อรหัต – อรหันต์ (บาลีวันละคำ 3,933)
อรหัต – อรหันต์
ต่างกันอย่างไร
ภิกษุผู้ปฏิบัติธรรม เมื่อบรรลุมรรคผลถึงที่สุด จะมีคำบรรยายว่า “ในที่สุดก็บรรลุพระอรหัต”
ถ้าพูดว่า “ในที่สุดก็บรรลุพระอรหันต์” จะถูกต้องหรือไม่?
“บรรลุพระอรหัต”
“บรรลุพระอรหันต์”
เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร?
(๑) “อรหัต”
อ่านว่า อะ-ระ-หัด บาลีเป็น “อรหตฺต” อ่านว่า อะ-ระ-หัด-ตะ โปรดสังเกตว่าไม่ใช่ “อรหนฺต” แต่เป็น “อรหตฺต” ถ้าไม่ระวังให้ดีจะเริ่มสับสนตั้งแต่ตรงนี้
“อรหตฺต” รากศัพท์มาจาก “อรหนฺต” นั่นเอง คือ “อรหนฺต” ลบ อนฺต ปัจจัย (อรหนฺต > อรห) + ตฺต ปัจจัย
ตฺต ปัจจัย เป็นปัจจัยในภาวตัทธิต ใช้แทนศัพท์ว่า “ภาว” = ความเป็น ศัพท์ที่ลงปัจจัยตัวนี้จึงต้องแปลว่า “ความเป็นแห่ง-” หรือ “ภาวะแห่ง-”
: อรหนฺต > อรห + ตฺต = อรหตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นแห่งพระอรหันต์” หรือ “ภาวะแห่งพระอรหันต์” หรือ “ความเป็นพระอรหันต์”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อรหตฺต” ไว้ดังนี้ –
(1) the state or condition of an Arahant, i. e. perfection in the Buddhist sense = Nibbāna (ภาวะหรือความเป็นพระอรหันต์, คือ ความดีเลิศโดยสมบูรณ์ในความหมายของพระพุทธศาสนา = นิพฺพาน)
(2) final & absolute emancipation, Arahantship, the attainment of the last & highest stage of the Path (การหลุดพ้นสุดท้ายและโดยสมบูรณ์, ความเป็นพระอรหันต์, การบรรลุชั้นสุดท้ายและสูงสุดของมรรค)
“อรหตฺต” ในภาษาไทยใช้ว่า “อรหัต” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อรหัต, อรหัต– : (คำนาม) ความเป็นพระอรหันต์. (ป. อรหตฺต; ส. อรฺหตฺตฺว).”
(๒) “อรหันต์”
อ่านว่า อะ-ระ-หัน แม้พจนานุกรมฯ จะบอกว่าอ่านว่า ออ-ระ-หัน ก็ได้ แต่ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเชิญชวนให้อ่านว่า อะ-ระ-หัน (อะ- ไม่ใช่ ออ-)
คำนี้เดิมอ่านว่า อะ-ระ-หัน อย่างเดียว แต่คนที่ไม่สังเกตเรียนรู้ไปอ่านตามความเข้าใจเอาเองว่า ออ-ระ-หัน แล้วก็มีคนอ่านตามกันมากขึ้น แล้วก็ยอมรับกันว่าอ่านว่าออ-ระ-หัน ก็ได้ ไปเข้าทางทฤษฎีที่ว่า ภาษาเป็นสิ่งสมมุติ แล้วแต่ว่าจะตกลงกัน ไม่มีผิดไม่มีถูก ถ้าถือตามทฤษฎีนี้เราก็ไม่จำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้อะไร พูดเขียนอ่านไปตามที่เข้าใจเอาเองก็ใช้ได้หมด ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง
คำว่า “อรหันต์” รูปศัพท์เดิมในบาลีเป็น “อรหนฺต” อ่านว่า อะ-ระ-หัน-ตะ มีรากศัพท์มาได้หลายทาง เช่น :
(1) อรห (ธาตุ = สมควร) + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้ควรแก่การบูชาพิเศษของเทพและมนุษย์ทั้งหลาย”
(2) น (คำนิบาต = ไม่, ไม่ใช่) > อ + รห (ธาตุ = สละ, ทอดทิ้ง) = อรห + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้อันคนดีไม่ควรทอดทิ้ง”
(3) อริ ( = ข้าศึก) > อร + หนฺ (ธาตุ = กำจัด) = อรหน ลบที่สุดธาตุ > = อรห + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้กำจัดข้าศึกคือกิเลสได้แล้ว”
(4) อร ( = ดุม กำ กง อันประกอบเข้าเป็นวงล้อ) + หนฺ (ธาตุ = กำจัด, เบียดเบียน) = อรหน ลบที่สุดธาตุ > อรห + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้หักซึ่งวงล้อแห่งสังสารวัฏได้แล้ว”
(5) น (คำนิบาต = ไม่ใช่, ไม่มี) > อ + รห ( = การไปมา) = อรห + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้ไม่มีการไปมา” คือไม่ไปเกิดในภพภูมิไหนๆ อีก
(6) น (คำนิบาต = ไม่ใช่, ไม่มี) > อ + รห ( = ความลับ, ที่ลับ, ความชั่ว) = อรห + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้ไม่มีความลับ” (ไม่มีความไม่ดีไม่งามที่จะต้องปิดบังใครๆ) “ผู้ไม่มีที่ลับ” (สำหรับที่จะแอบไปทำความไม่ดีไม่งาม) “ผู้ไม่มีความชั่ว”
บาลี “อรหนฺต” ในภาษาไทยใช้ว่า “อรหันต์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อรหันต-, อรหันต์ : (คำนาม) ชื่อพระอริยบุคคลชั้นสูงสุดใน ๔ ชั้น คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ เรียกว่า พระอรหันต์. (ศัพท์นี้ใช้ อรหา หรือ อรหัง ก็มี แต่ถ้าใช้เป็นคําวิเศษณ์หรืออยู่หน้าสมาสต้องใช้ อรหันต). (ป.; ส. อรฺหนฺต).”
คำที่ออกจาก “อรหนฺต” และคุ้นกันคำหนึ่งคือ “อรหํ” (อะ-ระ-หัง)
“อรหนฺต” แจกด้วยวิภัตตินามที่ 1 (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ ลง สิ วิภัตติ ตามสูตรว่า “เอา นฺต กับ สิ เป็น อํ”
: อรหนฺต + สิ (-นฺต + สิ = อํ : อรห + อํ) = อรหํ
“อรหํ” เขียนแบบไทยเป็น “อรหัง” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อรหัง : (คำนาม) พระพุทธเจ้า; พระอรหันต์. (ป. อรหํ).”
ขยายความ :
“อรหัต” เป็นคนละคำกับ “อรหันต์”
“อรหัต” หมายถึง “ภาวะแห่งพระอรหันต์” เป็นนามธรรม
“พระอรหันต์” หมายถึง ตัวบุคคลผู้บรรลุธรรม
“บรรลุพระอรหัต” ได้
แต่ “บรรลุพระอรหันต์” ไม่ได้
ถ้อยคำต่างกันเล็กน้อย
แต่ความหมายต่างกันมาก
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เรียนรู้คำ ไม่ยาก
: เรียนรู้คน ไม่ง่าย
#บาลีวันละคำ (3,933)
20-3-66
…………………………….
…………………………….