บาลีวันละคำ

อาสภิวาจา (บาลีวันละคำ 3,270)

อาสภิวาจา

วาจาของยอดคน

อ่านว่า อา-สะ-พิ-วา-จา

ประกอบด้วยคำว่า อาสภิ + วาจา

(๑) “อาสภิ

อ่านว่า อา-สะ-พิ รูปคำเดิมเป็น “อาสภี” (อา-สะ-พี, –ภี สระ อี) รากศัพท์มมาจาก อาสภ + อี ปัจจัย

(ก) “อาสภ” อ่านว่า อา-สะ-พะ รากศัพท์มาจาก อุสฺ (ธาตุ = เร่าร้อน) + อภ ปัจจัย, แปลง อุ ที่ อุ-(สฺ) เป็น อา (อุสฺ > อาส)

: อุสฺ + อภ = อุสภ > อาสภ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังธรรมที่เป็นข้าศึกให้เร่าร้อน

อาสภ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ความหมายตรงตัว: โคตัวผู้, มีลักษณะเฉพาะของโคผู้, อย่างโคผู้ (a bull, peculiar to a bull, bull-like),

(2) ความหมายเชิงอุปมา: คนที่เข้มแข็งและมีคุณลักษณะเด่น, วีรบุรุษหรือคนที่ยิ่งใหญ่, ผู้นำ (a man of strong & eminent qualities, a hero or great man, a leader)

ข้อสังเกต :

อาสภ” แปลงมาจาก “อุสภ” หมายถึง โคตัวผู้ (a bull) และใช้ในความหมายเชิงอุปมาเป็นเครื่องหมายของความเป็นเพศผู้และพละกำลัง (as symbol of manliness and strength)

(ข) อาสภ + อี = อาสภี (อา-สะ-พี) ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง เหมือนโคอุสภะ, งามเหมือนโคอุสภะ, สง่า, ยิ่งใหญ่, องอาจ, กล้าหาญ (bull-like, becoming to a bull, lordly, majestic, imposing, bold)

ในที่นี้ “อาสภี” เป็นคุณศัพท์ (วิเสสนะ) ของ “วาจา

(๒) “วาจา

รากศัพท์มาจาก วจฺ (ธาตุ = พูด) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ที่ -(จฺ) เป็น อา ตามสูตร “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” (วจฺ > วาจ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตฺถีลิงค์

: วจฺ + = วจณ > วจ > วาจ + อา = วาจา แปลตามศัพท์ว่า “คำอันเขาพูด” หมายถึง คำพูด การกล่าว, การพูด, วาจา (word, saying, speech)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วาจา : (คำนาม) ถ้อยคํา, คํากล่าว, คําพูด, เช่น วาจาสุภาพ วาจาอ่อนหวาน วาจาสัตย์. (ป., ส.).”

อาสภี + วาจา = อาสภีวาจา รัสสะ อี เป็น อิ = อาสภิวาจา แปลว่า “ถ้อยคำที่กล่าวอย่างองอาจ” (the lordly word)

ขยายความ :

อาสภิวาจา” เป็นวาจาของผู้ที่กล่าวออกมาอย่างองอาจ กล้าหาญอย่างที่เรียกว่าบันลือสีหนาท ประกาศอย่างมั่นใจ ไม่ลังเล ไม่มีปมซ่อนเร้น ไม่มีแผล ไม่มีจุดอ่อนที่จะให้ใครหักล้าง โต้แย้ง โจมตี ต่างจากวาจาของคนมีแผล มีลับลมคมใน พูดอะไรก็พูดได้ไม่เต็มปาก เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าตนเองซุกซ่อนอะไรไว้

อาสภิวาจา” ครั้งสำคัญในพุทธประวัติมีขึ้นในวันที่พระโพธิสัตว์ซึ่งต่อมาได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ประสูติจากพระครรภ์พระมารดาในวันเพ็ญวิสาขะ ทรงเปล่งพระวาจาตามที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎกข้อความเป็นดั่งนี้

…………..

อาสภิญฺจ  วาจํ  ภาสติ  อคฺโคหมสฺมิ  โลกสฺส  เชฏฺโฐหมสฺมิ  โลกสฺส  เสฏฺโฐหมสฺมิ  โลกสฺส  อยมนฺติมา  ชาติ  นตฺถิทานิ  ปุนพฺภโวติ.  

แลพระกุมารทรงเปล่งพระวาจาอย่างผู้องอาจว่า เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นผู้ใหญ่สุดแห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐสุดแห่งโลก การเกิดครั้งนี้เป็นชาติสุดท้าย แต่บัดนี้ไปภพชาติใหม่เป็นไม่มี ดังนี้

ที่มา:

– มหาปทานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค

พระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 26

– อัจฉริยัพภูตธัมมสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

พระไตรปิฎกเล่ม 14 ข้อ 377

– ลักขณกถา อภิธัมมปิฎก กถาวัตถุ

พระไตรปิฎกเล่ม 37 ข้อ 964

…………..

ในพระไตรปิฎกใช้คำว่า “อาสภิญฺจ  วาจํ  ภาสติ” แปลว่า “เปล่งพระวาจาอย่างผู้องอาจ” (speak the lordly word)

อาสภิญฺจ  วาจํ” เป็นบทที่แจกด้วยทุติยาวิภัตติ รูปคำเดิมคือ “อาสภี  วาจา” ซึ่งสมาสกันเป็น “อาสภิวาจา

…………..

อาสภิวาจา

พุทธบูชาในวันเพ็ญวิสาขะ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: หากยังไม่เก่งพอที่จะประกาศก้องโลกว่า “ข้าจะทำความดี”

: ก็ขอให้กล้าพอที่จะประกาศให้โลกรู้ว่า “ข้าจะไม่ทำชั่ว”

#บาลีวันละคำ (3,270)

26-5-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *