บทความชุด :
ถ้าจะรักษาพระศาสนา
จงรักษาวิถีชีวิตสงฆ์
-๕-
“เล่าเรียนพระไตรปิฎกแลวิชาชั้นสูง”
———————————–
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยขึ้นก็เพื่อจะให้เป็นที่พระสงฆ์ “เล่าเรียนพระไตรปิฎกแลวิชาชั้นสูง”
มีการวิเคราะห์กันว่า “วิชาชั้นสูง” นั้นหมายถึงอะไร
—————
ท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ เคยพูดไว้ที่แผนกธรรมวิจัย มหาจุฬาฯ สมัยนั้น มหาจุฬาฯ มีอาณาจักรอยู่แห่งเดียวคือที่วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์
ลานอโศกภายในวัดมหาธาตุเป็นเวทีเปิดสำหรับนักคิดชาววัด มีกิจกรรมการพูดการอภิปรายกันอยู่เสมอๆ แผนกธรรมวิจัยอยู่ใกล้ๆ กับลานอโศก
แผนกธรรมวิจัยจัดรายการอภิปราย-บรรยายทางวิชาการอยู่เนืองๆ วันหนึ่ง ท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ มาบรรยาย ผมมีโอกาสไปฟังด้วย ท่านพูดหัวข้อเรื่องอะไร จำไม่ได้ แต่จำได้แม่นถึงสาระตอนหนึ่งที่ท่านกล่าวถึงกรณีพระเณรศึกษาวิชาการทางโลก ท่านว่า –
พระพุทธศาสนาเปรียบเหมือนรถไฟ
พระธรรมวินัยคือสินค้าที่บรรทุกรถไฟ
วิชาการทางโลกเปรียบเหมือนรางรถ
พระเณรที่ศึกษาวิชาการทางโลกหรือวิชาการอะไรก็ตาม ต้องศึกษาเพื่อใช้เป็นรางรถนำพระธรรมวินัยไปให้ถึงชาวโลกได้สะดวกเป็นเป้าหมาย
ผมบรรลุในทันใดนั้นเองว่า นี่แหละคือ “วิชาชั้นสูง” ที่รัชกาลที่ ๕ ตรัสไว้-ที่ท่านสร้างมหาจุฬาฯ ขึ้นมาเพื่อพระเณรได้เล่าเรียน
โปรดย้อนไปอ่านตรงคำที่ว่า-ทรงสถาปนามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยขึ้นก็เพื่อจะให้เป็นที่พระสงฆ์ “เล่าเรียนพระไตรปิฎกแลวิชาชั้นสูง”
พึงตระหนักว่า มหาวิทยาลัยสงฆ์นั้น จะต้อง –
๑. เล่าเรียนพระไตรปิฎก คือพระธรรมวินัย
๒. เล่าเรียนวิชาทางโลกเพื่อใช้เป็นรางรถนำพระธรรมวินัยไปเสนอแก่ตาแก่ใจของชาวโลกได้สะดวก
พูดสั้นๆ วิชาทางโลกหรือ “วิชาชั้นสูง” นั้นต้องเรียนเพื่อเอามาใช้เป็นอุปกรณ์นำพระธรรมวินัยออกไปสื่อสารกับชาวโลก
ท่านอาจารย์สุชีพ หรือนามในสมณเพศว่า “สุชีโว ภิกขุ” นั้น ท่านพูดอังกฤษคล่อง ท่านเทศน์เป็นภาษาอังกฤษ ปัญญาชนฟังแล้วก็ทึ่งในความสามารถ
เมื่อทึ่ง ก็อยากรู้อยากฟัง
ฟังแล้วก็เลื่อมใสศรัทธาว่าพระรูปนี้พูดอังกฤษเก่งเหมือนเรา และเก่งกว่าเราที่รู้ธรรมะด้วย
เมื่อเลื่อมใสศรัทธาในความเก่ง ก็พร้อมที่จะรับฟังคำสอนและปฏิบัติตาม
นี่คือความมุ่งหมายของการเรียน “วิชาชั้นสูง”
—————
ถามว่า ตามข้อเท็จจริง ทุกวันนี้มหาจุฬาฯ มหามกุฏฯ (มจร มมร) จัดการศึกษาตามวัตถุประสงค์นี้หรือเปล่า
เรื่องนี้ควรให้ข้อเท็จจริงตอบเอง ผมไม่ต้องตอบ
มีคำอธิบายกันว่า เพราะรัฐไม่สามารถจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนได้ทั่วถึง คณะสงฆ์ หรือพระ หรือวัด หรือพระพุทธศาสนา-แล้วแต่จะเรียกว่าอะไร-จึงเข้ามาช่วยจัดการศึกษาให้ เป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐ
เพราะฉะนั้น พระเณรที่เรียนในมหาวิทยาลัยสงฆ์ ว่าโดยเนื้อแท้ก็คือประชาชนที่ควรจะได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยทางโลกที่รัฐจะต้องรับผิดชอบนั่นเอง
เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้ จะเอาอะไรกันนักหนากับประชาชนที่เข้ามาอาศัยเครื่องแบบของพระพุทธเจ้าชั่วคราวเพื่อศึกษาวิชาการตามสิทธิของพลเมือง
พระเณรที่เรียนมหาวิทยาลัยสงฆ์ประเดี๋ยวก็สึกออกไปทำมาหากินทางโลกเหมือนประชาชนทั่วไปนั่นเอง
เพราะฉะนั้นก็ต้องพูดคำเดิม คือ-จะเอาอะไรกันนักหนา
ญาติมิตรทั้งหลายอ่านมาถึงตรงนี้แล้วคิดอย่างไร?
—————
ผมว่าถ้าตั้งสติให้ถูก จะเจอขุมทรัพย์มหาศาลที่เรามองข้าม
นั่นก็คือ เครื่องแบบของพระพุทธเจ้านั่นเองเป็นทั้งกรอบบังคับตามหลักสูตร เป็นทั้งใบรับรองคุณภาพ
หมายความว่าอย่างไร?
ก็หมายความว่า เมื่อสภาพทางสังคม-เช่นความยากจน-บังคับให้ประชาชนส่วนหนึ่งต้องเข้ามาในวัด มาแต่งเครื่องแบบของพระพุทธเจ้า เพื่อการศึกษา
เราก็ใช้เครื่องแบบของพระพุทธเจ้านั่นเองเป็นหลักสูตรบังคับให้ประชาชนส่วนนี้ศึกษาและปฏิบัติพระธรรมวินัยอย่างเต็มที่-ซึ่งนี่ก็คือสิ่งที่บูรพาจารย์ของเราท่านทำกันมาแล้วนั่นเอง
เพียงแต่ว่า ณ เวลานี้ ชาวโลกกำลังมองด้วยสายตาเคลือบแคลงว่า ท่านกำลังจะเลิกทำ คือท่านกำลังจะไม่เรียนและไม่เอื้อเฟื้อพระธรรมวินัย ท่านจะทำเพียงอาศัยเครื่องแบบของพระพุทธเจ้าเรียนวิชาการชั้นสูงอย่างเดียวเพื่อออกไปเป็นประชาชนเหมือนกับประชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่ต้องเข้ามาอาศัยวัดเรียน
เพราะฉะนั้น จะต้องยึดพระธรรมวินัย-วิถีชีวิตสงฆ์ไว้ให้มั่นคง
โปรดอย่าลืมเป็นอันขาดว่า ร.๕ ทรงสถาปนามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยขึ้นก็เพื่อจะให้เป็นที่พระสงฆ์ “เล่าเรียนพระไตรปิฎกแลวิชาชั้นสูง”
ไม่ใช่ให้เรียนเฉพาะวิชาชั้นสูง แล้วไม่ต้องสนใจพระไตรปิฎก-คือพระธรรมวินัย คือวิถีชีวิตสงฆ์
และเพราะฉะนั้น แทนที่จะเอียงไปทางโลกมากขึ้นทุกที (ดังที่เวลานี้ มจร มมร กลายเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐไปเรียบร้อยแล้ว) มหาวิทยาลัยสงฆ์จึงจำเป็นจะต้องเอียงเข้ามาหาพระธรรมวินัยให้แนบแน่นยิ่งขึ้น
ผมไม่รู้จะอธิบายอย่างไรจึงจะชัด ขอยกตัวอย่างง่ายๆ ก็แล้วกัน
เช่น การจัดชั่วโมงเรียน จะต้องเกื้อกูลแก่การปฏิบัติกิจของสงฆ์ เช่นทำวัตรเช้า-ทำวัตรเย็นเป็นต้นด้วย
ทั้งผู้บริหาร อาจารย์ พระนิสิตนักศึกษา ต้องได้ปฏิบัติกิจของสงฆ์อย่างเต็มที่และอย่างสม่ำเสมอ
ไม่ใช่อ้างว่า เรียนมหาจุฬาฯ มหามกุฏฯ ไม่ต้องทำวัตรเช้า-ทำวัตรเย็นก็ได้
เป็นผู้บริหาร เป็นอาจารย์ เป็นนิสิตมหาจุฬาฯ มหามกุฏฯ —
ไม่ต้องไหว้พระสวดมนต์ประจำวันก็ได้
ไม่ต้องลงอุโบสถสังฆกรรมก็ได้
ไม่ต้องออกบิณฑบาตก็ได้
ไม่ต้องกวาดอาวาสวิหารลานพระเจดีย์ก็ได้
ศีล ๒๒๗ ข้อ ไม่ต้องรักษาให้ครบก็ได้
ฯลฯ ฯลฯ
ตรงกันข้าม เพราะเรียนมหาจุฬาฯ เรียนมหามกุฏฯ นั่นเองจึงต้องปฏิบัติกิจเหล่านั้นให้เข้มแข็งเคร่งครัดยิ่งขึ้น พร้อมไปกับเรียนวิชาชั้นสูงให้ได้ตามที่กำหนดด้วย
นั่นคือต้องทำงานหนักเป็นสองเท่าของประชาชนส่วนอื่นที่ไม่ต้องเข้ามาเรียนในวัด
เป็นบทพิสูจน์คุณภาพของการศึกษาของสงฆ์ว่าผู้ที่ผ่านระบบนี้ไปแล้วมั่นใจได้ในคุณธรรมและความรู้
เวลานี้เป็นที่ประจักษ์ใจกันแล้วว่า ระบบการศึกษาทางโลกสร้างคนเก่งได้ แต่สร้างคนดีไม่ได้ สังคมเราจึงขาดแคลนคนดี แต่เต็มไปด้วยคนเก่ง แต่โกง เห็นแก่ตัว และเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์
ระบบการศึกษาของสงฆ์จะต้องผลิตบัณฑิตที่มีคุณธรรมนำหน้า แต่เก่งไม่น้อยกว่าบัณฑิตทางโลก ไปชดเชย ไปแทนที่คนเก่ง แต่โกงเหล่านั้น
แต่จะเป็นเช่นนี้ได้ การจัดการศึกษาของสงฆ์ต้องไม่ทิ้งพระธรรมวินัย ต้องไม่ทิ้งวิถีชีวิตสงฆ์ ต้องไม่ให้ความสำคัญแก่พระธรรมวินัยน้อยลง
นั่นคือต้องเลิกคิดว่า-จะเอาอะไรกันนักหนา
แต่ต้องคิดว่า-จะต้องเอาให้นักหนายิ่งขึ้น
เมื่อตั้งเป้าหมายอย่างนี้ และทำได้อย่างนี้ คราวนี้ (ไอ้) ใครที่มันพูดว่า – พระเอาแต่เรียนทางโลก ก็ตอกหน้ามันไปเลยว่า ใช่ พระเรียนทางโลก ไม่ปฏิเสธ แต่พระไม่เคยทิ้งทางธรรม (นะโว้ย)
อยู่ก็เป็นศรีแก่พระศาสนา
ลาสิกขาก็เป็นศรีแก่สังคม
ถามมันกลับไปสักคำก็ได้ว่า – ไม่เอาอย่างนี้ แล้ว (มึง) จะให้ (กู) เอายังไง?
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔
๑๔:๕๒