บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เอาบาลีไปล้อเลียน

———————

มีเอกสารที่เป็นมติมหาเถรสมาคมเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์เมื่อเร็วๆ นี้ สาระในมติมหาเถรสมาคมดังกล่าวก็คือ คำว่า covid ที่เป็นโรคระบาดอยู่ในเวลานี้ และเราเขียนทับศัพท์ในภาษาไทยว่า “โควิด” นั้น ถ้าจะเขียนเป็นภาษาบาลีก็ให้ใช้คำว่า “โควิโท”

ผมเข้าใจว่า คงมีคนอ่านหนังสือไม่ละเอียดเอาไปกระจายข่าวว่า ต่อไปนี้ โรค covid ให้เรียกว่า “โควิโท” แทนคำว่า โควิด

แล้วก็มีคนเรียกตามนี้จริงๆ ด้วย

…………………..

เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงคำว่า “จิตวิทยามวลชน”

ท่านว่าคนแต่ละคนเมื่ออยู่ตามลำพัง จะมีวิจารณญาณและสติสำนึกพอรักษาตัวได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่คนทั้งหลายรวมกันเป็นมวลชน เมื่อนั้นจะควบคุมได้ยากอย่างยิ่ง เพราะแต่ละคนจะควบคุมตัวเองได้น้อยลง มีวิจารณญาณน้อยลง สติก็น้อยลง หรือแทบจะไม่มีเลย 

และนี่เองคือจุดอ่อนหรือจุดอับที่คนทำสงครามจิตวิทยาใช้เป็นสนามปฏิบัติการ

และนี่เอง-ถ้าไม่หมั่นฝึกสติ ไม่หมั่นฝึกใช้วิจารณญาณให้รอบถ้วน เราก็กลายเป็นเหยื่อหรือเป็นเชื้อปะทุไปโดยไม่รู้ตัว 

…………………..

มติมหาเถรสมาคมเป็นอย่างหนึ่ง

คนเอาไปกระจายข่าวเป็นอีกอย่างหนึ่ง 

ผมได้อ่านโพสต์ในเฟซบุ๊ก มีคนเอาคำว่า “โควิโท” ไปล้อเลียน

คือในพิธีอุปสมบทหรือบวชพระจะมีขั้นตอนหนึ่งเป็นการตรวจสอบว่าผู้ที่จะบวชนั้นมีลักษณะต้องห้ามหรือเปล่า มีคุณสมบัติครบถ้วนหรือเปล่า และสามารถบอกข้อมูลที่จำเป็นได้หรือเปล่า ขั้นตอนดังกล่าวนี้เรียกเป็นภาษาพระวินัยว่า สอบถามอันตรายิกธรรม

คำถาม-คำตอบทั้งหมดพูดเป็นภาษาบาลี

ในคำถามเหล่านั้นมีข้อหนึ่งถามว่า “กินฺนาโมสิ้” (อ่านว่า กิน-นา-โม-ซิ) แปลว่า “เธอชื่ออะไร?”

“ชื่อ” ในที่นี้ก็คือ “ฉายา” ที่พระอุปัชฌาย์เป็นผู้ตั้งให้ ที่เรารู้กันว่าภิกษุทุกรูปต้องมีฉายา

เมื่อตอนผมบวชพระ พระอุปัชฌาย์ตั้งฉายาให้ว่า “วรกวินฺโท” (วะ-ระ-กะ-วิน-โท)

พอพระคู่สวดถามว่า “กินฺนาโมสิ้”

ผมก็ตอบตามข้อความที่กำหนดไว้ว่า “อหํ ภนฺเต วรกวินฺโท นาม” (อะ-หัง พัน-เต วะ-ระ-กะ-วิน-โท นา-มะ) แปลว่า “กระผมชื่อ วรกวินทะ ขอรับ”

คนที่เอาคำว่า “โควิโท” ไปล้อเลียนก็ทำแบบนี้ คือเขียนเป็นคำถามว่า “กินฺนาโมสิ้”

แล้วก็เขียนคำตอบว่า “อหํ ภนฺเต โควิโท นาม”

เข้าใจว่าคนเขียนล้อเลียนคงจับกระแสคลาดเคลื่อนไปว่า โรคที่เราเรียกว่า “โควิด” นั้น ต่อไปนี้ท่านให้เรียกว่า “โควิโท” และคงรู้สึกว่าพิลึกดี ก็เลยเอาคำว่า “โควิโท” ไปเขียนล้อเลียน

ข้อเท้จจริงคือท่านบอกว่า โรคโควิดนี้ถ้าเอาไปพูดเป็นภาษาบาลีก็ให้เรียกว่า โควิโท

แต่เราพูดภาษาไทย ก็เรียกว่า “โควิด” กันไปตามที่เรียกกันอยู่ ไม่ต้องไปยุ่งกับคำว่า “โควิโท” แต่ประการใดทั้งสิ้น 

ต่อเมื่อใดเราอยากจะคุยกันเป็นภาษาบาลี อยากจะพูดภาษาบาลี หรืออยากจะเขียนบทความเป็นภาษาบาลี และจะต้องเอ่ยถึงโรคโควิด เมื่อนั้นเราถึงค่อยใช้คำว่า “โควิโท”

จะต้องเอาคำว่า “อหํ ภนฺเต โควิโท นาม” ไปเขียนล้อเลียนเพื่อประโยชน์อะไร?

ผมไม่ได้บันทึกภาพโพสต์ที่เขียนล้อเลียนเอาไว้ แต่ถ้าใครลองไล่หาดูก็คงพบ

…………………..

ขอให้สังเกตว่า การเอาคำบาลีหรือคำพระสวดไปล้อเลียนนี้เป็นที่นิยมทำกันอยู่เสมอ

กุสะลา ธัมมา ก็มีคนเอาไปล้อเลียน แต่งเป็นเพลงด้วย

คำแผ่เมตตา (สัพเพ สัตตา … จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย) ก็มีคนเอาไปพูดล้อเลียนเผยแพร่กันเป็นของสนุก —

… เห็นผู้ชายหล่อๆ ก็ให้แผ่เมตตาว่า … จงเป็นโสดเป็นโสดเถิด อย่าได้มีความตุ๊ดกายตุ๊ดใจเลย …

คำว่า spasm (ซแพ็ส’ม) ที่มักออกเสียงว่า สปัสซั่ม และเอาไปใช้ในความหมายว่าถึงจุดสุดยอดทางเพศ เมื่อไม่กี่ปีมานี้ก็มีคนที่มีชื่อในสังคมพอสมควรเอาไปพูดแปลงเป็นบาลีด้วยความคะนองปากล้อเลียนว่า สปัสโม สุโข (ล้อเลียนคำว่า เตสัง วูปะสะโม สุโข ที่พระว่าตอนชักผ้า)

เมื่อไม่กี่วันมานี้ ผมก็เห็นคนเอาบทสวดพระธรรม เห-ตุปัจจะโย มาแปลงเป็นคำล้อเลียนเพื่อหาทางด่าพระเจ้าแผ่นดิน

คงจะมีอีกเยอะที่คนเอาคำบาลีไปล้อเลียน ด้วยความคึกคะนอง และด้วยเหตุผลต่างๆ

ต้องยอมรับว่าท่านเหล่านั้นมีความสามารถพิเศษ ถ้าใช้ความสามารถไปเพื่อการสร้างสรรค์ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

และขอให้สังเกตด้วยว่า มีแต่คำหรือเรื่องราวในพระพุทธศาสนาเท่านั้นที่ท่านเหล่านั้นกล้าที่จะเอาไปล้อเลียนพูดเล่นได้ 

เราจะไม่พบเลยว่ามีการเอาคำในศาสนาคริสต์หรือศาสนาอิสลามไปล้อเลียน

ศาสนาคริสต์อาจจะพอมีบ้าง (แต่ยังนึกไม่ออก) แต่ศาสนาอิสลามนั้นไม่มีเลย

อธิบายได้ไม่ยาก เพราะศาสนาอิสลามนั้นเอาจริง และเอาถึงตายจริงๆ ถ้าใครเอาเรื่องทางศาสนามาล้อเลียน

จึงมีแต่ศาสนาพุทธเท่านั้นที่คนพวกนั้นสามารถตบหัวเล่นได้ ปลอดภัย เพราะรู้ว่าพระพุทธศาสนาสอนไม่ให้ประทุษร้ายตอบต่อผู้ที่ประทุษร้าย

ที่กล้าเอาคำบาลีไปล้อเลียนไม่ใช่เพราะความกล้าหาญ ที่จริงแล้วขลาด รู้ได้ว่าขลาดเพราะคนพวกนั้นไม่เคยกล้าล้อเล่นกับศาสนาที่เอาถึงตาย

เรามีคำที่กล่าวกันว่า “ไม่เชื่อ อย่าลบหลู่” และมีคนเคารพคำกล่าวนี้มากอยู่

ควรจะฝากไว้อีกสักคำว่า “ไม่นับถือ อย่าล้อเลียน”

การเรียนบาลีนั้นอาจเอาดีได้ในทางใดทางหนึ่ง แต่การเอาคำบาลีมาล้อเลียนไม่ได้แสดงถึงความดีในทางใดๆ เลย 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๖ มิถุนายน ๒๕๖๔

๑๕:๔๙

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *