บาลีวันละคำ

สตํ (บาลีวันละคำ 4,150)

สตํ

บาลีก็มีลูกเล่น

อ่านว่า สะ-ตัง

(๑) “สตํ” เป็นศัพท์สังขยา (คำที่ใช้นับจำนวน) รูปคำเดิมเป็น “สต” อ่านว่า สะ-ตะ แปลว่า หนึ่งร้อย (จำนวน 100) สันสกฤตเป็น “ศต” (บาลี เสือ สันสกฤต ศาลา) เรานิยมเขียนตามรูปสันสกฤตเป็น “ศต” (– ศ ศาลา) เช่นในคำว่า “ศตวรรษ” 100 ปี หรือรอบ 100 ปี (ศต = 100 วรรษ = ปี)

ตามหลักไวยากรณ์บาลี ท่านว่า “สต” เป็นนามนปุงสกลิงค์ แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ เปลี่ยนรูปเป็น “สตํ” แปลว่า “อันว่าร้อย” (จำนวน 100) หมายถึง ร้อยเดียว

ถ้าหมายถึง หลายร้อย ก็ต้องแจกด้วยวิภัตติที่เป็นพหุวจนะ “สต” เปลี่ยนรูปเป็น “สตานิ” (สะ-ตา-นิ) แปลว่า “อันว่าร้อยทั้งหลาย” หมายถึง หลายร้อย จะกี่ร้อยก็ระบุจำนวนลงไปข้างหน้า เช่น –

เทฺว สตานิ = สองร้อย

ตีณิ สตานิ = สามร้อย

(๒) “สตํ” เป็นคำนามธรรมดา รูปคำเดิมเป็น “สนฺต” (ปุงลิงค์) อ่านว่า สัน-ตะ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ระงับราคะเป็นต้นได้” (2) “ผู้มีที่สุดอันงดงาม

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “สนฺต” ว่า สัตบุรุษ, นักปราชญ์, ผู้สงบ, คนดี

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สนฺต” ว่า calmed, tranquil, peaceful, pure (เงียบ, ราบรื่น, สงบ, บริสุทธิ์)

สนฺต” แจกด้วยวิภัตตินามที่หก (ฉัฏฐีวิภัตติ) พหุวจนะ เปลี่ยนรูปเป็น “สตํ” แปลว่า “ของสัตบุรุษทั้งหลาย

เช่น “สตํ ธมฺโม” แปลว่า “ธรรมของสัตบุรุษทั้งหลาย

จะเห็นได้ว่า รูปคำเป็น “สตํ” เหมือนกันก็จริง แต่ความหมายไม่เหมือนกัน

สตํ” หนึ่งแปลว่า “อันว่าร้อย” (จำนวน 100)

สตํ” หนึ่งแปลว่า “ของสัตบุรุษทั้งหลาย

ถามว่า จะรู้ได้อย่างไรว่า เมื่อไรเป็น “สตํ = อันว่าร้อย” เมื่อไรเป็น เป็น “สตํ = ของสัตบุรุษทั้งหลาย”?

คำตอบคือ ต้องเรียนบาลีจึงจะรู้ 

แม้รู้บาลีแล้วก็ยังต้องสังเกตข้อความแวดล้อมประกอบไปด้วย

…………..

นอกจากนี้ เสียงที่อ่านว่า สะ-ตัง ยังชวนให้นึกถึงคำไทยว่า “สตังค์” ซึ่งเพี้ยนมาจาก “สตางค์” ที่มาจากคำบาลี สต + องฺค = สตงฺค > สตางค์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สตางค์ : (คำนาม) เหรียญกระษาปณ์ปลีกย่อย ๑๐๐ สตางค์ เป็น ๑ บาท, อักษรย่อว่า สต., โดยปริยายหมายถึงเงินที่ใช้สอย เช่น วันนี้ไม่มีสตางค์ติดตัวมาเลย เขาเป็นคนมีสตางค์; ชื่อมาตราชั่งตามวิธีประเพณี สําหรับกําหนดนํ้าหนักเท่ากับเงินหนัก ๐.๑๕ กรัม; (คำโบราณ) มาตราวัดน้ำฝนเท่ากับ ๑ ใน ๑๐ ของทศางค์.”

…………..

สตํ = อันว่าร้อย

สตํ = ของสัตบุรุษทั้งหลาย

สตังค์ = สตางค์ > เงินที่ใช้สอย

บาลี บางทีก็มีลูกเล่นเช่นนี้แล

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ศัพท์เดียวมีอรรถตั้งร้อย

: กรรมการรู้น้อยหาว่าขรัวโตบ้า

(วาทะของสมเด็จโต ตามที่เล่ากันมา)

#บาลีวันละคำ (4,150)

23-10-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *