บาลีวันละคำ

กัมมสัทธา (บาลีวันละคำ 1,680)

กัมมสัทธา

เชื่อว่าความสำเร็จต้องมาจากการลงมือทำเหตุ

มิใช่ด้วยวิธีพิเศษคือการอ้อนวอนขอผล

อ่านว่า กำ-มะ-สัด-ทา

ประกอบด้วย กัมม + สัทธา

(๑) “กัมม

บาลีเขียน “กมฺม” (กำ-มะ) สันสกฤตเป็น “กรฺม” ไทยเขียนอิงสันสกฤตและนิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม

ในที่นี้เขียน “กัมม” ตามรูปบาลี

กัมม” ในแง่ภาษา –

1- รากศัพท์คือ กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย)

2- ลบ รฺ ที่ธาตุ : กรฺ = ก- และ ที่ปัจจัย : รมฺม = -มฺม

3- กร > + รมฺม > มฺม : + มฺม = กมฺม

4- แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำ” “สิ่งที่ทำ

กัมม” ในแง่ความหมาย –

1- การกระทำทั้งปวง เรียกว่า กรรม

2- การถูกทำ, สิ่งที่ถูกทำ, ผลของการกระทำ ก็เรียกว่า กรรม

3- การทำกิจการงาน, การประกอบอาชีพ ก็เรียกว่า กรรม

4- พิธีกรรม, พิธีการต่างๆ ก็เรียกว่า กรรม

กัมม” ในแง่ความเข้าใจ –

1- กฎแห่งกรรม คือ “ทำดี-ดี ทำชั่ว-ชั่ว ดุจปลูกพืชชนิดใด ต้องเกิดผลดอกใบของพืชชนิดนั้น

2- กรรมมี 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นผล คือสภาพทั้งปวงที่เรากำลังเผชิญหรือประสบอยู่ และส่วนที่เป็นเหตุ คือสิ่งที่เรากำลังกระทำอยู่ในบัดนี้ ซึ่งจะก่อให้เกิดส่วนที่เป็นผลในลำดับต่อไป (ผู้ที่ไม่เข้าใจ เมื่อมอง “กรรม” มักเห็นแต่ส่วนที่เป็นผล แต่ไม่เห็นส่วนที่เป็นเหตุ)

3- กรรม เป็นสัจธรรม ไม่ขึ้นกับความเชื่อหรือความเข้าใจของใคร ไม่ว่าใครจะเชื่ออย่างไรหรือไม่เชื่ออย่างไร กรรมก็เป็นจริงอย่างที่กรรมเป็น

(๒) “สัทธา

ภาษาไทยนิยมใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ศรัทธา” ในที่นี้เขียนตามรูปบาลี

สทฺธา” รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อม, ดี, ด้วยดี) + ธา (ธาตุ = เชื่อถือ, นับถือ, มอบไว้, ฝากไว้) + อ ปัจจัย, แปลงนิคหิต (ที่ สํ) เป็น ทฺ (สํ > สทฺ)

: สํ > สทฺ + ธา = สทฺธา + = สทฺธา แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่เชื่อถือ” “สิ่งที่เป็นเหตุให้เชื่อถือ” “สิ่งที่เป็นเหตุให้มอบจิตไว้ด้วยดี” หมายถึง ความเชื่อ (faith)

(ดูเพิ่มเติมที่ “ตถาคตโพธิสัทธา” บาลีวันละคำ (1,677) 6-1-60)

กัมม + สัทธา = กัมมสัทธา แปลตามศัพท์ว่า “เชื่อกรรม” หรือ “เชื่อการกระทำ

กัมมสัทธา” เป็นหนึ่งในสัทธา 4 อย่างของชาวพุทธ คือ (1) กัมมสัทธา (2) วิปากสัทธา (3) กัมมัสสกตาสัทธา (4) ตถาคตโพธิสัทธา

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [181] บอกความหมายของ “กัมมสัทธา” ไว้ดังนี้ –

กัมมสัทธา : เชื่อกรรม, เชื่อการกระทำ, เชื่อกฎแห่งกรรม, เชื่อว่ากรรมมีอยู่จริง คือ เชื่อว่าเมื่อทำอะไรโดยมีเจตนา คือ จงใจทำทั้งรู้ ย่อมเป็นกรรม คือ เป็นความดีความชั่วมีขึ้นในตน เป็นเหตุปัจจัยก่อให้เกิดผลดีผลร้ายสืบเนื่องต่อไป การกระทำไม่ว่างเปล่า และเชื่อว่าผลที่ต้องการจะสำเร็จได้ด้วยการกระทำ มิใช่ด้วยอ้อนวอนหรือนอนคอยโชค เป็นต้น (Kammasaddhā: belief in kamma; confidence in accordance with the law of action)

…………..

อภิปราย:

คนไทยส่วนหนึ่ง-ซึ่งน่าจะเป็นส่วนมาก-เมื่อต้องการสิ่งใดๆ ถ้าขอจากคนอื่นได้ มักพอใจที่จะขอมากกว่าที่อยากจะทำเอาเอง บางส่วนดูราวกับจะถือคติว่า “ขอให้คนอื่นทำให้ สบายใจกว่าทำเอง”

ที่ไปไกลว่านั้นก็คือ นอกจากขอกับคนด้วยกันแล้วยังนิยมขอจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ อีกด้วย ผลที่ตามมาอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าไม่ได้สมปรารถนา ก็มักจะติเตียนบ่นว่าสิ่งนั้นไม่ศักดิ์สิทธิ์จริง!

การไม่ทำเอง แต่หวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นการมองข้ามศักยภาพของตัวเองไปอย่างน่าเสียดาย มองอีกแง่หนึ่ง ก็ถือได้ว่าเป็นการดูถูกตัวเองโดยแท้

พระพุทธศาสนาสอนให้มี “กัมมสัทธา” ก็คือสอนให้เชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง ลงมือทำด้วยตัวเอง หากแม้จะไม่สำเร็จผลตามที่ต้องการก็ยังน่าภาคภูมิใจ ทั้งยังเป็นการปิดทางที่คนทั้งหลายจะตำหนิติเตียนได้อย่างเด็ดขาดอีกด้วย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: หน้าที่ของมนุษย์คือลงมือทำ

: หน้าที่ของกรรมคือให้ผล

9-1-60