตต์) และ “สิบสองตำนาน” (ทวาทสปริตต์) แต่มีข้อน่าสงสัยว่า “ตำนาน” ในที่นี้หมายถึงเรื่องราวเล่าขานสืบกันมาใช่แน่หรือไม่ พอดีว่า “ปริตต์” คือเครื่องคุ้มครองป้องกันนี้ มีคำบาลีที่เป็นไวพจน์ว่า รักขา ตาณ เลณ ทีปะ นาถ สรณะ เป็นต้น โดยเฉพาะ “ตาณ” นั้น บางทีใช้อธิบายหรือใช้แทน “ปริตฺต” อย่างชัดเจน (เช่น ในโยชนาแห่งอรรถกถาวินัยว่า ยกฺขปริตฺตนฺติ   ยกฺเขหิ สมนฺตโต ตาณํ) จึงน่าสันนิษฐานว่า อาจเป็น “ตำนาณ” ที่แผลงจาก “ตาณ” นี้เอง (คือเป็น เจ็ดตำนาณ และสิบสองตำนาณ) และเมื่อใช้เป็นแบบแผนในพระราชพิธี ก็ได้มีชื่อเป็นคำศัพท์เฉพาะขึ้นว่า “ราชปริตร” เรียกสัตตปริตต์ว่า จุลราชปริตร (ปริตรหลวงชุดเล็ก) และเรียกทวาทสปริตต์ว่า มหาราชปริตร (ปริตรหลวงชุดใหญ่)

เจ็ดตำนาน

๑. มงคลสูตร

๒. รตนปริตร (มักเรียก รตนสูตร)

๓. เมตตปริตร (มักเรียก กรณียเมตตสูตร)

๔/๐. ขันธปริตร 

๕/๐. โมรปริตร

๖/๐. ธชัคคปริตร (มักเรียก ธชัคคสูตร)

๗/๐. อาฏานาฏิยปริตร

๐/๗. โพชฌังคปริตร มีอังคุลิมาลปริตรนำ

(ลำดับท้ายนี้ อาจเข้าแทนลำดับใดหนึ่งใน ๔-๗)

สิบสองตำนาน

๑. มงคลสูตร

๒. รตนปริตร (มักเรียก รตนสูตร)

๓. เมตตปริตร (มักเรียก กรณียเมตตสูตร)

๔. ขันธปริตร มี ฉัททันตปริตร ตาม

๕. โมรปริตร

๖. วัฏฏกปริตร

๗. ธชัคคปริตร (มักเรียก ธชัคคสูตร)

๘. อาฏานาฏิยปริตร

๙. อังคุลิมาลปริตร

๑๐. โพชฌังคปริตร 

๑๑. อภยปริตร (มีขึ้นในยุคหลัง)

๑๒. ชยปริตร (มีขึ้นในยุคหลัง)

(พึงทราบว่า องฺคุลิมาลปริตฺต และ โพชฺฌงฺคปริตฺต นั้น เรียกเป็นภาษาไทย ว่า อังคุลิมาลปริตร หรือองคุลิมาลปริตร และโพชฌังคปริตร หรือโพชฌงคปริตร ก็ได้ ยังไม่มีกำหนดเป็นยุติ)

๘) โดยเครื่องประกอบเสริม: อย่างที่ได้กล่าวว่า นอกจากตัวปริตรเองแล้ว มีบทสวดเสริมประกอบที่แต่งหรือจัดเติมเพิ่มขึ้นมาตามกาลเวลาอีกมาก ใช้สวดนำก่อนก็มี สวดแทรกก็มี สวดต่อท้ายก็มี เช่น ก่อนเริ่มสวด ก็มีการชุมนุมเทวดา คือกล่าวคำเชิญชวนเทวดามาฟัง เรียกว่ามาฟังธรรมหรือมาฟังพุทธวจนะ และเมื่อเริ่มสวด ก่อนจะถึงตัวพระปริตร ก็สวดต้นตำนาน ซึ่งมีประมาณ ๔ บท แล้วจึงสวดตัวตำนานคือพระปริตรไปตามลำดับ ครั้นจบปริตรทั้งหมดแล้ว ก็สวดท้ายตำนาน ทำนองบทแถมอีกจำนวนหนึ่ง (อาจจะถึง ๑๐ บท) เสร็จแล้วจึงเป็นอันจบการสวด

ยิ่งกว่านั้น ถ้ามีเวลาที่จะสวดอย่างเต็มพิธีจริงๆ นอกจากชุมนุมเทวดา (เรียกว่าขัดนำ) ตอนจะเริ่มสวดแล้ว ในช่วงที่สวดตัวตำนาน ก็มีการขัดตำนานแทรกคั่นไปตลอดด้วย คือ ระหว่างที่สวดปริตรหนึ่งจบแล้ว ก่อนจะสวดปริตรลำดับต่อไป ก็หยุดให้หัวหน้า (บัดนี้นิยมให้รูปที่ ๓ ผู้ขัดนำ คือรูปที่ชุมนุมเทวดา) ขัดตำนาน คือสวดบทแนะนำให้รู้จักปริตรบทที่จะสวดต่อไปนั้น (บทขัดของปริตรใด ก็เรียกตามชื่อของปริตรนั้น เช่น บทขัดมงคลสูตร บทขัดรตนปริตร ฯลฯ ซึ่งบอกให้รู้ว่าปริตรนั้นเกิดขึ้นมาอย่างไร มีคุณหรืออานิสงส์ในการสวดอย่างไร และเชิญชวนให้สวด) ขัดคั่นอย่างนี้ไปจนจบปริตรทั้งหมด, อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ แม้แต่ในพิธีใหญ่ๆ ก็น้อยนักที่จะมีการขัดตำนานในการสวดเจ็ดตำนานหรือสิบสองตำนาน เพราะจะทำให้การสวดยาวนานมาก, แต่ที่ยังนิยมปฏิบัติกันอยู่ ก็คือ ในกรณีที่มีการสวดบทพิเศษเพิ่มเข้ามา เช่น สวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ในงานทำบุญอายุครั้งสำคัญ เมื่อขัดนำตำนาน คือชุมนุมเทวดาแล้ว ก็ต่อด้วยบทขัดธัมมจักกัปปวัตตนสูตรติดไปเลย จากนั้นสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร และเจ็ดตำนานย่อไปจนจบ โดยไม่มีการขัดตำนานใดๆ อีก, ที่กล่าวมานี้ เป็นเรื่องของแบบแผนในพิธีที่เพิ่มขยายขึ้นมา เป็นเรื่องของประเพณีและเนื่องด้วยสังคม แต่ผู้ปฏิบัติในทางส่วนตัว เมื่อมุ่งสาระ พึงกำหนดชัดอยู่ที่ตัวพระปริตร

นอกจากแบบแผนพิธีในการสวดแล้ว เครื่องประกอบสำคัญที่รู้กันดีก็คือ น้ำมนต์ และสายสิญจน์ ซึ่งมีมาแต่โบราณ แต่ในคัมภีร์ภาษาบาลี ท่านเรียกว่า ปริตโตทก (น้ำปริตร) และปริตตสูตร (สายหรือด้ายปริตร) ตามลำดับ

รวมแล้ว ในเรื่องปริตรนี้ ข้อสำคัญอยู่ที่ต้องมีจิตใจเป็นกุศล นอกจากมีเมตตานำหน้าและมั่นในสัจจะบนฐานแห่งธรรมแล้ว ก็พึงรู้เข้าใจสาระของปริตรนั้นๆ โดยมีกัมมัสสกตาปัญญาอันมองเห็นความมีกรรมเป็นของตน ซึ่งผลที่ประสงค์จะสำเร็จด้วยความพากเพียรในการกระทำของตน เมื่อมีจิตใจโล่งเบาสดชื่นผ่องใสด้วยมั่นใจในคุณพระปริตรที่คุ้มครองป้องกันภัยอันตรายให้แล้ว  ก็จะได้มีสติมั่นมีสมาธิแน่วมุ่งหน้าทำการนั้นๆ ให้ก้าวต่อไปด้วยความเข้มแข็งมีกำลังหนักแน่นและแจ่มใสชัดเจนจนถึงความสำเร็จ, สำหรับพระภิกษุ ต้องตั้งใจปฏิบัติในเรื่องปริตรนี้ต่อคฤหัสถ์ด้วยจิตเมตตากรุณา พร้อมไปกับความสังวรระวัง มิให้ผิดพลาดจากพระวินัย ในแง่ดิรัจฉานวิชา และเวชกรรม เป็นต้น; ดู ภาณยักษ์, ภาณวาร 

…………………….

ภาณยักษ์ 

บทสวดของยักษ์, คำบอกของยักษ์, สวดหรือบอกแบบยักษ์; เป็นคำที่คนไทยเรียกอาฏานาฏิยสูตร ที่นำมาใช้เป็นบทสวดมนต์ในจำพวกพระปริตร (เป็นพระสูตรขนาดยาวสูตรหนึ่ง นิยมคัดตัดมาเฉพาะตอนที่มีสาระเกี่ยวกับความคุ้มครองป้องกันโดยตรง และเรียกส่วนที่ตัดตอนมาใช้นั้นว่า อาฏานาฏิยปริตร)

การที่นิยมเรียกชื่อพระสูตรนี้ให้ง่ายว่า “ภาณยักษ์” นั้น เนื่องจากพระสูตรนี้มีเนื้อหาซึ่งเป็นคำกล่าวของยักษ์ คือท้าวเวสสวัณ ที่มากราบทูลถวายคำประพันธ์ของพวกตน ที่เรียกว่า “อาฏานาฏิยา รกฺขา” (อาฏานาฏิยรักขา หรือ อาฏานาฏิยารักข์) แด่พระพุทธเจ้า ดังมีความเป็นมาโดยย่อว่า ยามดึกราตรีหนึ่ง ท้าวมหาราชสี่ (จาตุมหาราช หรือจตุโลกบาล) พร้อมด้วยบริวารจำนวนมาก ได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้า ครั้นแล้ว ท้าวเวสสวัณ ในนามของผู้มาเฝ้าทั้งหมด ได้กราบทูลว่า พวกยักษ์ส่วนมากยังทำปาณาติบาต ตลอดจนดื่มสุราเมรัย เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนให้งดเว้นกรรมชั่วเหล่านั้น จึงไม่ชอบใจ ไม่เลื่อมใส ท้าวมหาราชทรงห่วงใยว่า มีพระสาวกที่ไปอยู่ในป่าดงเงียบห่างไกลอันเปลี่ยวน่ากลัว จึงขอถวายคาถา “อาฏานาฏิยา รกฺขา” ที่ท้าวมหาราชประชุมกันประพันธ์ขึ้น โดยขอให้ทรงรับไว้ เพื่อทำให้ยักษ์พวกนั้นเลื่อมใส เป็นเครื่องคุ้มครองรักษาภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ให้อยู่ผาสุกปลอดจากการถูกเบียดเบียน แล้วท้าวเวสสวัณก็กล่าวคาถาคำอารักขานั้น เริ่มต้นด้วยคำนมัสการพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ มีพระวิปัสสี เป็นต้น ต่อด้วยเรื่องของท้าวมหาราชสี่รายพระองค์ที่พร้อมด้วยโอรสและเหล่าอมนุษย์พากันน้อมวันทาพระพุทธเจ้า คาถาอาฏานาฏิยารักข์นี้เมื่อเรียนไว้แม่นยำดีแล้ว หากอมนุษย์เช่นยักษ์เป็นต้นตนใดมีใจประทุษร้ายมากล้ำกราย อมนุษย์ตนนั้นก็จะถูกต่อต้านและถูกลงโทษโดยพวกอมนุษย์ทั้งหลาย หากตนใดไม่เชื่อฟัง ก็ถือว่าเป็นขบถต่อท้าวมหาราชสี่นั้น กล่าวแล้วก็พากันกราบทูลลากลับไป ครั้นผ่านราตรีนั้นไปแล้ว พระพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าเรื่องทั้งหมดแก่ภิกษุทั้งหลาย ตรัสว่า อาฏานาฏิยารักข์นั้นกอปรด้วยประโยชน์ในการคุ้มครองรักษาดังกล่าวแล้ว และทรงแนะนำให้เรียนไว้

พึงสังเกตว่า ความในอาฏานาฏิยสูตรนี้ทั้งหมด แยกเป็น ๒ ตอนใหญ่ คือ ตอนแรก เป็นเรื่องของท้าวเวสสวัณและท้าวมหาราชอื่นพร้อมทั้งบริวาร (เรียกง่ายๆ ว่า พวกยักษ์) ที่มาเฝ้าและกราบทูลถวายอาฏานาฏิยารักข์จนจบแล้วกราบลากลับไป ตอนหลัง คือ เมื่อพวกท้าวมหาราชกลับไปแล้ว ผ่านราตรีนั้น ถึงวันรุ่งขึ้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าเรื่องแก่ภิกษุทั้งหลายซ้ำตลอดทั้งหมดพร้อมทั้งทรงแนะนำให้เรียนจำอาฏานาฏิยารักข์เป็นเครื่องคุ้มครองรักษาพุทธบริษัททั้งสี่

ในพระไตรปิฎกบาลี ท่านเล่าเรื่องและแสดงเนื้อความเต็มทั้งหมดเฉพาะในตอนแรก ส่วนตอนหลัง แสดงไว้เฉพาะพระพุทธดำรัสที่เริ่มตรัสเล่าแก่ภิกษุทั้งหลาย และพระดำรัสสรุปท้ายที่ให้เรียนจำอาฏานาฏิยารักข์นั้นไว้ ส่วนเนื้อความที่ทรงเล่าซ้ำ ท่านทำไปยาลใหญ่ (ฯเปฯ คือ ฯลฯ) แล้วข้ามไปเลย ตอนหลังนั้นจึงสั้นนิดเดียว

แต่ในหนังสือสวดมนต์แบบค่อนข้างพิสดารสมัยก่อน ที่เรียกว่าแบบ “จตุภาณวาร” ท่านนำอาฏานาฏิยสูตรมารวมเข้าในชุดบทสวดมนต์นั้นด้วย โดยบรรจุลงไปเต็มทั้งสูตร และไม่ใส่ไปยาลเลย ทำให้บทสวดนี้ยาวมาก (ในพระไตรปิฎก สูตรนี้ยาวประมาณ ๑๓ หน้า แต่ในประมวลบทสวดจตุภาณวาร ยาว๒๔ หน้า) และท่านได้แยก ๒ ตอนนั้นออก โดยแบ่งพระสูตรนี้เป็น ๒ ภาค คือ ปุพพภาค กับ ปัจฉิมภาค ยาวเท่ากัน, ปุพพภาคคือตอนแรกที่เป็นคำของยักษ์กราบทูลถวายอาฏานาฏิยารักข์ เรียกว่า ยักขภาณวาร ส่วนปัจฉิมภาคคือตอนหลังที่เป็นพระพุทธดำรัสตรัสเล่าเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย เรียกว่า พุทธภาณวาร นี้คือที่คนไทยเรียกให้สะดวกปากของตนว่า ภาณยักษ์ และ ภาณพระ ตามลำดับ โดยนัยนี้ เมื่อจะเรียกให้ถูกต้อง อาฏานาฏิยสูตรจึงมิใช่เป็นภาณยักษ์เท่านั้น แต่ต้องพูดให้เต็มว่ามี “ภาณยักษ์” กับ “ภาณพระ”

ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.๒๔๗๕ เมื่อถึงวาระจะขึ้นปีใหม่ คือในช่วงตรุษ-สงกรานต์ (ปรับเข้ากับปฏิทินสากลเป็นขึ้นปีใหม่ ๑ เมษายน) ในพระบรมมหาราชวังเคยนิมนต์พระสงฆ์มาสวดภาณยักษ์ในวันสิ้นปีเก่าตลอดคืนจนรุ่ง โดยสวดทำนองขู่ตวาดภูตผีปีศาจด้วยเสียงโฮกฮากดุดันบ้าง แห้งแหบโหยหวนบ้าง และในสมัย ร.๕ โปรดฯ ให้นิมนต์พระอีกสำรับหนึ่งสวดภาณพระด้วยทำนองสรภัญญะที่ไพเราะชื่นใจขึ้นเป็นคู่กัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ประชาราษฎร์ ว่าได้ขับไล่ภัยอันตรายสิ่งร้าย และอวยพรชัยสิริมงคลในกาลเวลาสำคัญแห่งการเปลี่ยนปี 

[“จตุภาณวาร” เป็นประมวลบทสวดมนต์ของโบราณแบบหนึ่ง (นำมาจัดพิมพ์รวมไว้ด้วย ในหนังสือสวดมนต์ฉบับหลวง ยาวประมาณ ๕๓ หน้า) ประกอบด้วยบทสวด ๒๒ อย่าง (ท่านใช้คำว่า ธรรมประเภท ๒๒ ภาค) จัดเป็น ๔ ภาณวาร คือ ปฐมภาณวาร (ภาณต้น) มี ๑๖ ธรรมประเภท ได้แก่ ติสรณคมนปาฐะ ทสสิกขาปทปาฐะ สามเณรปัญหปาฐะ ทวัตติงสาการปาฐะ ตังขณิกปัจจเวกขณปาฐะ ทสธัมมสุตตปาฐะ มังคลสุตตปาฐะ รตนสุตตปาฐะ กรณียเมตตสุตตปาฐะ อหิราชสุตตปาฐะ เมตตานิสังสสุตตปาฐะ เมตตานิสังสคาถาปาฐะ โมรปริตตปาฐะ จันทปริตตปาฐะ สุริยปริตตปาฐะ และธชัคคสุตตปาฐะ ทุติยภาณวาร (ภาณวารที่ ๒) มีโพชฌังคสูตรทั้ง ๓ คือ มหากัสสปโพชฌังคสุตตปาฐะ มหาโมคคัลลานโพชฌังคสุตตปาฐะ และมหาจุนทโพชฌังคสุตตปาฐะ ตติยภาณวาร (ภาณวารที่ ๓) มี ๒ พระสูตร คือ คิริมานันทสุตตปาฐะ และอิสิคิลิสุตตปาฐะ จตุตถภาณวาร (ภาณวารที่ ๔) ได้แก่ อาฏานาฏิยสุตตปาฐะ ที่แบ่งเป็น ๒ ภาค คือ ปุพพภาค ซึ่งในหนังสือที่พิมพ์ เรียกว่า “ยกฺขภาควาร” และปัจฉิมภาค เรียกว่า “พุทฺธภาควาร” (น่าจะเป็น “ยกฺขภาณวาร” คือภาณยักษ์ และ “พุทฺธภาณวาร” คือภาณพระ ทั้งนี้ จะต้องสืบค้นตรวจสอบหลักฐานต่อไป)]; ดู ปริตร 

…………………….

ภาณวาร 

“วาระแห่งการสวด”, ข้อความในคัมภีร์ต่างๆ เช่น ในพระสูตรขนาดยาวที่ท่านจัดแบ่งไว้เป็นหมวดหนึ่งๆ สำหรับสาธยายเป็นคราวๆ หรือเป็นตอนๆ 

แม้ว่าการนับจำนวนภาณวารจะไม่เป็นมาตราที่ลงตัวเด็ดขาด แต่ก็มีหลักตามที่ท่านคำนวณไว้และถือกันมา ดังที่บันทึกไว้ในคัมภีร์ต่างๆ ว่า (เช่น สทฺทนีติ. ธาตุมาลา ฉบับอักษรพม่า หน้า ๖๐) “๘ อักขระเป็น ๑ บท (บาทคาถา), ๔ บท เป็น ๑ คาถา ซึ่งถือเป็น ๑ คันถะ คือเท่ากับ ๓๒ อักขระ, ๒๕๐ คันถะ (๒๕๐ คาถา) เป็น ๑ ภาณวาร คือเท่ากับ ๘,๐๐๐ อักขระ” (อักขระ ในที่นี้ คือหน่วยออกเสียงครั้งหนึ่ง ตรงกับ ‘พยางค์’ ในภาษาไทย จึงเป็น ๘,๐๐๐ พยางค์; จะเห็นว่า เมื่อถือ ๒๕๐ คาถา เป็น ๑ ภาณวาร จำนวนอักขระจะไม่แน่ลงไปอย่างเดียว เพราะบาทคาถามิใช่มีแต่ ๘ อักขระ ที่มี ๙ หรือ ๑๒ อักขระ เป็นต้น ก็มี)

พระไตรปิฎกบาลี ที่ได้ประมวลไว้และสืบกันมา โดยผ่านการสังคายนาและความทรงจำนั้น อาศัยการสาธยายเป็นวิธีดำรงรักษาที่สำคัญ ดังที่ท่านบันทึกการจัดแบ่งพระไตรปิฎกไว้เป็นภาณวาร (เช่น ที.อ.๑/๐/๑๒) เช่น ใน พระวินัยปิฎก อุภโตวิภังค์ (มหาวิภังค์ และภิกขุนีวิภังค์) มี ๖๔ ภาณวาร ขันธกะ ๘๐ ภาณวาร ปริวาร ๒๕ ภาณวาร, ในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มี ๖๔ ภาณวาร มัชฌิมนิกาย ๘๐ ภาณวาร สังยุตตนิกาย ๑๐๐ ภาณวาร อังคุตตรนิกาย ๑๒๐ ภาณวาร (ขุททกนิกายประกอบด้วยคัมภีร์ปลีกย่อยเป็นอันมาก ท่านไม่ได้จาระไนตัวเลขไว้ ส่วนพระอภิธรรมปิฎก แต่ละคัมภีร์มีการสาธยายทำนองบอกหนังสือ กับการแจกแจงอย่างพิสดาร ซึ่งต่างกันมากมาย ท่านจึงบอกไว้เพียงคร่าวๆ)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *