บาลีวันละคำ

สุขิต (บาลีวันละคำ 3,793)

สุขิต

คนละคำกับ “สู่ขิต”

อ่านแบบคำไทยว่า สุ-ขิด

อ่านแบบคำบาลีว่า สุ-ขิ-ตะ

บาลี “สุขิต” รากศัพท์มาจาก สุข (ความสุข) + อิต (บรรลุถึง)

(๑) “สุข”

บาลีอ่านว่า สุ-ขะ รากศัพท์มาจาก –

(1) สุ (ดี, งาม, สะดวก) + ขมฺ (ธาตุ = อดทน, อดกลั้น) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ และ ม ที่สุดธาตุ

: สุ + ขมฺ = สุขม + กฺวิ = สุขมกฺวิ > สุขม > สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ทนได้ง่าย”

(2) สุ (ดี, งาม, สะดวก) + ขนฺ (ธาตุ = ขุด) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ และ น ที่สุดธาตุ

: สุ + ขนฺ = สุขน + กฺวิ = สุขนกฺวิ > สุขน > สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ขุดความทุกข์ด้วยดี”

(3) สุ (ดี, งาม, สะดวก) + ขาทฺ (ธาตุ = เคี้ยวกิน) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ และ ท ที่สุดธาตุ, ลดเสียง อา ที่ ขา-(ทฺ) เป็น อะ

: สุ + ขาทฺ = สุขาท + กฺวิ = สุขาทกฺวิ > สุขาท > สุขา > สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่เคี้ยวกินความทุกข์ด้วยดี”

(4) สุขฺ (ธาตุ = สุขสบาย) + อ (อะ) ปัจจัย

: สุขฺ + อ = สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ยังบุคคลให้สุขสบาย”

(5) สุ (ง่าย, สะดวก) + ข (โอกาส)

: สุ + ข = สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ให้โอกาสได้ง่าย”

“สุข” เราแปลทับศัพท์กันจนอาจจะไม่เคยคิดว่าหมายถึงอะไร

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สุข” ไว้ดังนี้ –

(1) agreeable, pleasant, blest (เป็นที่พอใจ, รื่นรมย์, ได้รับพร)

(2) wellbeing, happiness, ease (ความผาสุก, ความสุข, ความสบาย)

(3) ideal, success (อุดมคติ, ความสำเร็จ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“สุข, สุข- : (คำนาม) ความสบายกายสบายใจ เช่น ขอให้อยู่ดีมีสุข เกิดมาก็มีสุขบ้างทุกข์บ้าง, มักใช้เข้าคู่กับคำ เป็น เช่น ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข ขอให้เป็นสุข ๆ นะ. (คำวิเศษณ์) สบายกายสบายใจ เช่น เดี๋ยวนี้เขาอยู่สุขสบายดี. (ป., ส.).”

(๒) “อิต”

บาลีอ่านว่า อิ-ตะ รากศัพท์มาจาก อิ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ต ปัจจัย

: อิ + ต = อิต แปลตามศัพท์ว่า “ไปแล้ว” “ถึงแล้ว” (gone, reached) ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง ผู้ถึง, ผู้ไปถึง, ผู้บรรลุถึง

: สุข + อิต = สุขิต (สุ-ขิ-ตะ) แปลว่า “ผู้บรรลุถึงความสุข”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สุขิต” ว่า happy, blest, glad (เป็นสุข, ได้รับพร, ดีใจ)

ขยายความ :

คำว่า “สุขิต” ที่เราพูดกันเป็นคำบาลี แต่อาจจะไม่ได้นึกถึงคำนี้ มีอยู่ในคำกรวดน้ำที่มักเรียกกันว่า “คำกรวดน้ำย่อ” คือ

“อิทํ เม ญาตินํ โหตุ

สุขิตา โหนฺตุ ญาตโย.”

(อิทัง เม ญาตินัง โหตุ

สุขิตา โหนตุ ญาตะโย)

“สุขิตา” ในคำกรวดน้ำนี้ก็คือ “สุขิต” นี่เอง

“สุขิต” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) พหุวจนะ (พหูพจน์) ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “สุขิตา”

แปลยกศัพท์ :

อิทํ (ปุญฺญํ) = อันว่าบุญนี้

โหตุ = จงมี (คือจงถึง)

ญาตินํ = แก่ญาติทั้งหลาย

เม = ของข้าพเจ้า

(ขอบุญนี้จงถึงแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า)

ญาตโย = อันว่าญาติทั้งหลาย

สุขิตา = เป็นผู้มีความสุข

โหนฺตุ = จงเป็น

(ขอญาติทั้งหลายจงเป็นผู้มีความสุข)

สรุปว่า “สุขิต” แปลว่า “ผู้มีความสุข”

ครั้งหนึ่ง มีคนเขียนคำว่า “สู่ขิต” เป็นคำตลกล้อเลียน ถ้าสังเกตรูปคำจะเห็นว่าใกล้เคียงคำว่า “สุขิต” มากทีเดียว ผู้เขียนหรือคิดคำว่า “สู่ขิต” ขึ้นมาจะได้รูปคำเช่นนี้มาจากไหนไม่ทราบ ผู้เขียนบาลีวันละคำยังไม่เคยได้ยินคำอธิบายจากตัวเจ้าของคำตรงๆ ได้ยินแต่คนอื่นๆ อธิบายกันไปตามความเข้าใจของผู้อธิบาย

ถ้าจะให้สันนิษฐาน ผู้เขียนบาลีวันละคำเข้าใจว่าคงเพี้ยนมาจากคำว่า “สู่สุคติ” ซึ่งคนส่วนมากเข้าใจผิด เขียนเป็น “สู่สุขคติ” (โปรดสังเกตว่าต่างกันตรงไหน) คงจะมีคนพูดตั้งใจพูดว่า “สู่สุคติ” นั่นแหละ แต่พูดรัวพูดเร็ว หรือพูดแบบคนพูดไม่ชัด “สู่สุคติ” เปล่งเสียงออกมาแล้วมีคนได้ยินเป็น “สู่ขิต” แล้วก็เลยจับเอามาเขียนเป็นคำตลก

ไม่ว่า “สู่ขิต” จะมาอย่างไรไปอย่างไร ก็ควรมองให้ได้สาระ

เช่น ได้ความรู้ว่า “สู่ขิต” เป็นคนละคำกับ “สุขิต” ในภาษาบาลี แม้รูปคำจะคล้ายกัน แต่ก็ไม่ใช่คำเดียวกัน

“สุขิต” ภาษาบาลีแปลว่า “มีความสุข” แต่ “สู่ขิต” เป็นภาษาอะไรและแปลว่าอะไร ผู้สนใจใครรู้ ต้องไปสืบเสาะหาที่มาและหาความรู้กันต่อไป

ที่ควรได้คติอันเป็นสาระอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทั้งผู้สื่อสาร ทั้งผู้รับสาร พากันสนใจเอาคำว่า “สู่ขิต” มาเขียนมาพูดกันอย่างสนุกสนานอยู่พักหนึ่ง แต่วันนี้ไม่มีใครสนใจคำนี้กันอีกแล้ว

เหลียวหลังไปดูสิ่งที่เราทำกันมา-คือการฮือฮากันเป็นพักๆ เราได้อะไรที่เป็นสาระจริงๆ กันบ้างหรือไม่

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนพาล อาศัยสรีระอันไร้สาระนี้

แสวงหาสุขอันไร้สาระยิ่งขึ้นไปอีก

: บัณฑิต อาศัยสรีระอันไร้สาระนี้

แสวงหาพระนิพพานอันเป็นสุขที่แท้จริง

#บาลีวันละคำ (3,793)

31-10-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *