บาลีวันละคำ

บรมโพธิสมภาร (บาลีวันละคำ 1,643)

บรมโพธิสมภาร

อ่านว่า บอ-รม-มะ-โพ-ทิ-สม-พาน

ประกอบด้วย บรม + โพธิ + สมภาร

(๑) “บรม

บาลีเป็น “ปรม” อ่านว่า ปะ-ระ-มะ รากศัพท์มาจากหลายทาง แสดงในที่นี้พอเป็นตัวอย่าง :

(1) ปร (ข้าศึก) + มรฺ (ธาตุ = ตาย) + กฺวิ ปัจจัย ลบที่สุดธาตุ และลบปัจจัย

: ปร + มรฺ = ปรมร + กฺวิ = ปรมรกฺวิ > ปรม แปลตามศัพท์ว่า “ยังธรรมอันเป็นข้าศึกให้ตาย

(2) (ทั่วไป) + รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + ปัจจัย, ลบ

: + รมฺ = ปรม + = ปรมณ > ปรม แปลตามศัพท์ว่า “ยินดีในความยิ่งใหญ่

(3) ปรฺ (ธาตุ = รักษา) + ปัจจัย

: ปร + = ปรม แปลตามศัพท์ว่า “รักษาความสูงสุดของตนไว้

ปรม” หมายถึง สูงสุด, พิเศษสุด, เป็นเลิศ, ดีที่สุด (highest, most excellent, superior, best)

ปรม” ที่ใช้ภาษาไทยว่า “บรม” (บอ-รม) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บรม, บรม– : (คำวิเศษณ์) อย่างยิ่ง, ที่สุด, (มักใช้นําหน้าคําที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า พระเจ้าแผ่นดิน และพระอัครมเหสี เป็นต้น เพื่อแสดงพระเกียรติยศยิ่งใหญ่) เช่น บรมศาสดา บรมบพิตร บรมราชินี บรมมหาราชวัง. (ป., ส. ปรม); (ภาษาปาก) อย่างที่สุด เช่น โง่บรม บรมขี้เกียจ”

(๒) “โพธิ

บาลีอ่านว่า โพ-ทิ รากศัพท์มาจาก พุธฺ (ธาตุ = รู้) + อิ ปัจจัย, แผลง อุ ที่ พุ-(ธฺ) เป็น โอ (พุธฺ > โพธ)

: พุธฺ + อิ = พุธิ > โพธิ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติเป็นเครื่องรู้

โพธิ” ในบาลีหมายถึง ความรู้อันยอดเยี่ยม, การตรัสรู้, ความรู้ที่พระพุทธเจ้าทรงมี (supreme knowledge, enlightenment, the knowledge possessed by a Buddha)

(๓) “สมภาร

บาลีเป็น “สมฺภาร” อ่านว่า สำ-พา-ระ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ภรฺ (ธาตุ = เลี้ยงดู, ทรงไว้) + ปัจจัย, ลบ , แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ), “ทีฆะต้นธาตุด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” : ยืดเสียง อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (ภรฺ > ภาร)

: สํ = สมฺ + ภรฺ = สมฺภรฺ + = สมฺภรณ > สมฺภร > สมฺภาร (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งหรือผู้ที่ช่วยให้ขับเคลื่อนไปได้” (2) “สิ่งที่นำไปด้วยกัน” (3) “สิ่งหรือผู้ที่จะพึงดูแลไปด้วยกัน

สมฺภาร” ในภาษาบาลี ใช้ในความหมายว่า –

(1) การสะสม, การผลิต, การตระเตรียม (accumulation, product, preparation)

(2) วัตถุ, ปัจจัย, ส่วนผสม (ที่นำไปปรุงอาหารเป็นต้น) (materials, requisite ingredients [of food])

(3) ส่วนประกอบ, ธาตุ (constituent part, element)

(4) การนำมารวมกัน, การเรียงลำดับ (bringing together, collocation)

สมฺภาร” ในสันสกฤต สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สมฺภาร : (คำนาม) ‘สัมภาระ,’ สมุหะ, นิกร, สมุทาย; การอุปการะ; สเบียง; ความเต็ม, ความสำเร็จ; อุปกรณ์หรือสามัครี, เครื่องอาศรัย; multitude, heap, assemblage; supporting; provision; fullness, completion; apparatus, necessaries.”

ในภาษาไทย “สมฺภาร” ใช้เป็น 2 คำ คือ :

(1) “สัมภาระ” (สำ-พา-ระ) ใช้ในความหมายว่า สิ่งของต่าง ๆ เช่น เครื่องมือเครื่องใช้และเสบียงซึ่งสะสมรวบรวมหรือจัดเตรียมไว้เพื่อเดินทางไปทำกิจต่าง ๆ เช่น เตรียมสัมภาระสำหรับไปต่างจังหวัด (ตรงกับความหมายที่ว่า “สิ่งที่ช่วยให้ขับเคลื่อนไปได้” หรือ “สิ่งที่นำไปด้วยกัน”)

(2) “สมภาร” (สม-พาน) ใช้ในความหมายว่า พระที่เป็นเจ้าอาวาส คือหัวหน้าสงฆ์ในวัด มีอำนาจและหน้าที่ปกครองดูแลอำนวยกิจการทุกอย่างเกี่ยวกับวัด ข้อนี้น่าจะอนุโลมเข้ากับความหมายที่ว่า “ผู้ที่ช่วยให้ขับเคลื่อนไปได้

การประสมคำ :

ก) โพธิ + สมฺภาร = โพธิสมฺภาร แปลตามศัพท์ว่า “การรวบรวมปัญญาเครื่องตรัสรู้

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “โพธิสมฺภาร” ว่า –

(1) the necessary conditions for obtaining enlightening (ภาวะสำคัญที่จะทำให้บรรลุการตรัสรู้)

(2) conditions necessary for the attainment of bodhi (ปัจจัยที่สำคัญเพื่อบรรลุโพธิญาณ)

โพธิสมฺภาร” มีความหมายรวบยอดว่า “การบำเพ็ญบารมีเพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า”

โพธิสมฺภาร” ในภาษาไทยใช้เป็น “โพธิสมภาร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

โพธิสมภาร : (คำนาม) บุญบารมีของพระมหากษัตริย์.”

ข) ปรม + โพธิสมฺภาร = ปรมโพธิสมฺภาร > บรมโพธิสมภาร แปลตามศัพท์ว่า “การรวบรวมปัญญาเครื่องตรัสรู้อย่างยอดเยี่ยม” หมายถึง การบำเพ็ญบารมี หรือบำเพ็ญคุณธรรมอย่างยอดเยี่ยม เพื่อบรรลุเป้าหมายอันสูงส่งที่พึงประสงค์

…………..

อุดมคติของการปกครอง คือ พระราชาทรงทำหน้าที่รื้อขนพสกนิกรให้ข้ามพ้นสารทุกข์ บรรลุถึงอุดมสุขในการดำรงชีพ ถือว่าเป็นการบำเพ็ญบารมี จึงเรียกการปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งปวงเพื่อความสุขแห่งมหาชนว่า “บรมโพธิสมภาร” ดุจเดียวกับพระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญบรมโพธิสมภารเพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า แล้วรื้นขนเวไนยสัตว์ให้ข้ามสังสารสาคร คือการเวียนตายเวียนเกิดฉะนั้น

ในภาษาไทยมีคำพูดว่า “พึ่งบรมโพธิสมภาร” หมายถึงอยู่ในแผ่นดินไทย หรือผู้คนจากแดนดินถิ่นอื่นเข้ามาอยู่ในแผ่นดินไทย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงแผ่พระบารมีปกเกล้าให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุข

…………..

ดูก่อนภราดา!

: พึ่งบรมโพธิสมภารแห่งพระมหากษัตริย์พระองค์ใด

: พึงพร้อมใจกันถวายพระพรชัย-ขอพระองค์ทรงพระเจริญเทอญ

3-12-59