บาลีวันละคำ

อันโตวุตถะ (บาลีวันละคำ 2475)

อันโตวุตถะ

ศัพท์วิชาการเกี่ยวกับการขบฉันของพระ

อ่านว่า อัน-โต-วุด-ถะ

อันโตวุตถะ” เขียนแบบบาลีเป็น “อนฺโตวุตฺถ” อ่านว่า อัน-โต-วุด-ถะ ประกอบด้วยคำว่า อนฺโต + วุตฺถ

(๑) “อนฺโต

เป็นคำจำพวกนิบาต นักเรียนบาลีท่องกันติดปากว่า “อนฺโต ภายใน

อนฺโต” แปลว่า ภายใน ตรงกับคำอังกฤษว่า inside แต่บางบริบทอาจตรงกับ into เช่น “อนฺโต คามํ ปวิสติ” (อันโต คามัง ปะวิสะติ) แปลว่า “เข้าไปสู่หมู่บ้าน” ตรงกับอังกฤษว่า to go into the village ไม่ใช่ to go inside the village

(๒) “วุตฺถ” (วุด-ถะ)

รากศัพท์มาจาก วสฺ (ธาตุ = อยู่, พำนัก) + ปัจจัย, แผลง อะ ที่ -(สฺ) เป็น อุ (วสฺ >วุสฺ), แปลง สฺ ที่สุดธาตุกับ เป็น ตฺถ (หรือนัยหนึ่งว่าแปลง เป็น ตฺถ แล้วลบที่สุดธาตุ)

(1) : วสฺ + = วสต > วุสต > วุตฺถ

(2) : วสฺ + = วสต > วุสต > วุสตฺถ > วุตฺถ

วุตฺถ” แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอัน-พำนักอยู่แล้ว” ในภาษาอังกฤษแปลตามศัพท์ว่า having dwelt, lived or spent time (พักอยู่, อาศัยอยู่หรือใช้เวลา)

แต่ในที่นี้ “วุตฺถ” หมายถึง สิ่งที่เหลือจากที่ใช้ไปส่วนหนึ่งแล้ว ยังไม่หมด จึงเก็บไว้ ซึ่งมีความหมายเท่ากับ suspended, left over, set aside (พักไว้, เหลือไว้, เอาไว้ต่างหาก)

วุตฺถ” เป็นได้ทั้งกริยา (กิริยากิตก์ อดีตกาล) และคุณศัพท์

อนฺโต + วุตฺถ = อนฺโตวุตฺถ > อันโตวุตถะ แปลว่า “สิ่งที่ถูกเก็บไว้ภายในที่อยู่” หมายถึง เสบียงอาหารที่เก็บไว้ภายที่อยู่ของภิกษุ

ขยายความ :

ในคัมภีร์พระวินัย มีพุทธบัญญัติแสดงไว้ว่า –

…………..

น  ภิกฺขเว  อนฺโตวุตฺถํ  อนฺโตปกฺกํ  สามํปกฺกํ  อุคฺคหิตปฏิคฺคหิตกํ  ปริภุญฺชิตพฺพํ  โย  ปริภุญฺเชยฺย  อาปตฺติ  ทุกฺกฏสฺส.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันอาหารที่เก็บไว้ภายในที่อยู่ อาหารที่หุงต้มภายในที่อยู่ อาหารที่หุงต้มเอง อาหารที่จับต้องแล้วรับประเคนใหม่ รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ.

ที่มา: พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 5 ข้อ 81

…………..

ในพระวินัย มีพุทธานุญาตให้สงฆ์มี “กัปปิยกุฏิ” (กับ-ปิ-ยะ-กุด) คือ ครัวสงฆ์ เมื่อมีผู้ถวายเสบียงหรือสิ่งของเครื่องปรุงเป็นอาหาร ธรรมเนียมบ้านเราก็อย่างเช่น ข้าวสาร ปลาเค็ม กะปิ น้ำปลา หอม กระเทียม ฯลฯ สิ่งของเหล่านี้ท่านให้เก็บไว้ในครัวสงฆ์ โดยอารามิกชนหรือคนวัดจะเป็นผู้จัดการหุงต้มถวายพระเป็นวันๆ ไป

สิ่งของพวกนั้นถ้าภิกษุเอามาเก็บไว้ภายในกุฏิหรือที่พักของตนอย่างเป็นของส่วนตัว ท่านเรียกว่า “อันโตวุตถะ” แม้จะมีคนเอาไปปรุงเป็นอาหารนำมาถวาย ก็ห้ามฉัน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไม่อยากให้ประวัติการบวชมีตำหนิ

: อย่าใช้กุฏิเป็นที่เก็บเสบียง

#บาลีวันละคำ (2,475)

23-3-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *