บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความชุด :

ถ้าจะรักษาพระศาสนา

จงรักษาวิถีชีวิตสงฆ์

-๒-

การรักษาวิถีชีวิตสงฆ์

———————-

คือการรักษาพระพุทธศาสนา

ถ้ารักษาวิถีชีวิตที่ถูกต้องของสงฆ์ไว้ไม่ได้

ก็รักษาพระศาสนาที่ถูกต้องไว้ไม่ได้

เมื่อมีผู้พูดว่าพระพุทธศาสนากำลังมีภัย กำลังจะถูกทำลาย

ก็จะมีผู้ออกมาแย้งว่า ไม่มีใครสามารถทำลายพระพุทธศาสนาได้ โดยอธิบายว่าพระธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาเป็นสัจธรรม เป็นของจริงประจำโลก ไม่มีใครสามารถทำลายได้

อ้างพุทธพจน์มายืนยันด้วยว่า “ธาตุดินยังพระสัทธรรมให้เลือนหายไปไม่ได้ ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมก็ยังพระสัทธรรมให้เลือนหายไปไม่ได้” 

(แต่พระพุทธพจน์ไม่ได้จบลงแค่นั้น ยังตรัสต่อไปอีกว่า 

อถ  โข  อิเธว  เต  อุปฺปชฺชนฺติ  โมฆปุริสา  เย  อิมํ  สทฺธมฺมํ  อนฺตรธาเปนฺติ = ที่แท้โมฆบุรุษในโลกนี้ต่างหากเกิดขึ้นมาก็ทำให้พระสัทธรรมเลือนหายไป 

โมฆบุรุษคือใคร ก็คือคนที่เข้ามาอยู่ในพระศาสนา แต่ไม่ศึกษาไม่ปฏิบัติ ซ้ำยังปฏิบัติผิดๆ อีกด้วย พวกนี้แหละที่ทำลายพระศาสนาได้) 

……………

พระพุทธศาสนานั้นไม่มีกองกำลังติดอาวุธไว้ป้องกันตนเอง ไม่ต้องกล่าวไปถึงว่าจะมีไว้ทำร้ายใคร 

พระพุทธศาสนาไปอยู่ที่ไหน ก็อาศัยผู้บริหารปกครองบ้านเมืองนั้นทำหน้าที่ “อารักขา” 

ถ้าผู้บริหารบ้านเมืองเป็นสัมมาทิฐิ พระพุทธศาสนาก็อยู่ได้ 

ถ้าผู้บริหารบ้านเมืองไม่เอาใจใส่ ไม่เห็นความสำคัญ หรือถ้าถึงขั้นเป็นมิจฉาทิฐิ พระพุทธศาสนาก็อยู่ไม่ได้ ไปไม่รอด

ในเมืองไทยของเรานี้ แต่เดิมมาพระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นผู้บริหารบ้านเมือง ทุกพระองค์ทรงเป็นสัมมาทิฐิ ทรงมีพระราชศรัทธาอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ และทรงมีพระราชอำนาจเต็มที่ในอันที่จะจัดการทำนุบำรุง และในอันที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายในพระพุทธศาสนาเอง 

แต่เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผู้ได้อำนาจไปจากพระเจ้าแผ่นดินเอาไปแต่อำนาจ แต่ไม่ได้เอาหน้าที่ในการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาไปด้วย 

พระพุทธศาสนาในบ้านเมืองของเราแม้จะดำรงอยู่ได้เพราะประชาชนนับถือ แต่ก็ไม่ได้รับความอุปถัมภ์บำรุงจากผู้บริหารบ้านเมืองอย่างเต็มที่และอย่างจริงจังจริงใจแต่อย่างใด

กล่าวได้อย่างไม่ผิดว่า ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมาจนถึงวันนี้ ยังไม่เคยมีผู้บริหารบ้านเมืองคนใดเลยแม้แต่คนเดียว ที่กล้าแอ่นอกออกปกป้องพระพุทธศาสนาในยามมีภัย และอุทิศกายใจปรนนิบัติพระพุทธศาสนาเหมือนกับที่พระเจ้าแผ่นดินของเราได้เคยทรงกระทำมาในกาลก่อน

——-

ที่เกิดปัญหาทุกวันนี้ก็มีสาเหตุมาจากไม่เอาพระธรรมวินัยเป็นหลักนั่นเอง

เวลานี้ปัญหาหยั่งลึกลงไปถึงขั้นที่ว่า พระธรรมวินัยที่ถูกต้องคืออะไรอย่างไร-แค่นี้ก็ไม่ได้ศึกษา สำเหนียก อบรม ถ่ายทอด ย้ำเตือนกัน 

ใคร สำนักไหน จะประพฤติปฏิบัติอะไรอย่างไร ก็ปล่อยให้ทำกันไปเหมือนว่าเป็นสิทธิเสรีภาพที่ใครจะมาห้ามหรือมาจำกัดขอบเขตมิได้-ดูเหมือนจะเป็นอย่างนั้นไปแล้ว

เหตุผลอย่างหนึ่งที่นิยมยกขึ้นมาอ้างก็คือ ปัจจุบันสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป จะมามัวยึดถือพระธรรมวินัยที่มีมาตั้งสองพันปีมาเป็นหลักปฏิบัติไม่ได้อีกแล้ว ต้องประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์จึงจะอยู่ได้

ข้ออ้างนี้ฟังเผินๆ ก็มีเหตุผล แต่ตรึกตรองดูให้ดีเถิด น่ากลัวนะขอรับ 

พระศาสนาจะสูญเร็วพลันก็เพราะข้ออ้างเช่นนี้นี่แล

ยกตัวอย่าง เวลานี้พระขับรถเอง มีให้เห็นหนาตาขึ้นแล้ว-ด้วยข้ออ้างว่าเป็นความจำเป็นตามสภาพสังคม- ต่อไปพระทำอะไรเหมือนฆราวาสก็คงทำได้หมด-เพราะความจำเป็นตามสภาพสังคม-น่ากลัวนะขอรับ

คงจะมีหลายท่านอยากถามว่า แล้วจะให้ทำอย่างไร?

คำตอบของกระผมก็คือ จะทำอย่างไรก็ทำไป แต่ต้องรักษาพระธรรมวินัยให้ดำรงอยู่

คำว่า “ต้องประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์จึงจะอยู่ได้” นั้นต้องคำนึงให้รอบคอบว่า อะไรอยู่ได้ ใครอยู่ได้

ถ้าดำรงพระธรรมวินัยอยู่ไม่ได้ พระพุทธศาสนาก็อยู่ไม่ได้

ดังนั้น ถ้าพระธรรมวินัยอยู่ไม่ได้ อะไรหรือใครก็ตามที่อยู่ได้นั้น แม้จะประทับตราหรือแสดงรูปลักษณ์ว่าเป็นพระพุทธศาสนา แต่ก็ย่อมจะไม่ใช่ “พระพุทธศาสนา” เสียแล้วแหละขอรับ

—–

หลักสังเกตของผมก็คือ ถ้าพระทำอะไรๆ ได้เหมือนกับที่ชาวบ้านเขาทำกัน พระก็หมดสภาพ 

เพราะฉะนั้น ถ้าจะรักษาสภาพของพระเอาไว้ให้ได้ พระก็ต้องทำตามแบบของพระ 

“แบบของพระ” คืออะไร 

ตรงนี้แหละที่ต้องศึกษา ทั้งตัวพระเอง ทั้งตัวญาติโยมที่จะนับถือเลื่อมใส 

เวลานี้ชาวพุทธที่ไม่รู้จักแบบของพระมีมากขึ้น 

ทำให้พระประพฤติไม่ถูกแบบมากขึ้น 

และทำให้ญาติโยมนับถือพระไม่ถูกแบบกันอยู่ทั่วไป 

แล้วก็มองกันไปเป็นภาพรวมว่า นั่นคือพระพุทธศาสนา ทั้งๆ ที่ทำแบบนั้นหาใช่พระพุทธศาสนาไม่

ทางแก้ก็คือ ต้องถอยกลับมาศึกษาเรียนรู้แบบของพระกันให้มากและให้แม่นยำยิ่งขึ้น

แต่การพูดว่า “ต้องศึกษาเรียนรู้แบบของพระกันให้มากและให้แม่นยำยิ่งขึ้น” ก็เท่ากับไม่ได้พูดอะไร คือไม่มีความหมายอะไร 

เพราะพูดเสร็จ เขียนเสร็จ อ่านกันเสร็จ ทุกคนก็กลับไปอยู่กันเฉยๆ เหมือนเดิม 

พอพระทำอะไรหรือไม่ทำอะไร ก็เอาความเข้าใจส่วนตัวเข้าไปจับ แล้วก็นับถือหรือไม่นับถือไปตามเกณฑ์เดิมๆ ของตนอยู่นั่นเอง

เพราะฉะนั้น ก็ต้องย้อนไปพูดกับผู้บริหารการพระศาสนาในบ้านเราว่า ในฐานะที่มีตำแหน่งมีหน้าที่ ท่านคิดจะทำอย่างไรที่จะให้ชาวพุทธในบ้านเราศึกษาเรียนรู้และตระหนักถึงความสำคัญของ “แบบของพระที่ถูกต้อง” กันให้มากขึ้น 

และเวลานี้ทำอะไรกันบ้างหรือยัง?

ปัญหาทั้งปวงในพระพุทธศาสนามีรากเหง้ามาจาก-การไม่รู้จัก “แบบของพระที่ถูกต้อง” นั่นเอง

เมื่อไม่รู้ ก็ใช้ความเข้าใจส่วนตัวและความพอใจส่วนตัวเป็นฐานแห่งความนับถือเลื่อมใส 

และแม้แต่เป็นฐานแห่งความไม่นับถือไม่เลื่อมใสด้วย

——

ทุกวันนี้เกิดปัญหาพระภิกษุสามเณรไม่ศึกษาพระธรรมวินัย ไม่อบรมสั่งสอนกวดขันกันให้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ทั้งชาววัดทั้งชาวบ้านไม่มีความรู้ที่แม่นยำพอที่จะบอกได้ว่าอะไรห้ามทำ อะไรต้องทำ และอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ เห็นพระเณรทำอะไรก็ไม่สามารถเอาหลักพระธรรมวินัยมาชี้บอกได้ว่าผิดหรือถูก นอกจากใช้ความรู้สึกส่วนตัว จึงปรากฏอยู่เนืองๆ ว่าพระเณรทำไม่ถูกตามพระธรรมวินัย แต่มีผู้เลื่อมใสสนับสนุน และบอกว่าท่านทำดี

สภาพเช่นที่ว่ามานี้เกิดขึ้นเพราะการศึกษา สั่งสอน อบรม กวดขันในหมู่พระเณรเกิดขาดตอนลงไปเป็นเวลานาน 

ถ้าเข้าไปสังเกตดูในวัดในเวลานี้จะพบว่าแทบทุกวัดไม่มีการศึกษา สั่งสอน อบรม กวดขันให้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย หากแต่ปล่อยให้อยู่กันอย่างอิสระ 

สิ่งที่ห้ามทำ ใครทำเข้า ก็ไม่มีใครว่าอะไร 

สิ่งที่ต้องทำ ใครไม่ทำ ก็ไม่มีใครว่าอะไร 

ส่วนมากเป็นอย่างที่ว่านี้ มีเพียงส่วนน้อยนิดที่ยังพอเอาใจใส่ในพระธรรมวินัยอยู่บ้าง

ที่ว่ามานี้ไม่ใช่จะมาโจมตีหรือว่าร้ายให้เสียหาย เพียงแต่เอาความเป็นจริงมาบอกกันไว้ว่าเดี๋ยวนี้เป็นอย่างนี้กันทั่วไปแล้ว 

ถ้าไม่ยอมรับว่าเดี๋ยวนี้เป็นอย่างนี้ ความคิดที่จะแก้ไขก็ไม่เกิด เหมือนไม่ยอมรับว่าป่วย ก็ไม่มีความคิดที่จะรักษาพยาบาล

ถามว่า-แล้วจะทำอย่างกัน?

ทางแก้ก็คือ แต่ละคนช่วยกันศึกษาเรียนรู้พระธรรมวินัย ถ้าชาววัดไม่เรียน ชาวบ้านก็ต้องเรียน อย่ามัวเกี่ยงหรืออ้างว่าไม่ใช่หน้าที่ 

ถ้าชาวบ้านรู้พระธรรมวินัยมากขึ้น แม่นยำขึ้น ก็เท่ากับช่วยคัดกรองชาววัดไปในตัว คือชาววัดก็จะไม่กล้าทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง เพราะชาวบ้านรู้ทัน 

ชาวบ้านที่รู้พระธรรมวินัยก็จะเลือกนับถือพระที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ไม่ไปสนับสนุนพระที่ประพฤติไม่ถูกต้อง

พอบอกให้ศึกษาพระธรรมวินัย ปัญหาที่ตามมาทันทีก็คือชาวบ้านจะเอาเวลาที่ไหนไปศึกษา แค่ทำมาหากินก็แย่อยู่แล้ว

ชาววัดซึ่งมีหน้าที่ศึกษาและปฏิบัติโดยตรง ก็เห็นกันอยู่ว่าท่านพอใจที่จะปล่อยกันตามสบาย การศึกษาพระปริยัติธรรมก็เบี่ยงเบนไปมาก คือมุ่งมองเฉพาะสถิติ เรียนเพื่อสอบปีละครั้งมากกว่าเรียนเพื่อเอาความรู้นำไปสู่การปฏิบัติในชีวิตจริง

ในท่ามกลางแห่งความเป็นไปเช่นนี้ ทางที่จะทำได้ก็คือ แต่ละคนเร่งแสวงหาความรู้ในพระธรรมวินัยเท่าที่ตนจะพึงทำได้โดยไม่โยนภาระไปที่ใครอื่น หรือมัวแต่เรียกร้องให้คนอื่นทำ แต่ตัวเองไม่ทำ (ด้วยเหตุผลนั่นนี่โน่นมากมาย)

พระธรรมวินัยนั้นคือพระศาสดา คือตัวแท้ของพระศาสนา ถ้าไม่ช่วยกันศึกษาใส่ใจในพระธรรมวินัย ก็ต้องยอมรับว่าเราทิ้งพระศาสนากันแล้ว

พระพุทธศาสนานั้นฝากไว้กับพุทธบริษัท คืออยู่ในความรับผิดชอบร่วมกันทั้งชาววัด (บรรพชิต) และชาวบ้าน (คฤหัสถ์) อุปมาเหมือนลงเรือลำเดียวกัน ถ้าต่างฝ่ายต่างปล่อยมือ ไม่เอาเรื่องเอาราวอย่างที่กำลังเป็นอยู่ทุกวันนี้ ก็เท่ากับปล่อยให้เรือล่ม ถึงตอนนั้นแม้คนที่บอกว่าไม่ใช่หน้าที่ของข้าพเจ้านั่นเองก็ต้องเดือดร้อนด้วย

แต่หลักพื้นฐานเหนืออื่นใดก็คือ อย่าเสื่อมศรัทธาและอย่าขาดความเคารพยำเกรง 

แม้จะเห็นใครทำอะไรที่เสื่อมเสียแค่ไหน ก็อย่าหวั่นไหว อย่าคลายความเคารพในพระรัตนตรัย 

ถ้าถึงที่สุด รักษาพระพุทธศาสนาในฐานะเป็นองค์กรไว้ไม่ได้ (ไม่มีวัด ไม่มีพระ ทำกิจวัตรจัดกิจกรรมทางพระศาสนาไม่ได้ ดังที่เสื่อมมาแล้วในอินเดีย และในชวาเป็นต้น) แต่ถ้าพระพุทธศาสนายังมั่นคงอยู่ในหัวใจของแต่ละคน ก็เท่ากับเรายังรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้ตลอดไป

———

อย่างน้อยเทวดาที่รักษาพระศาสนาก็จะไม่ตำหนิเราว่า ไม่เห็นทำอะไรสักอย่าง ปล่อยให้พระศาสนาฉิบหายไปต่อหน้าต่อตาอยู่ได้

และเมื่อใดที่ท้อแท้ ขอให้นึกถึงพระมหาชนก

ถ้ายังหา พระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก มาอ่านไม่ได้ ก็ขอให้นึกถึงภาษิตของพระมหาชนกบทนี้ไปพลางก่อน —

………………

อนโณ  ญาตินํ  โหติ 

เทวานํ  ปิตุนญฺจ  โส 

กรํ  ปุริสกิจฺจานิ 

น  จ  ปจฺฉานุตปฺปติ.

เมื่อลงมือกระทำการ แม้จะลำบากถึงตาย

พ่อแม่ ญาติมิตร และทวยเทพ ก็ตำหนิไม่ได้

(ว่าดูมันเถิด งอมือเท้าอยู่นั่นเอง ไม่ทำอะไรสักอย่าง)

และเมื่อได้ทำหน้าที่อย่างที่คนจะพึงทำแล้ว

ก็จะไม่ต้องมานั่งเสียใจในภายหลัง 

(ว่าเออหนอ นี่ถ้าออกแรงทำอะไรสักนิด ก็คงจะไม่เป็นอย่างนี้)

พระบาลี: มหาชนกชาดก พระไตรปิฎกเล่ม ๒๘ ข้อ ๔๔๕

………………

ช่วยกันรักษาพระศาสนา

ก่อนที่จะไม่เหลือพระศาสนาให้รักษานะครับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *