โสตถิธรรม (บาลีวันละคำ 958)
โสตถิธรรม
ธรรมะเพื่อความสวัสดี
“โสตถิ” อ่านว่า โสด-ถิ
เขียนแบบบาลีเป็น “โสตฺถิ” (มีจุดใต้ ต)
“โสตฺถิ” รากศัพท์มาจาก สุ คำอุปสรรค มีความหมายว่า ดี งาม ง่าย + อตฺถิ คำกิรยา แปลว่า ย่อมมี ย่อมเป็น
กระบวนการทางไวยากรณ์คือ แผลง อุ ที่ สุ เป็น โอ
: สุ > โส + อตฺถิ = โสตฺถิ
สุ + อตฺถิ อาจเป็นอีกรูปหนึ่งคือ “สุวตฺถิ” (สุ-วัด-ถิ)
: สุ + อตฺถิ = สุวตฺถิ (ลองออกเสียง สุ อัตถิ เร็วๆ จะได้เสียง สุ-วัด-ถิ)
“โสตฺถิ” แปลตามศัพท์ว่า “มีดี” หรือ “ดีมี” เราใช้ทับศัพท์ว่า “ความสวัสดี” หมายถึง ความเจริญสุข, ความดีงาม, การอยู่ดี, ความปลอดภัย, ความรุ่งเรือง, การได้รับพร, ความสำเร็จ, ความสมหวัง, ความสงบเย็น
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “โสตฺถิ” ว่า well-being, safety, blessing (การอยู่ดี, ความปลอดภัย, การได้รับพร)
“โสตฺถิ” หรือ “สุวตฺถิ” สันสกฤตเป็น “สฺวสฺติ” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “สวัสดิ” ถ้าใช้โดดๆ ก็เป็น “สวัสดี” นั่นเอง
“โสตฺถิ” หรือ “สุวตฺถิ” ในบาลีมาเป็น สวัสดิ สวัสดิ์ สวัสดี ในภาษาไทย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) โสตถิ
ความสวัสดี, ความเจริญรุ่งเรือง, เช่น เป็นประโยชน์โสตถิผล. (ป.; ส. สฺวสฺติ).
(2) สวัสดิ-, สวัสดิ์ ๑, สวัสดี ๑
ความดี, ความงาม, ความเจริญรุ่งเรือง;ความปลอดภัย เช่น ขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ ขอให้มีความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล ขอให้มีความสุขสวัสดี ขอให้สวัสดีมีชัย. (ส. สฺวสฺติ; ป. โสตฺถิ).
(3) สวัสดิ์ ๒, สวัสดี ๒
คำทักทายหรือพูดขึ้นเมื่อพบหรือจากกัน เช่น อรุณสวัสดิ์ ราตรีสวัสดิ์ สวัสดีปีใหม่ สวัสดีครับคุณครู.
“ธรรม” บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม ปัจจัย ลบ รฺ ที่สุดธาตุ และ ร ต้นปัจจัย = ธมฺม แปลว่า “สภาพที่ทรงไว้” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม” และแปลทับศัพท์ว่า ธรรม ความหมายรวบยอดของ “ธรรม” ก็คือ ข้อปฏิบัติที่เป็นบ่อเกิดแห่งความดี (ดูคำแปลอย่างละเอียดที่ บาลีวันละคำ (115) 31-8-55)
โสตฺถิ + ธมฺม = โสตฺถิธมฺม > โสตถิธรรม หมายถึงธรรมะเพื่อความสวัสดี
พระพุทธเจ้าตรัสธรรมะเพื่อความสวัสดีไว้ว่า :
นาญฺญตฺร โพชฺฌา ตปสา (นาน-ยัด-ตฺระ-โพด-ชา-ตะ-ปะ-สา)
นาญฺญตฺร อินฺทฺริยสํวรา (นาน-ยัด-ตฺระ-อิน-ทฺริ-ยะ-สัง-วะ-รา)
นาญฺญตฺร สพฺพนิสฺสคฺคา (นาน-ยัด-ตฺระ-สับ-พะ-นิด-สัก-คา)
โสตฺถึ ปสฺสามิ ปาณินํ. (โสด-ถิง-ปัส-สา-มิ-ปา-นิ-นัง)
(สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ๑๕/๒๖๕)
ธรรมะเพื่อความสวัสดีในพระพุทธพจน์นี้มี 4 ข้อ ขอถอดความตามประสงค์ดังนี้ :
(1) โพชฌะ-ปัญญาหยั่งรู้ทันรู้เท่า
(2) ตบะ-พากเพียรแผดเผาความชั่วร้าย
(3) อินทรียสังวร-สติระวังใจกายเมื่อรับอารมณ์
(4) นิสสัคคะ-ยกใจมิให้จมอยู่กับความยึดอยาก
ผิว่าปราศจากธรรมทั้งสี่ประการดังกล่าวมา
ตถาคตไม่เห็นว่าปวงประชาจะมีความสวัสดีได้เลย
: อย่าขอให้สวัสดี โดยไม่มีโสตถิธรรม
#บาลีวันละคำ (958)
1-1-58