พระพุทธศาสนาอยู่ที่ใจ
วิสาขบูชาปีนี้เป็นอีกปีหนึ่งที่ผมไม่ได้ไปทำกิจกรรมเต็มรูปที่วัดมหาธาตุราชบุรีสำนักที่ให้กำเนิด ได้แต่ไปทำบุญตอนเช้าตามปกติของวันพระ แล้วก็กลับบ้าน
ปกติ วิสาขบูชาของวัดมหาธาตุทำกันเต็มรูป คือเช้าทำบุญ สายฟังเทศน์ บ่ายสวดมนต์ ค่ำเวียนเทียน แล้วฟังเทศน์พุทธประวัติสลับสวดวิสาขคาถา และสนทนาธรรมตลอดคืน เช้าทำวัตรสวดมนต์แล้วกลับบ้าน
ตั้งแต่โควิดระบาด กิจกรรมเต็มรูปต้องงดไป ทำเท่าที่พอจะทำได้
สำหรับชาวบ้านทั่วไป ผมเข้าใจว่า ไม่ว่าจะวิสาขบูชาหรือวันสำคัญอื่นๆ มีความหมายพิเศษเพียงอย่างเดียว คือได้ไปเวียนเทียน
เพราะฉะนั้น โควิดระบาดก็ทำให้ขาดกิจกรรมไปอย่างเดียวคือไม่ได้เวียนเทียน ก็ไม่รู้ว่าการที่ไม่ได้เวียนเทียนนี่ใครรู้สึกอย่างไรกันบ้าง
การที่-เวียนเทียนกลายเป็นกิจกรรมพิเศษเพียงอย่างเดียวของวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาทำให้น่าคิด คือน่าคิดว่า วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเราทำกันแค่เวียนเทียนเท่านั้นเองหรือ (ไม่นับทำบุญ ตักบาตร ถือศีล ฟังเทศน์ ซึ่งเราทำกันอยู่แล้วทุกวันพระ)
แล้วถ้าตามไปดูบรรยากาศขณะเวียนเทียนก็จะยิ่งน่าคิดหนักเข้าไปอีก คือเราทำกันแบบเอียงไปข้างกิจกรรมสังสรรค์บันเทิง ได้มาเจอคนนี้คนนั้น เดินถือเทียนคุยกันไปอย่างสนุกสนาน และคุยกันทุกเรื่องยกเว้นเรื่องความสำคัญของวันนั้นๆ
ถ้าวิสาขบูชาและวันสำคัญอื่นๆ มีความหมายพิเศษเพียงแค่เวียนเทียน การที่งดจัดงานจะว่าไปก็แทบจะไม่มีผลอะไร เว้นไว้แต่ใครจะมองว่า การได้มาเจอคนนี้คนนั้น แล้วเดินถือเทียนคุยกันไปนั่นแหละคือการประกาศให้โลกรู้ว่าวันนี้และวันนั้นเป็นวันสำคัญของพระพุทธศาสนา คืออย่างน้อยเราก็ได้โชว์รูปแบบ ส่วนเนื้อหาข้างในก็แล้วแต่ความสนใจของแต่ละคน ไปแสวงหากันเอาเอง
มีศาสนาเอาไว้โชว์รูปแบบ ผมว่ามันก็จำเป็นอยู่นะ อย่างที่เขาเรียกกันว่า “สร้างภาพ” ถ้ามันเงียบเชียบไปหมด ไม่มีภาพอะไรออกมาบ้างเลย มองแบบการเมืองคะแนนอาจตกได้
แล้วถ้าเกิดต้องงดกิจกรรมกันต่อไปเรื่อยๆ จะทำอย่างไรกัน โลกจะลืมไปหรือเปล่าว่าประเทศไทยยังมีพระพุทธศาสนาอยู่
คนที่เข้าถึงหลักพระศาสนาแล้วคงไม่มีปัญหาอะไรเลย แต่คนรุ่นใหม่นี่ผมไม่แน่ใจว่าจะมีสักเท่าไรที่เข้าใจเข้าถึง
อย่างเรื่อง “ทาน” ถ้าเราใส่บาตรอยู่ทุกวัน บริจาคนั่นนี่โน่นอยู่ทุกวัน ก็ไม่ต้องห่วงว่าวันพระจะไปวัดไม่ได้ จะไม่ได้ทำบุญ
เรื่อง “ศีล” ถ้าเราสำรวมการกระทำคำพูด งดเว้นอกุศลอยู่แล้วทุกวัน ก็ไม่ต้องเป็นห่วงว่าวันพระจะไม่ได้ไปวัด จะไม่ได้ถือศีล
เรื่อง “ภาวนา” ถ้าเราสวดมนต์ไหว้พระทุกวัน เจริญพระกรรมฐานทุกวัน เจริญสติอยู่ตลอดเวลา ก็ไม่ต้องห่วงว่าจะไม่ได้ไปปฏิบัติธรรมที่วัด หรือที่โน่นที่นั่นที่จัดปฏิบัติธรรม ๓ วัน ๗ วัน
ตลอดจน-ทุกครั้งที่เข้าไปทำกิจธุระอะไรในวัด ก่อนกลับเราก็เดินประทักษิณพระสถูปเจดีย์โบสถ์วิหารที่ประดิษฐานพระปฏิมา ๓ รอบ เป็นการแสดงความเคารพตามวัฒนธรรมของชาวชมพูทวีปซึ่งชาวพุทธรับมาปฏิบัติเพราะเห็นว่าดีงาม เราทำอยู่แล้วเสมอ ก็ไม่ต้องเป็นห่วงว่าวิสาขะมาฆะอาสาฬหะปีนี้หรือปีไหนจะไม่ได้ไปเวียนเทียน เพราะเราเวียนอยู่บ่อยๆ แล้วทุกครั้งที่ไปวัด
คนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยศึกษารากเดิมของเวียนเทียนย่อมจะไม่เข้าใจเลยว่า เวียนเทียนมีกำเนิดมาจาก-เมื่อไปสู่คารวสถานหรือไปหาครุฐานียบุคคล และเมื่อจะกลับก็จะทำประทักษิณคือเดินเวียนขวา ๓ รอบ เป็นการแสดงความเคารพ แล้วจึงกลับ
เดินเวียนขวา ๓ รอบนั่นแหละ คลี่คลายขยายตัวมาเป็นเวียนเทียนที่เราทำกันอยู่เมื่อถึงวันสำคัญทางพระศาสนา
เดินประทักษิณพระสถูปเจดีย์โบสถ์วิหารที่ประดิษฐานพระปฏิมา ๓ รอบก่อนออกจากวัดนี่ ทุกวันนี้ไม่มีใครทำกันแล้ว
ไม่ทำ เพราะไม่รู้ธรรมเนียม
ไม่รู้ธรรมเนียม เพราะไม่ได้เรียน
ไม่ได้เรียน เพราะไม่เห็นความสำคัญหรือความจำเป็นอะไรที่จะต้องเรียนที่จะต้องรู้
เพราะฉะนั้น พอถึงวันสำคัญไปเวียนเทียน ก็เข้าใจได้อย่างเดียวว่าเวียนเทียนแล้วได้บุญ แต่ทำไมจึงได้บุญ ไม่รู้ ไม่อยากรู้ รู้ว่าได้บุญอย่างเดียวเท่านั้นพอ อย่าถาม รำคาญ จบ
เมื่อไม่สะดวก ไม่เป็นโอกาส เพราะโรคระบาดยังระเบิด ก็ต้องถือเอาประโยชน์ที่เป็นสาระในพระศาสนาให้ได้ ไม่ใช่รอแต่จะทำกิจกรรมเมื่อถึงวันสำคัญท่าเดียว
และเมื่อถึงวันสำคัญที่จะต้องทำกิจกรรม ก็ต้องพร้อมใจกันทำ ไม่ใช่อ้างว่า-พระพุทธศาสนาไม่ได้อยู่ที่การเวียนเทียน พระพุทธศาสนาอยู่ที่ใจ
พระพุทธศาสนาที่เป็นรูปแบบ โชว์เปลือกนอกก็ยังจำเป็นต้องมี ไปบอกว่าพระพุทธศาสนาอยู่ที่ใจ ถ้าเกิดมีคนกวาดพระพุทธศาสนาออกไปจากเมืองไทยหมด จะทำอย่างไรกัน
หรือยังจะบอกว่าไม่เป็นไร-พระพุทธศาสนาอยู่ที่ใจ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔
๑๓:๑๐