อินฺท (บาลีวันละคำ 200)
อินฺท
อ่านว่า อิน-ทะ
“อินฺท” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กระทำความเป็นใหญ่ยิ่ง” “ผู้ประกอบด้วยความยิ่งใหญ่” หมายถึง ผู้เป็นเจ้า, ผู้เป็นใหญ่, ผู้ยิ่งใหญ่, ผู้เป็นหัวหน้า, จอม, เจ้า, พระราชา
ในภาษาไทยใช้ว่า “อินท์” หรือ “อินทร์” (อิน) มักพูดหรือเขียนว่า “พระอินทร์” เป็นคำที่คนไทยคุ้นและเข้าใจกันในความหมายว่า เทวราชผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เวลาผู้มีบุญในโลกมนุษย์เดือดร้อน พระอินทร์จะลงมาช่วย
มนุษย์สามารถสมัครสอบเข้าเป็นพระอินทร์ได้ ข้อสอบมี 7ข้อ คือ –
1. มาตาเปติภโร เลี้ยงมารดาบิดา
2. กุเลเชฏฺฐาปจายี เคารพผู้ใหญ่ในตระกูล
3. สณฺหวาโจ พูดคำสุภาพอ่อนหวาน
4. อปิสุณวาโจ หรือ เปสุเณยฺยปฺปหายี ไม่พูดส่อเสียด พูดสมานสามัคคี
5. ทานสํวิภาครโต หรือ มจฺเฉรวินโย ชอบเผื่อแผ่ให้ปัน ปราศจากความตระหนี่
6. สจฺจวาโจ มีวาจาสัตย์
7. อโกธโน หรือ โกธาภิภู ไม่โกรธ ระงับความโกรธได้
รู้จักพระอินทร์ รู้วิธีที่จะเป็นพระอินทร์แล้ว
ใครอยากเป็นพระอินทร์ ขอเชิญ “ทำข้อสอบ” โดยทั่วกันเทอญ
—————
(ขอบพระคุณ Supachoke Thaiwongworakool ที่กรุณาตั้งคำถามอันเป็นที่มาของ “บาลีวันละคำ” วันนี้)
บาลีวันละคำ (200)
24-11-55
อินฺท = จอม, เจ้า, ผู้ยิ่งใหญ่, ผู้เป็นใหญ่, พระอินทร์ (ศัพท์วิเคราะห์)
– อินฺทติ ปรมิสฺสริยํ กโรตีติ อินฺโท ผู้เป็นใหญ่ยิ่ง (ผู้กระทำความเป็นใหญ่ยิ่ง)
อิทิ ธาตุ ในความหมายว่าเป็นใหญ่ยิ่ง นิตหิตอาคม อ ปัจจัย
– อินฺทติ ปรมิสฺสริเยน ยุชฺชเตติ อินฺโท ผู้ประกอบด้วยความยิ่งใหญ่
อินฺท ธาตุ ในความหมายว่าประกอบ อ ปัจจัย
อินฺท ป. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)
พระอินทร์, ผู้เป็นจอม.
อินฺท (บาลี-อังกฤษ)
พระอินทร์, ผู้เป็นเจ้า, ผู้เป็นหัวหน้า, พระราชา
อินทร์ (ประมวลศัพท์)
ผู้เป็นใหญ่, จอมเทพ, ชื่อเทวราชผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และมีอำนาจบังคับบัญชาเหนือเทพชั้นจาตุมหาราชิกา; เรียกตามนิยมในบาลีว่า ท้าวสักกะ; ดู ดาวดึงส์, วัตรบท ๗, จาตุมหาราชิกา
อินท์
น. ชื่อเทวราชผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และชั้นจาตุมหาราช, พระอินทร์; ผู้เป็นใหญ่. (ป.; ส. อินฺทฺร).
อินทร-, อินทร์
[อินทะ-, อินทฺระ-, อิน] น. ชื่อเทวราชผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และชั้นจาตุมหาราช; ผู้เป็นใหญ่. (ส.; ป. อินฺท).
มฆวัน, มัฆวา, มัฆวาน
[มะคะ-, มักคะ-] น. พระอินทร์. (ส. มฆวนฺ; ป. มฆวา).
สหัสนัยน์, สหัสเนตร
[สะหัดสะ-] น. พันตา หมายถึง พระอินทร์. (ป. สหสฺสเนตฺต, สหสฺสนยน; ส. สหสฺรเนตฺร, สหสฺรนยน).
สกฺก ป. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)
สักกะ, พระนามจอมเทพในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เรียกกันว่า ท้าวสักกะ หรือพระอินทร์; ชื่อดงไม้ที่อยู่ในชมพูทวีปตอนเหนือ แถบเขาหิมาลัยในเขตป่าหิมพานต์, ชื่อชนบทที่ตั้งอยู่ในดงไม้สักกะ, ชื่อกษัตริย์พวกหนึ่ง ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าโอกกากราชซึ่งเป็นผู้สร้างและครองกรุงกบิลพัสดุ์ พระพุทธเจ้าก็เป็นกษัตริย์วงศ์นี้; ศากยะ เป็นคำสันสกฤต เรียกอย่างบาลีเป็น สักกะ บ้าง, สักยะ บ้าง, สากิยะ บ้าง, ศากยะ หรือสักกะนี้ ใช้เป็นคำเรียกชื่อถิ่นหรือแคว้นของพวกเจ้าศากยะด้วย
วัตรบท (ประมวลศัพท์)
หลักปฏิบัติ หรือข้อที่ถือปฏิบัติประจำ ๗ ข้อ ที่ทำให้มฆมาณพได้เป็นท้าวสักกะหรือพระอินทร์คือ
๑. มาตาเปติภโร เลี้ยงมารดาบิดา
๒. กุเลเชฏฺฐปจายี เคารพผู้ใหญ่ในตระกูล
๓. สณฺหวาโจ พูดคำสุภาพอ่อนหวาน
๔. อปิสุณวาโจ หรือ เปสุเณยฺยปฺปหายี ไม่พูดส่อเสียด พูดสมานสามัคคี
๕. ทานสํวิภาครโต หรือ มจฺเฉรวินโย ชอบเผื่อแผ่ให้ปัน ปราศจากความตระหนี่
๖. สจฺจวาโจ มีวาจาสัตย์
๗. อโกธโน หรือ โกธาภิภู ไม่โกรธ ระงับความโกรธได้
วตฺต นป. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)
วัตร, หน้าที่, การปฏิบัติ.
วตฺต (บาลี-อังกฤษ)
– สิ่งที่ท, สิ่งที่ดเนินไป หรือเป็นกิจวัตร คือหน้าที่, การบริการ, ประเพณี, งาน
– (แทน วต) การปฏิบัติหรือบเพ็ญ, การปฏิญญา, คุณความดี
ปท นป. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)
บท, คำพูด; เท้า, รอยเท้า, ก้าว; ทาง; เหตุ, มูลเค้า, เหตุผล;สถานที่, ที่ควรดำเนินให้ถึง, นิพพาน.
วัตร, วัตร-
[วัด, วัดตฺระ-] น. กิจพึงกระทํา เช่น ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น, หน้าที่ เช่น ข้อวัตรปฏิบัติ, ธรรมเนียม เช่น ศีลาจารวัตร; ความประพฤติ เช่น พระราชจริยวัตร, การปฏิบัติ เช่น ธุดงควัตร อุปัชฌายวัตร, การจำศีล. (ป. วตฺต; ส. วฺฤตฺต).
บท ๑, บท- ๑
[บด, บดทะ-] น. ข้อความเรื่องหนึ่ง ๆ หรือตอนหนึ่ง ๆ เช่น บทที่ ๑ บทที่ ๒; กําหนดคําประพันธ์ที่ลงความตอนหนึ่ง ๆ เช่น โคลง ๔ สุภาพ ๔ บาท เป็น ๑ บท; คําที่ตัวละครพูด เช่น บอกบท; คําประพันธ์ที่เขียนขึ้นสําหรับเล่นละคร มีทั้งบทร้องและบทเจรจา เช่น บอกบท เขียนบท; คราว, ตอน, ในคําเช่น บทจะทําก็ทํากันใหญ่ บทจะไปก็ไปเฉย ๆ บทจะตายก็ตายง่ายเหลือเกิน. (ป. ปท).
บท ๒, บท- ๒
(แบบ) เท้า, รอยเท้า, เช่น จตุบท, ในบทกลอนใช้ประสมกับคําอื่น ๆ หมายความว่า เท้า คือ บทบงกช บทบงสุ์ บทมาลย์ บทรัช บทศรี บทเรศ, (ดูคําแปลที่คํานั้น ๆ). (ป. ปท).