ครุภัณฑ์ ไม่ใช่ คุรุภัณฑ์ (บาลีวันละคำ 3,273)
ครุภัณฑ์ ไม่ใช่ คุรุภัณฑ์
…………..
ถามว่า คำที่หมายถึงของใช้ประจำสำนักงานที่ใช้แล้วคงรูปคงทนอยู่นาน ไม่ใช่ของสิ้นเปลื้องใช้แล้วหมดไป ของที่ว่านี้มีคำเรียกว่าอะไร?
“ครุภัณฑ์” หรือ “คุรุภัณฑ์”?
คำตอบคือ “ครุภัณฑ์”
ไม่ใช่ “คุรุภัณฑ์”
“ครุภัณฑ์” คำถูก
“คุรุภัณฑ์” คำผิด
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ครุภัณฑ์ : (คำนาม) ของที่ใช้ทนทาน เช่น ตู้ โต๊ะ เก้าอี้.”
พจนานุกรมฯ ไม่ได้เก็บคำว่า “คุรุภัณฑ์” ไว้
มีคำเป็นจำนวนมากที่ควรเก็บ แต่พจนานุกรมฯ ก็ยังไม่ได้เก็บไว้ เพราะพจนานุกรมฯ ยังเก็บคำได้ไม่ครบถ้วน แต่ที่พจนานุกรมฯ ไม่ได้เก็บคำว่า “คุรุภัณฑ์” ไว้ ไม่ใช่เพราะยังเก็บได้ไม่ครบถ้วน หากแต่เป็นเพราะคำว่า “คุรุภัณฑ์” เป็นคำที่ไม่มีที่ใช้ คือเป็นคำที่ไม่ถูกต้องนั่นเอง
หาความรู้ทางภาษา : “ครุ” กับ “คุรุ” มีความหมายต่างกันอย่างไร
(๑) “ครุ” อ่านว่า คะ-รุ ในภาษาบาลีรากศัพท์มาจาก –
(1) ครฺ (ธาตุ = ไหลไป; ลอยขึ้น) + อุ ปัจจัย
: ครฺ + อุ = ครุ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เลื่อนไหลกว้างขวางไป” (2) “ผู้ลอยเด่น”
(2) คิรฺ (ธาตุ = คาย, หลั่ง) + อุ ปัจจัย, ลบสระต้นธาตุ (คิรฺ > ครฺ)
: คิรฺ + อุ = คิรุ > ครุ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้คายความรักให้หมู่ศิษย์” (2) “ผู้หลั่งความรักไปในหมู่ศิษย์”
“ครุ” ในบาลี ถ้าเป็นคุณศัพท์ใช้ในความหมายว่า –
(1) หนัก, น้ำหนักบรรทุก (heavy, a load)
(2) สำคัญ, ควรเคารพ, พึงเคารพ (important, venerable, reverend)
ถ้าเป็นนาม ใช้ในความหมายว่า คนที่ควรนับถือ, ครู (a venerable person, a teacher)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ครุ” ไว้ 3 คำ บอกไว้ดังนี้ –
(1) ครุ ๑ : [คฺรุ] (คำนาม) ภาชนะสานชนิดหนึ่ง รูปกลม ๆ เหมือนกะลาตัด ยาชัน มีหูหิ้ว ใช้ตักน้ำ.
(2) ครุ ๒ : [คะรุ] (คำวิเศษณ์) หนัก, ใช้ในตําราฉันทลักษณ์ หมายถึง พยางค์ที่มีเสียงหนัก ได้แก่ พยางค์ที่ประกอบด้วยสระเสียงยาวและสระเกินทั้ง ๔ คือ สระอำ ใอ ไอ เอา เช่น ตา ดำ (สระอำถือเป็น ครุ ก็ได้ ลหุ ก็ได้) และพยางค์ที่มีตัวสะกดทั้งสิ้น เช่น หัด เรียน ใช้เครื่องหมาย (ไม้หันอากาศ) แทน, คู่กับ ลหุ ซึ่งใช้เครื่องหมาย (สระ อุ) แทน. (ป. ครุ ว่า หนัก; สำคัญ, ควรเคารพ, มีค่าสูง; ส. คุรุ ว่า หนัก; สำคัญ, ควรเคารพ, มีค่าสูง).
(3) ครุ ๓ : [คะรุ] (คำนาม) ครู. (ป. ครุ, คุรุ, ว่า ครู; ส. คุรุ ว่า ครู).
“ครุ” ในข้อ (1) ตัดออกไป เพราะไม่ใช่คำบาลีสันสกฤต และความหมายก็ไปคนละทางกัน
“ครุ” ในข้อ (2) และข้อ (3) เป็นคำบาลีสันสกฤต โปรดสังเกตความแตกต่าง คือถ้าเป็นคุณศัพท์ หมายถึง สิ่งที่หนัก และสิ่งหรือผู้ที่ควรเคารพ ถ้าเป็นคำนามหมายถึง ครู หรือคนที่ควรนับถือ
(๒) “คุรุ” อ่านว่า คุ-รุ เป็นคำบาลียุคหลังที่กลายมาจาก “ครุ” (คะ-รุ) แต่เมื่อเป็น “คุรุ” แล้ว ความหมายก็จำกัดลงไปเฉพาะ “ครู” คือ teacher หรือ venerable person ไม่ได้หมายถึง หนัก หรือน้ำหนักบรรทุก (heavy, a load)
ไทยเรารู้จักคำว่า “คุรุ” มาพร้อมๆ กับ “ครุ” และเราเลือกใช้ว่า “ครู”
ฝรั่งเพิ่งมาเห่อคำว่า “คุรุ” เมื่อไม่นานมานี้ แต่ออกเสียงว่า “กูรู” ไทยที่เห่อฝรั่งก็พากันใช้คำว่า “กูรู” ไปด้วย เหมือนกับไม่เคยมี “ครู”
“คุรุ” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“คุรุ : (คำนาม) ผู้สั่งสอน, ครู. (ป., ส.).”
สรุปว่า ของที่ใช้ทนทาน เช่น ตู้ โต๊ะ เก้าอี้ เรียกว่า “ครุภัณฑ์”
ไม่ใช่ “คุรุภัณฑ์”
ถ้าใช้เป็น “คุรุภัณฑ์” ก็ต้องแปลว่า “ของใช้ของครู” ซึ่งไม่ใช่คำที่ต้องประสงค์
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เพราะภาษาเป็นสิ่งสมมุติ
: จึงเป็นโอกาสดีที่สุดที่เราจะช่วยกันสมมุติให้ถูกต้องดีงาม
#บาลีวันละคำ (3,273)
29-5-64