บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

โย ปน ภิกฺขุ

ภาษาบาลีก็มีคำจำกัดความ

ชื่อเรื่องนี้ ถ้าคนที่ไม่รู้บาลีหรือไม่คุ้นกับคำบาลีมาอ่าน ก็คงจะมีคนอ่านว่า โย-ปน-พิก-ขุ 

คืออ่าน “ปน” ว่า ปน เหมือนภาษาไทยที่หมายถึงประสมกัน แกมกัน รวมกัน

โย ปน ภิกฺขุ” เป็นคำบาลี อ่านว่า โย ปะ-นะ พิก-ขุ มีคำบาลี ๓ คำ คือ “โย” คำหนึ่ง “ปน” (ปะ-นะ) คำหนึ่ง “ภิกฺขุ” (พิก-ขุ) คำหนึ่ง

โย ปน ภิกฺขุ” เป็นข้อความที่ปรากฏในสำนวนพระวินัย โดยเฉพาะตอนที่เป็นพุทธบัญญัติสิกขาบทแต่ละข้อ มักจะขึ้นต้นด้วย – “โย ปน ภิกฺขุ” เช่น – 

……………………………….

โย  ปน  ภิกฺขุ  ภิกฺขูนํ  สิกฺขาสาชีวสมาปนฺโน  

สิกฺขํ  อปฺปจฺจกฺขาย  ทุพฺพลฺยํ  อนาวิกตฺวา  

เมถุนํ  ธมฺมํ  ปฏิเสเวยฺย  อนฺตมโส  ติรจฺฉานคตายปิ  

ปาราชิโก  โหติ  อสํวาโสติ. 

อนึ่ง ภิกษุใดถึงพร้อมซึ่งสิกขาและสาชีพของภิกษุทั้งหลายแล้ว 

ไม่บอกคืนสิกขา ไม่ทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง* 

เสพเมถุนธรรมโดยที่สุดแม้ในสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย 

เป็นปาราชิกหาสังวาสมิได้.

ที่มา: ปฐมปาราชิกกัณฑ์ วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑

พระไตรปิฎกเล่ม ๑ ข้อ ๒๔

……………………………….

ขอให้หมายใจไว้นิดหนึ่งตรงคำว่า *“ไม่ทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง” เพราะมีเงื่อนแง่ทำนองเดียวกับ “ข้อกฎหมาย” ที่น่ารู้ แต่ตอนนี้จะขอพูดถึง “คำจำกัดความ” คำว่า “โย ปน ภิกฺขุ” ก่อน

วินัยพระก็เหมือนกฎหมาย บางคำบางเรื่องมีคำจำกัดความเฉพาะกรณี เห็นตัวหนังสือแล้วจะเข้าใจความหมายเอาเองไม่ได้ ต้องดูด้วยว่าคำนั้นเรื่องนั้นท่านมีคำจำกัดความกำกับไว้ด้วยหรือเปล่า

อย่างในกรณีนี้ คำว่า “โย ปน ภิกฺขุ” ที่แปลว่า “อนึ่ง ภิกษุใด” ท่านมีคำจำกัดความกำกับไว้ด้วยว่า “ใด” ในที่นี้หมายความว่าอย่างไร และ “ภิกษุ” ในที่นี้คือใคร

……………………………….

ขอให้อดทนเรียนพระธรรมวินัยกันสักนิด คิดเสียว่ากำลังทำหน้าที่ของชาวพุทธถวายเป็นพุทธบูชา ได้กุศลแรง เพราะเป็นการสืบอายุพระศาสนาตรงๆ 

ใครที่บอกว่ารักพระศาสนา ห่วงพระศาสนา บัดนี้เป็นโอกาสที่จะพิสูจน์แล้วว่าท่านไม่ได้รักแต่คำพูด ไม่ได้ห่วงแต่ปาก

……………………………….

ตัวบทมีดังนี้ (ไม่สะดวกใจที่จะอ่านคำบาลีล้วนๆ ก็ผ่านไปก่อนได้) –

……………………………….

โย  ปนาติ  โย  ยาทิโส  ยถายุตฺโต ยถาชจฺโจ ยถานาโม  ยถาโคตฺโต  ยถาสีโล  ยถาวิหารี  ยถาโคจโร  เถโร  วา  นโว  วา  มชฺฌิโม  วา  เอโส  วุจฺจติ  โย  ปนาติ. 

ที่มา: ปฐมปาราชิกกัณฑ์ วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑

พระไตรปิฎกเล่ม ๑ ข้อ ๒๕

……………………………….

ต่อไปนี้เป็นคำแปล

โย  ปนาติ 

คำว่า โย ปน (อนึ่ง…ผู้ใด) หมายถึง –

โย = ผู้ใด 

ยาทิโส = คือผู้เช่นใด 

ยถายุตฺโต = มีการงานอย่างใด 

ยถาชจฺโจ = มีชาติกำเนิดอย่างใด 

ยถานาโม = มีชื่ออย่างใด 

ยถาโคตฺโต = มีโคตรอย่างใด 

ยถาสีโล = มีปกติอย่างใด 

ยถาวิหารี = มีธรรมเครื่องอยู่อย่างใด 

ยถาโคจโร = มีอารมณ์อย่างใด 

เถโร  วา = เป็นเถระก็ตาม 

นโว  วา = เป็นนวกะก็ตาม 

มชฺฌิโม  วา = เป็นมัชฌิมะก็ตาม 

เอโส  วุจฺจติ  โย  ปนาติ. 

นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า โย ปน (อนึ่ง…ผู้ใด)

สรุปว่า ไม่ว่าจะเป็นใคร ถ้าเข้ามาบวชเป็นภิกษุอยู่ในพระศาสนานี้ละก็ รวมอยู่ในคำว่า “โย ปน” = อนึ่ง…ผู้ใด ทั้งสิ้น

………………..

คราวนี้ก็มาถึงคำว่า “ภิกฺขุ” คือใคร 

ขอยกตัวบทกับคำแปลมาเสนอควบกันไปเลย ดังนี้

………………..

ภิกฺขูติ  ภิกฺขโกติ  ภิกฺขุ. 

คำว่า ภิกฺขุ (ภิกษุ) คือ ที่ชื่อว่าภิกษุหมายถึงเป็นผู้ขอ 

ภิกฺขาจริยํ  อชฺฌูปคโตติ  ภิกฺขุ. 

ชื่อว่าภิกษุหมายถึงผู้ประพฤติภิกขาจริยวัตร 

ภินฺนปฏธโรติ  ภิกฺขุ. 

ชื่อว่าภิกษุหมายถึงผู้ทรงผืนผ้าที่ถูกทำลายแล้ว (คือถูกตัดเป็นชิ้นๆ)

สามญฺญาย  ภิกฺขุ. 

ชื่อว่าภิกษุโดยที่มีผู้เรียกขาน 

ปฏิญฺญาย  ภิกฺขุ. 

ชื่อว่าภิกษุโดยยืนยันตนเองว่าเป็นภิกษุ 

เอหิภิกฺขูติ  ภิกฺขุ. 

ชื่อว่าภิกษุหมายถึงเอหิภิกษุ 

ตีหิ  สรณคมเนหิ  อุปสมฺปนฺโนติ  ภิกฺขุ. 

ชื่อว่าภิกษุหมายถึงผู้อุปสมบทแล้วด้วยไตรสรณคมน์ 

ภทฺโรติ  ภิกฺขุ. 

ชื่อว่าภิกษุหมายถึงเป็นผู้เจริญ (คือมีคุณธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง)

สาโรติ  ภิกฺขุ. 

ชื่อว่าภิกษุหมายถึงผู้มีสารธรรม (เช่นมีศีลเป็นต้น

เสโขติ  ภิกฺขุ. 

ชื่อว่าภิกษุหมายถึงพระเสขะ (คือพระโสดาบันถึงพระอนาคามี)

อเสโขติ  ภิกฺขุ. 

ชื่อว่าภิกษุหมายถึงพระอเสขะ (คือพระอรหันต์)

สมคฺเคน  สงฺเฆน  ญตฺติจตุตฺเถน  กมฺเมน  อกุปฺเปน  ฐานารเหน  อุปสมฺปนฺโนติ  ภิกฺขุ. 

ชื่อว่าภิกษุหมายถึงเป็นผู้อันสงฆ์พร้อมเพรียงกันอุปสมบทให้ด้วยญัตติจตุตถกรรมอันไม่กำเริบ (คือไม่มีใครคัดค้าน) ควรแก่ฐานะ (คือมีคุณสมบัติครบพร้อมที่จะเป็นภิกษุได้)

ตตฺร  ยฺวายํ  ภิกฺขุ  สมคฺเคน  สงฺเฆน  ญตฺติจตุตฺเถน  กมฺเมน  อกุปฺเปน  ฐานารเหน  อุปสมฺปนฺโน  อยํ  อิมสฺมึ  อตฺเถ  อธิปฺเปโต  ภิกฺขูติ. 

บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุที่สงฆ์พร้อมเพรียงกันอุปสมบทให้ด้วยญัตติจตุตถกรรมอันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ นี้ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรงประสงค์ในสิกขาบทนี้

ที่มา: ปฐมปาราชิกกัณฑ์ วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑

พระไตรปิฎกเล่ม ๑ ข้อ ๒๖ 

………………..

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่า “ภิกฺขุ” จะแปลว่าอะไร หรือใครอยากแปลว่าอะไร ก็เชิญแปลไปตามสบาย แต่ในสิกขาบทนี้ (เทียบภาษากฎหมายก็-ในมาตรานี้) “ภิกฺขุ” หมายถึงผู้ที่สงฆ์อุปสมบทให้โดยถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการทางพระธรรมวินัย-เท่านั้น ภิกษุตามความหมายอื่นๆ ไม่ใช่

สรุปว่า กรณีอื่น ในที่อื่น ใครจะว่า “ภิกฺขุ” คือใครก็ว่ากันไป แต่ในที่นี้-ในสิกขาบทมาตรานี้ “ภิกฺขุ” หมายถึงบุคคลตามคำจำกัดความนี้เท่านั้น

โดยนัยเดียวกันนี้ เวลาไปเห็นภาษาบาลี โดยเฉพาะที่เป็นหลักพระธรรมวินัย แปลเป็นไทยได้ตามหลักภาษา ไม่ผิดไวยากรณ์ก็จริง แต่อย่าเพิ่งเข้าใจว่าใช้ได้แล้ว จนกว่าจะได้ตรวจสอบดูก่อนว่าท่านมีคำจำกัดความไว้ด้วยหรือเปล่า

ผมว่าตรงนี้แหละที่คนเรียนบาลีมักจะไม่ได้นึก

ท่านว่าภาษาบาลีคือภาษาที่รักษาพระพุทธพจน์คือคำตรัสสอนของพระพุทธเจ้า

ถ้าแปลผิด ก็พาให้พระพุทธพจน์เพี้ยนไปด้วย

ตัวอย่างก็เช่นคำว่า สันโดษ (สนฺโตส, สนตุฏฺฐิ) และ อุเบกขา (อุเปกฺขา) คนไทยเข้าใจพระธรรม ๒ ข้อนี้เพี้ยนจนแก้ไม่ได้อยู่ในเวลานี้

และที่กำลังเพี้ยนมาแรงก็คือ “สังฆทาน” 

ไม่ใช่เพี้ยนเฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น วัดไทยไปตั้งที่ไหน พระไทยไปอยู่ไหน สังฆทานก็ตามไปเพี้ยนที่นั่น เรียกว่าเพี้ยนทั่วโลกก็ว่าได้

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔

๑๒:๑๐

……………………………………..

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *