บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ทำไมไม่สวดเป็นภาษาไทย

ในบรรดาข้อเรียกร้องของคนไทยเกี่ยวกับศาสนพิธี มีข้อหนึ่งที่เรียกร้องกันมาก นั่นคือ พระสวดเป็นภาษาบาลี ฟังไม่รู้เรื่อง ทำไมไม่สวดเป็นภาษาไทย จะได้ฟังรู้เรื่อง

การที่บางวัด-เช่นวัดชลประทานฯ เป็นต้น ให้มีการแสดงธรรมแนบไปกับการสวดพระอภิธรรม ก็มีสาเหตุมาจากคำเรียกร้องนี้ คือเพื่อจะให้ผู้มาฟังสวดได้ฟังธรรมะไปด้วย-เพราะฟังสวดไม่รู้เรื่อง

ในอนาคต ไม่แน่ อาจจะมีวัดหรือสำนักที่นิยมไหลตามกระแสผลิตบทสวดเป็นภาษาไทยแล้วก็สวดเป็นภาษาไทยให้ญาติโยมได้ฟังรู้เรื่องกันบ้างก็ได้

เฉพาะงานสวดศพ ที่มีทำกันอยู่แล้วก็คือ สวดแปล แต่ไม่ได้แปลพระอภิธรรมเอามาสวด หากแต่คัดเลือกภาษิตที่ปรารภพระไตรลักษณ์เอามาสวดคำบาลีแล้วก็แปลเป็นไทย

การกระทำเช่นนี้มีผลที่เกิดขึ้น-ซึ่งผมเชื่อว่าไม่มีใครสังเกต-ก็คือ การสวดพระอภิธรรมเริ่มเบี่ยงเบนไป แทนที่จะสวดพระอภิธรรม กลายเป็นสวดบทอื่น

ที่เบี่ยงเบนไปแล้วก็คือ จากเดิมสวด ๔ จบ เวลานี้ลดลงเหลือ ๒ จบ อ้างความจำเป็นต่างๆ เช่นมีงานอื่นที่จะต้องรีบไปทำ 

วัดที่ยังคงสวด ๔ จบก็พอมี แต่น้อยลงแล้ว

ที่มาแปลกกว่านั้นก็มี คือนิมนต์พระ ๘ รูปขึ้นสวดพร้อมกัน สวด ๒ จบ แล้วอ้างว่าเท่ากับสวด ๔ จบ เพราะพระ ๔ รูปเท่ากับ ๒ จบ พระ ๘ รูปก็เท่ากับ ๔ จบ

ต่อไปอาจมีลัทธินิมนต์พระ ๑๖ รูปสวดพร้อมกันจบเดียว แล้วอธิบายว่าเท่ากับสวด ๔ จบ

ทั้งหมดนี้มีเหตุผลสำคัญคือจะรีบเสร็จ จะรีบไปทำธุระอื่น

ผมคิดเล่นๆ ว่า ถ้าผู้ตายรู้เหตุผลว่าเป็นอย่างนี้ (จะรีบไปทำธุระอื่น) คงจะรันทดใจพอสมควร

…………………

ย้อนกลับมาถึงเรื่อง-ทำไมไม่สวดเป็นภาษาไทยจะได้ฟังรู้เรื่อง ผมมีข้อคิดที่เป็นคติของคนเก่า คำคนเก่าท่านพูดกันว่า –

“ฟังสวดเอาสมาธิ ฟังเทศน์เอาปัญญา”

หมายความว่า เวลาฟังพระสวด ไม่ว่าจะงานศพหรืองานบุญอะไรก็ตาม ท่านให้ฟังเอาสมาธิ คือตั้งสติกำหนดตามเสียงที่พระสวดซึ่งเป็นคำบาลีนั้นให้ทันทุกคำ

พระท่านสวดคำว่า “นะ” เราก็กำหนดรู้ทันว่าได้ยินเสียง “นะ”

พระท่านสวดคำว่า “โม” เราก็กำหนดรู้ทันว่าได้ยินเสียง “โม”

ยังไม่ต้องไปใส่ใจใคร่รู้ว่า “นะโม” แปลว่าอะไร “นะโม” จะแปลเป็นไทยว่าอะไรก็ช่าง ปล่อยผ่านไปก่อน เวลานี้ทำหน้าที่เพียงกำหนดรู้ทันว่าพระสวดคำว่า “นะโม”

ต่อไป พระท่านสวดคำว่า ตัส-สะ-ภะ-คะ-วะ-โต-อะ-ระ-หะ-โต ….. ก็กำหนดตามไปให้ทันทุกคำ ไม่รู้ความหมาย ไม่รู้คำแปล ก็ปล่อยผ่านไป เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่จะมาเอาเป็นเอาตายกับคำแปล หรือจะต้องรู้เรื่องให้ได้ แต่เป็นเวลาที่จะต้องตั้งสติกำหนดตามเสียงที่พระสวดให้รู้ทัน ฟังทันได้หมดทุกคำ ให้จิตเกาะติดไปกับคำพระสวดตั้งแต่ต้นจนจบ จะหลุดไปบ้างก็ไม่เป็นไร ดึงจิตกลับมา ให้อยู่กับคำสวดของพระให้ได้มากที่สุด

กระบวนการดังกล่าวมานี้คือ “ฟังสวดเอาสมาธิ”

ถ้าทำตามนี้ พระท่านจะสวดคำบาลีฟังไม่รู้เรื่อง ก็ไม่เป็นอุปสรรคอะไรเลย เพราะ ณ ขณะนั้นเราไม่ได้ฟังเพื่อจะให้รู้เรื่อง แต่เราฟังเพื่ออาศัยเสียงของพระเป็นอุปกรณ์ฝึกจิตให้เกิดสมาธิ

พระท่านสวดคำบาลี มีความหมายในทางที่ดี ข้อนี้เป็นอันว่าเราปลอดภัย คือพระท่านไม่ได้เอาคำหยาบคายต่ำช้ามาสวดให้เราฟัง

หน้าที่ของเรา ณ ขณะนั้นก็คือส่งกระแสจิตติดตามคำที่พระท่านสวด แบบสะกดรอยตามไปให้ทันทุกคำ หรือให้ทันได้มากที่สุด บุญของเราอยู่ตรงนั้น 

ส่วนกุศลที่จะเกิดจากการรู้ความหมายของคำสวดเอาไปว่ากันอีกทีหนึ่ง-เมื่อมีโอกาส ดังที่คำคนเก่าว่า “ฟังเทศน์เอาปัญญา” คือถ้าอยากรู้ความหมายของคำที่พระสวด เราก็ไปฟังเทศน์ เพราะเทศน์หรือการแสดงธรรมเป็นการอธิบายให้เกิดปัญญา เกิดความรู้ความเข้าใจ ตอนนี้แหละซัดกันให้เต็มที่ 

ตอนฟังสวดอยากรู้อยากเข้าใจความหมายของคำที่สวด อยากมาก จนถึงกับเรียกร้องให้สวดเป็นภาษาไทย ตอนฟังเทศน์นี่แหละเป็นทีของเราแล้ว อยากรู้อะไร ซัดเข้าไปเลย 

พระท่านไม่ได้เทศน์เรื่องที่เราอยากรู้นี่ อ๋อ จะไปยากอะไร หนังสือเทศน์ หนังสือธรรม ช่องทางที่หามาอ่านมาศึกษามีอยู่ให้ครืดไปหมด นั่งกระดิกขาอยู่ที่ไหนก็อ่านได้ เลือกเอาสิ 

ทำไมจะต้องตั้งเงื่อนไข-ต้องรู้ให้ได้ขณะที่กำลังฟังสวดนั่นแหละ เวลาอื่นก็ไม่เอา จะเอาเวลานั้นเท่านั้น

แล้วก็-เคยได้ยินคำบ่นไหม พระไตรปิฎกแปลก็อ่านไม่รู้เรื่อง แปลคำบาลีก็ฟังไม่รู้เรื่อง ไม่ตรงกับความหมาย มันน่าจะแปลให้คนฟังเขาเข้าใจได้ง่ายๆ 

เชื่อเถอะ สมมุติว่าพระท่านตามใจโยม สวดเป็นภาษาไทย ก็จะต้องมีเสียงโอดครวญอีกว่า แปลแบบนี้ฟังยาก ทำไมไม่แปลให้ฟังง่ายๆ เป็นเรื่องอีก 

แล้วต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น วัดนี้แปลอย่างนี้ วัดโน้นแปลอย่างโน้น ใครชอบคำแปลของใครก็ลอกเอาไปสวดกันไป คำบาลีคำเดียวกัน ธรรมะข้อเดียวกัน แต่คำแปลมีร้อยอย่างพันอย่าง สนุกเขาละ

อาจจะมีคนลุกขึ้นมาเสนอว่า-ก็ให้คณะสงฆ์จัดการแปลให้เป็นฉบับเดียวกัน สวดให้เหมือนกันทั่วทุกวัดสิ จะไปยากอะไร

ยากหรือไม่ยาก น้ำท่วมหลังเป็ดโน่น คณะสงฆ์ท่านจะทำหรือเปล่า

ถ้าตามใจโยมแบบนั้น ต่อไปพระไทยก็สวดมนต์เป็นภาษาไทยกันหมดทั้งประเทศ 

แล้วภาษาไทยนั้นพอล่วงกาลผ่านเวลาไปสักพักหนึ่ง ก็จะเริ่มมีปัญหา คนสมัยโน้นฟังภาษาไทยของคนสมัยนี้ไม่รู้เรื่อง คำไทยคำเดียวกัน พอต่างสมัยกันหน่อยเดียว เข้าใจไปคนละเรื่อง

ทีนี้ก็อาจจะ-ครึ่งศตวรรษ คือ ๕๐ ปีที เปลี่ยนคำสวดภาษาไทยกันที สนุกไปอีกแบบ

และที่แน่ๆ ภาษาบาลี-ภาษาที่รักษาพระพุทธพจน์ ก็จะถูกเก็บเข้ากรุ ลั่นกุญแจสิบชั้น ไม่จำเป็นต้องเรียนต้องรู้กันอีกแล้ว

พอถึงตอนนั้น ใครไปเจอคำบาลีว่า “นะโม” อาจจะมีคนแปลว่า “นมโต” แล้วก็มีคนเชื่อว่าเป็นคำแปลที่ถูกต้อง 

พอจะหาเหตุผลเจอไหมครับว่า-ทำไมพระจึงไม่สวดเป็นภาษาไทย

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๔

๑๑:๑๒

…………………………………..

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………………..

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *