เกือบตกนรกเพราะตัวเลข
ผมเดินออกกำลังเมื่อเช้านี้ (๒ สิงหาคม ๒๕๕๘) เอาธนบัตรใส่กระเป๋ากางเกงไป ๒ ใบ
หาทางผ่านเข้าไปในวัด ไหว้พระ ใส่ตู้บริจาคไปใบหนึ่ง
ขากลับผ่านมาทางสำนักงานการประปาเทศบาลเมืองราชบุรี
วันก่อนผมติดเคารพเพลงชาติตอนสองโมงอยู่ตรงนี้
วันนี้วันอาทิตย์ เสียงตามสายของเทศบาลงดกระจายเสียง
ตรงนั้น-คนละฟากถนนมีร้านกล้วยแขกเจ้าเก่าอยู่ร้านหนึ่ง
การเลือกกล้วยและฝีมือทอดกล้วย ใช้ได้
เดินผ่านหน้าร้านไปสามก้าว นึกถึงอาจารย์ที่บ้านว่าท่านเคยชอบกินกล้วยแขก (เจ้าเก่าเจ้านี้) ผมก็เลยถอยกลับ
หน้าร้านไม่มีลูกค้า คงเพราะยังเช้าอยู่ มีสาวคนขายยืนจัดของอยู่คนหนึ่ง
มองไปทางหลังร้านมีอีกสาวหนึ่งกำลังทอดกล้วย
ผมแจ้งความประสงค์ซื้อกล้วยทอดปนกับมันทอด ๓๐ บาท
“เอาเยอะๆ”
ผมแถมประโยคนี้ไปด้วย-เป็นประโยคที่ผมชอบพูดเมื่อเติมน้ำมันที่สถานีบริการ เด็กปั๊มมักจะยิ้มกับคำพูดนี้ เพราะรู้นัยแห่งคำพูดดีว่า เยอะหรือไม่เยอะย่อมขึ้นอยู่กับจำนวนเงิน
คนขายตักกล้วยทอดมันทอดใส่ถุงส่งให้
ผมยื่นธนบัตรที่เหลืออีกใบหนึ่งให้
คนขายรับไปแล้วเปิดเก๊ะเพื่อจะทอนเงิน
ปรากฏว่าในเก๊ะไม่มีเงินทอน
เธอเดินไปบอกคนที่กำลังทอดกล้วยอยู่หลังร้าน
ออกมาช่วยกันเปิดเก๊ะ เปิดกระเป๋า ก็ปรากฏว่าไม่มีเงินทอนอยู่นั่นเอง
“แม่ไม่ได้ฝากเงินไว้” เสียงบ่นกันสองคน
คนหลังร้านบอกให้คนหน้าร้านไปขอแลกเงินที่ร้านกาแฟถัดไป
ปรากฏว่าร้านกาแฟไม่มีใบย่อยให้แลก
คนขายบอกว่า “เดี๋ยวจะไปซื้ออะไรชิ้นเล็กๆ ที่ร้านโน้น รอแป๊บ”
“รอแป๊บนึงนะลุง” คนหลังร้านช่วยย้ำ
“หลายแป๊บก็ได้ครับ”
เป็นอีกประโยคหนึ่งที่ผมชอบพูด เพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจ
คนหลังร้านเข้าไปทอดกล้วยที่หลังร้าน
คนหน้าร้านหายไป “ซื้ออะไรชิ้นเล็กๆ ที่ร้านโน้น”
ผมยืนรอ
————-
ขณะนั้นเอง สตรีที่ถูกเอ่ยถึงว่า “แม่” ก็ขี่รถเครื่องเข้ามาจอด
“แม่มาพอดี แม่ทอนตังค์ให้ลุงด้วย ….บาท”
คนที่อยู่หลังร้านตะโกนบอก
สตรีผู้เป็นแม่ควักกระเป๋าออกมา หยิบธนบัตรราคาฉบับละ ๒๐ บาทส่งให้ผม ๔ ใบ แล้วเดินเข้าร้านไป
ผมรับกระดาษ ๔ แผ่นมาถือไว้แล้วเดินออก
สมองกำลังตั้งกระบวนบวกลบคูณหารกันอุตลุด
…. ผมซื้อกล้วยแขกกี่บาท
ผมให้ธนบัตรฉบับราคากี่บาท
และผมจะต้องได้เงินทอนกี่บาท
ตัวเลขกับสมองผมเป็นปฏิปักษ์กันอย่างร้ายแรง
————-
ผมนึกถึงชั่วโมงเลขคณิตสมัยเรียนชั้นประถม
… มีเงิน ๑ บาท ซื้อส้ม ๓ ผล ผลละ ๒๕ สตางค์ เหลือเงินกี่สตางค์
………
ผมซื้อกล้วยแขก ๓๐ บาท
ให้ธนบัตรราคา ๑๐๐ บาทไปหนึ่งใบ
ผมได้เงินทอนเป็นธนบัตรราคาฉบับละ ๒๐ บาท ๔ ใบ
เป็นเงินกี่บาท – ๘๐
เอา ๘๐ ไปลบ ๑๐๐ – เหลือ ๒๐
ผมซื้อกล้วยแขกไป ๓๐
เอา ๓๐ ไปลบ ๑๐๐ – เหลือ ๗๐
คนขายกล้วยแขกทอนให้ผมมา ๘๐
เพราะฉะนั้น ผมจะต้องได้เงินทอนเท่าไร
ตัวเลขกับสมองผมกำลังสัประยุทธ์กันอย่างดุเดือด
ผมหยุดเดิน ยืนงงอยู่ตรงนั้นพักใหญ่
มันต้องมีอะไรผิดปกติสักอย่าง
ผมตัดสินใจถือธนบัตรฉบับราคา ๒๐ บาท ๔ ใบ หันหลังกลับ ไปถึงหน้าร้าน ร้องบอกไปว่า
“ผมซื้อกล้วยแขก ๓๐ บาทนะครับ”
บอกไปแล้วผมก็ยังไม่หายงงว่าจะทักท้วงเรื่องอะไร
“อ๋อ งั้นเดี๋ยวหนูให้ลุง ๑๐ บาท ลุงคืนให้หนูมา ๒๐ บาท”
สตรีผู้เป็นแม่ค้นเงินเหรียญมาส่งให้ผม
ผมยื่นธนบัตรคืนไปใบหนึ่ง
ผมเดินมาจนเกือบถึงบ้าน เครื่องประมวลผลในสมองจึงรายงานตัวเลขว่า เขาทอนเงินเกินมา ๑๐ บาท
ถ้าผมถือเงิน ๘๐ บาทกลับมาถึงบ้านโดยไม่คิดอะไรเลย
อะไรจะเกิดขึ้น
รู้สึกเหมือนเพิ่งรอดจากการตกเหวไปอย่างหวุดหวิด!
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒ สิงหาคม ๒๕๕๘