บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ข้อคิดจากคำว่า “มัชฌิมา”

ข้อคิดจากคำว่า “มัชฌิมา”

คำว่า “มัชฌิมา” เขียนแบบบาลีเป็น “มชฺฌิมา” อ่านว่า มัด-ชิ-มา คำไทยก็อ่านว่า มัด-ชิ-มา เหมือนบาลี 

มชฺฌิมา” ในบาลีรูปคำเดิมเป็น “มชฺฌ” (มัด-ชะ) ใช้ในความหมายว่า (๑) ตรงกลาง, กลาง ๆ, สามัญ, มัธยม, สายกลาง (middle, medium, mediocre, secondary, moderate) และ (๒) สะเอว (the waist) 

ความหมายนี้ใช้ในการเทียบเคียงคำซึ่งเป็นคู่กันกับความหมายว่า มากกว่านั้นหรือน้อยกว่านั้น ในกระบวน ๓ คำ เช่น “เล็ก – กลาง – ใหญ่” (small – medium – big) หรือ “แรก – กลาง – หลัง” (first – middle – last) 

คนไทยคุ้นกับคำว่า “มัชฌิมา” มากกว่า “มัชฌิม” หรือ “มัชฌ” และมักเข้าใจกันว่า ทำอะไรแต่พอดีๆ ไม่มากเกินไปไม่น้อยเกินไป นี่แหละคือ “มัชฌิมา” 

หลายคนนิยมพูดต่อไปอีกเป็น “มัชฌิมาปฏิปทา” (มัด-ชิ-มา ปะ-ติ-ปะ-ทา) ซึ่งทำให้ให้เกิดความสับสนและเข้าใจคลาดเคลื่อน คือเข้าใจไปว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” คือการทำอะไรแต่พอดีๆ ไม่มากเกินไปไม่น้อยเกินไป

หรือพูดในทางกลับกัน การทำอะไรแต่พอดีๆ ไม่มากเกินไปไม่น้อยเกินไป นี่แหละคือ “มัชฌิมาปฏิปทา

ใครเข้าใจเช่นนั้น ขอความกรุณาลบข้อมูลเก่าทิ้งไปเสีย บันทึกข้อมูลที่ถูกต้องลงไปใหม่ว่า ทำอะไรแต่พอดีๆ ไม่มากเกินไปไม่น้อยเกินไป เรียกว่า “มัชฌิมา” ถูกต้อง บางท่านก็ให้ใช้คำว่า “มัตตัญญุตา” แปลว่า “ความเป็นผู้รู้ประมาณ” คือรู้จักความพอดี

ทำอะไรแต่พอดีๆ ไม่มากเกินไปไม่น้อยเกินไป เรียกว่า “มัชฌิมา” หรือ “มัตตัญญุตา

แต่ไม่ใช่ “มัชฌิมาปฏิปทา

ย้ำ – “มัชฌิมาปฏิปทา” ไม่ได้หมายถึงทำอะไรแต่พอดีๆ ไม่มากเกินไปไม่น้อยเกินไป

แต่ “มัชฌิมาปฏิปทา” มีความหมายเฉพาะ คือหมายถึง “มรรคมีองค์แปด” อันเป็น ๑ ใน ๔ ของอริยสัจที่เราคุ้นกันดี คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

“มรรค” ข้อสุดท้ายนี้ท่านใช้คำบาลีเต็มๆ ว่า “อริโย อฏฺฐงฺคิโก มคฺโค” (อะ-ริ-โย อัด-ถัง-คิ-โก มัก-โค) ผู้รู้ทางภาษาแปลงเป็นรูปสันสกฤตเขียนแบบไทยว่า “อารยอัษฎางคิกมรรค” แปลว่า “มรรคมีองค์แปดอันประเสริฐ” นั่นก็คือข้อปฏิบัติ ๘ ข้อ มีสัมมาทิฐิเป็นข้อแรก มีสัมมาสมาธิเป็นข้อสุดท้าย

อริโย อฏฺฐงฺคิโก มคฺโค” หรือ “อารยอัษฎางคิกมรรค” นี่แหละเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “มัชฌิมาปฏิปทา

คำนี้ ในบาลีแยกเป็น ๒ คำ คือ “มชฺฌิมา” คำหนึ่ง “ปฏิปทา” อีกคำหนึ่ง เขียนเป็น “มชฺฌิมา ปฏิปทา” (มัด-ชิ-มา /เว้นวรรค/ ปะ-ติ-ปะ-ทา) “มชฺฌิมา” กับ “ปฏิปทา” ไม่ได้เขียนติดกัน อาจเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มคำ กลุ่มหนึ่งมี ๒ คำ และพูดควบกันเสมอ แต่ไม่ใช่คำเดียวกัน

แต่ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ เขียนติดกันเป็นคำเดียวว่า “มัชฌิมาปฏิปทา

………………..

ข้อที่ประสงค์จะชี้ชวนให้คิดก็คือ คำว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” เข้าใจว่าแรกเริ่มที่เอาคำนี้มาพูด เราตัดเหลือเพียง “มัชฌิมา” ก็ยังคงใช้ในความหมายเดิม คือหมายถึง “มรรคมีองค์แปด” 

แต่เมื่อใช้ไปนานๆ ความหมายก็เคลื่อนที่ จนบัดนี้กล่าวได้ว่าเราใช้คำว่า “มัชฌิมา” ในภาษาไทยโดยไม่ได้เกี่ยวอะไร-และไม่ได้มีใครนึกถึง “มรรคมีองค์แปด” อีกต่อไปแล้ว 

เราใช้คำเดิม แต่ลืมความหมายเดิม 

เมื่อมองประเด็นนี้ย่อมทำให้ได้แง่คิดว่า เรามักทำอะไรหลายๆ อย่างเบี่ยงเบนไปจากความมุ่งหมายเดิม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการจัดการศึกษาของคนในชาติ 

ความมุ่งหมายเดิมของการจัดการศึกษาก็คือ เพื่อให้คนมีความรู้ดีและมีความประพฤติดี 

เวลานี้เราละเลยการจัดการศึกษาเพื่อความประพฤติดีไปจนจะหมดสิ้นแล้ว ยังเหลือแต่-เพื่อความรู้ดี 

แต่ ณ วันนี้เอง ความมุ่งหมายของศึกษา-เพื่อความรู้ดี ก็เบี่ยงเบนไปอยู่ที่-เพื่อให้ได้ใบรับรอง 

มีการกระทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ใบรับรอง โดยไม่คำนึงถึงว่าผู้มีชื่อในใบรับรองนั้นจะมีความรู้หรือไม่ จะเป็นคนมีความรู้ดีหรือไม่ ดังเป็นที่รู้กันว่ามีธุรกิจรับเรียนแทน รับสอบแทน รับทำวิทยานิพนธ์แทน เกิดขึ้นแบบลับๆ แต่เป็นที่เปิดเผยรู้กันเกร่อไปหมด 

และที่น่าตกใจอย่างยิ่งก็คือ ค่านิยม “เรียนเพื่อให้ได้ใบรับรอง” นี้ ระบาดเข้าไปถึงการศึกษาทางพระศาสนาด้วยแล้ว 

การศึกษาทางพระศาสนานั้น-เช่นเรียนบาลี-ก็เพื่อให้มีความรู้ความสามารถที่จะศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาได้อย่างกว้างขวาง ทำให้ได้ความรู้ดีรู้ถูกต้อง แล้วเอาความรู้ที่ถูกต้องนั้นมาประพฤติดีปฏิบัติชอบและเผยแผ่ต่อไป 

แต่เวลานี้ น้ำหนักการเรียนบาลีไปอยู่ที่-เรียนเพื่อให้สอบได้ ซึ่งมีความหมายไม่ต่างไปจาก “เรียนเพื่อให้ได้ใบรับรอง” นั่นเอง 

วิชาความรู้ทุกอย่าง เมื่อเรียนแล้วก็นำไปปฏิบัติหรือนำไปใช้ตามสายงานที่เรียนมา-เช่นเรียนแพทย์ก็เอาความรู้ไปรักษาคนป่วยไข้เป็นต้น 

แต่การเรียนบาลีทุกวันนี้ เรียนจบแล้วก็แทบจะไม่ได้นำไปศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาแต่อย่างใดทั้งสิ้น นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ยืนยันคำที่กล่าวข้างต้นว่า-เรามักทำอะไรหลายๆ อย่างเบี่ยงเบนไปจากความมุ่งหมายเดิม 

…………………..

แล้วเราจะทำอย่างไรกัน?

ผมไม่อยากตอบแทนคิดแทน จึงขออนุญาตทิ้งเป็นการบ้านไว้ตรงนี้ ให้ญาติมิตรช่วยกันเอาไปขบคิด – แล้วเราจะทำอย่างไรกัน?

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๗ มิถุนายน ๒๕๖๔

๑๑:๑๕

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *