บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

แรงเฉื่อย


แรงเฉื่อย

เมื่อผมเริ่มเรียนบาลีมีใครแนะแนวหรือแนะนำอะไรบ้าง?

ถ้าจะพูดถึงการแนะนำ ก็มีผู้แนะนำว่า ถ้าอยากเรียนบาลีให้ไปอยู่วัดมหาธาตุ ราชบุรี ก็คือแนะนำสถานที่เรียน-ถ้าอยากจะเรียน

แต่เรื่องนี้ควรจะถอยไปจนถึงแนวทางการศึกษาของเด็กในชนบทสมัยโน้นจึงจะมองเห็นภาพใหญ่

การศึกษาขั้นพื้นฐานของเด็กในชนบทสมัยโน้นก็คือเรียนให้จบชั้นประถมปีที่ ๔ เรียกสั้นๆ ว่า จบ ป.๔

ต่อจากนั้น ถ้าอยากเรียนต่อและถ้ามีทุน ก็เข้าไปเรียนชั้นมัธยมในตัวเมือง 

ถ้าอยากเรียน แต่ไม่มีทุน หรือมีทุน แต่ไม่อยากเรียน ก็หยุดการศึกษาอยู่แค่นั้น ออกโรงเรียนไปประกอบอาชีพตามตระกูลกันต่อไป

อาชีพตามตระกูลส่วนใหญ่ก็คือทำนาหรือการเกษตรในรูปแบบอื่นๆ

ช่องทางหนึ่งของผู้อยากเรียน แต่ไม่มีทุน ก็คือบวชเรียน-อย่างที่ผมเลือก

การศึกษาขั้นพื้นฐานในวัดทั่วไปก็คือเรียนนักธรรม จบนักธรรมเอก อาจมีช่องทางไปทำอะไรได้มากขึ้น-มากกว่าจบ ป.๔ ธรรมดา หรืออยู่เอาดีทางพระไปเรื่อยๆ ก็ยังดี

ต่อจากนี้ก็มาบรรจบกับคำถามข้างต้นเรื่องการแนะแนว-ถ้าอยากเรียนบาลีให้ไปอยู่วัดในตัวเมืองที่มีการเรียนบาลี 

ถามว่า ในเส้นทางการเรียนบาลี มีคำแนะนำหรือมีใครแนะแนวอะไรบ้าง? 

ตอบว่า คำแนะนำหรือแนะแนวตรงๆ ไม่มี แต่มีเส้นทางที่คนเรียนบาลีเดินไปข้างหน้าให้เห็นเป็นตัวอย่าง – อยู่ก็ได้เป็นนั่นเป็นนี่ สึกก็เข้างานที่นั่นที่โน่นได้ ถ้าจะเรียกว่าแนะนำหรือแนะแนวก็มีแบบนี้ เป็นเรื่องที่ผู้เรียนบาลีบริหารจัดการกับชีวิตของตัวเอง

แต่ถ้ามองอีกด้านหนึ่ง-ด้านคณะสงฆ์ซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการการศึกษาของพระเณร ในช่วงเวลาที่ผ่านมาประมาณว่ากว่าครึ่งศตวรรษ ไม่มีภาพที่ชัดเจนว่าคณะสงฆ์วางแผนการศึกษาของพระเณร หรือกำหนดทิศทางอะไรขึ้นมาใหม่จากที่เคยเป็นมาและกำลังเป็นอยู่

เจาะประเด็นกันตรงๆ —

หลักสูตรการเรียนบาลี จะเรียนลึกเรียนกว้างแค่ไหนอย่างไร ไม่มีแผนใหม่ รุ่นเก่าเคยเรียนอย่างไร รุ่นใหม่ก็เรียนต่อไปอย่างนั้น

พระเณรที่เรียนบาลีจบแล้ว-เช่นสอบ ป.ธ.๙ ได้แล้ว จะเอาไปใช้งานอะไร หรือจะให้ไปทำอะไร ไม่มีแผน ใครจะอยู่ใครจะไป ตัวใครตัวมัน

ในแง่การบริหารจัดการการเรียนการสอน จะเรียนกันอย่างไร จะสอนกันอย่างไร ต่างคนต่างทำ สำนักไหนจะมีพระเณรเรียนหรือไม่มี จะมีครูสอนหรือไม่มี มีค่าใช้จ่ายอะไรอย่างไรบ้าง ต่างคนต่างแก้ปัญหากันเอาเอง “ทางราชการ” คือคณะสงฆ์-ชี้ตรงไปที่มหาเถรสมาคม-ไม่ได้เข้าไปรับผิดชอบใดๆ มีหลักสูตรให้เรียนอย่างเดียว อะไรอื่นๆ ทุกอย่างไปบริหารจัดการกันเอาเอง

จะว่าไม่รับผิดชอบใดๆ ประเดี๋ยวจะบาปปาก ทราบว่าทางราชการจะโดยคณะสงฆ์หรือทางรัฐบาลไม่แน่ใจ มี “เงินอุดหนุน” ให้บ้าง แต่จะเท่าไรอย่างไร ไม่ทราบแน่ แต่ที่แน่ๆ ก็คือไม่พอแก้ปัญหา

การอบรมก่อนสอบที่จัดกันตามสำนักต่างๆ เป็นการจัดการของสำนักเรียนต่างๆ ทำกันเอง ไม่ได้ไปจากนโยบาย การดำเนินการ และการกำกับดูแลของคณะสงฆ์เป็นส่วนรวม

ส่วนที่คณะสงฆ์รับผิดชอบโดยตรงมีอย่างเดียวเท่านั้น คือจัดการสอบ

……………….

เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่เมื่อปี ๒๕๖๒ มีพระราชบัญญัติออกมาฉบับหนึ่ง เรียกว่า “พระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. ๒๕๖๒”

…………………………………

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/050/T_0011.PDF

…………………………………

ตอนท้ายของพระราชบัญญัติฉบับนี้มีหมายเหตุ อ้างเหตุผลว่า –

…………………………………

โดยที่โบราณราชประเพณี สถาบันพระพุทธศาสนามีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาของชาติมาโดยตลอด ซึ่งคณะสงฆ์ได้ดำเนินการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมอันเป็นส่วนเฉพาะของการศึกษาของคณะสงฆ์ควบคู่กันไปกับการศึกษาวิชาสามัญ ดังนั้น เพื่อให้การจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมได้รับการสนับสนุนส่งเสริมด้วยดีจากภาครัฐ และสามารถบริหารจัดการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองนโยบายการจัดการศึกษาของคณะสงฆ์และของชาติได้เป็นอย่างดี จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

…………………………………

พระราชบัญญัติฉบับนี้มีทั้งสิ้น ๓๓ มาตรา มาตราที่เป็นหัวใจคือมาตรา ๑๘ บัญญัติไว้ดังนี้ 

…………………………………

มาตรา ๑๘ ในสถานศึกษาพระปริยัติธรรมให้มีผู้ปฏิบัติงานสองประเภท ดังต่อไปนี้

(๑) ประเภทผู้ปฏิบัติงานสอน ได้แก่ ครูสอนพระปริยัติธรรม และครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา

(๒) ประเภทผู้สนับสนุนการศึกษา ได้แก่ บุคลากรทางการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านวิชาการ ซึ่งทำหน้าที่ให้บริการหรือปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจัดกระบวนการการเรียนการสอน การนิเทศก์ และการบริหารการศึกษาในสถานศึกษาพระปริยัติธรรม ได้แก่ ผู้ปฏิบัติหน้าที่บรรณารักษ์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่งานแนะแนว ผู้ปฏิบัติหน้าที่เทคโนโลยีการศึกษา ผู้ปฏิบัติหน้าที่งานทะเบียนวัดผล ผู้ปฏิบัติหน้าที่บริหารงานทั่วไป หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด

…………………………………

ดูตามมาตรานี้ ต่อไปนี้การเรียนบาลีจะไม่ใช่ต่างคนต่างบริหารจัดการกันเอาเองอีกต่อไป แต่จะต้องทำเป็นระบบระเบียบเป็นมาตรฐานเดียวกัน

พระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดให้มีคณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการไว้หลายอย่าง 

หนึ่งในอำนาจหน้าที่เหล่านั้นบอกไว้ในมาตรา ๑๒ (๗) มีข้อความดังนี้ 

…………………………………

กำหนดมาตรฐานกลางการบริหารงานบุคคลสำหรับผู้ปฏิบัติงานตามมาตรา ๑๘ เกี่ยวกับการกำหนดตำแหน่ง อัตรากาลัง เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินวิทยฐานะ เงินค่าตอบแทน ค่าจ้าง สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์อื่น การสรรหา การบรรจุ การแต่งตั้ง การพัฒนา การพ้นจากตำแหน่ง การรักษาวินัย การดำเนินการทางวินัย การร้องทุกข์ การอุทธรณ์ และการลงโทษ

…………………………………

เป็นอันว่าต่อไปนี้การเรียนบาลีจะมี “โรงเรียน” ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่สอนเอาบุญ เรียนเอากรรม เหมือนสมัยที่ผมเรียนมาเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษที่แล้ว ครูสอนมี “เงินเดือน” มีชั่วโมงสอนที่แน่นอน ไม่ใช่หยุดสอนเมื่อไรก็ได้-แล้วแต่กิจนิมนต์

แต่ปัญหาก็คือ การปฏิบัติจริงเป็นรูปธรรมตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ยังไม่ปรากฏ

ผมเชื่อว่า จนถึงวันนี้ วัดต่างๆ สำนักเรียนต่างๆ ตลอดจนพระภิกษุสามเณรทั่วไปก็ยังไม่รู้เรื่องอะไรเลยเกี่ยวกับพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรมฉบับนี้ และขณะนี้เวลาผ่านไป ๓ ปี มีการดำเนินการอะไรไปบ้างแล้วแค่ไหนอย่างไร ก็แทบจะไม่มีใครรู้เลย 

………………..

แต่อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นเพียงกำหนดรูปแบบการบริหารจัดการการเรียนนักธรรมบาลีเท่านั้น แต่ปัญหาเกี่ยวกับนักเรียนจะมาจากไหน มาได้อย่างไร ครูผู้สอนจะมาจากไหน และที่สำคัญที่สุด-เรียนจบแล้วจะเอาไปใช้งานอะไร ขณะนี้พระศาสนาขาดแคลนกำลังคนประเภทไหน จะหามาได้อย่างไร จะสร้างกันได้อย่างไร ใครจะเป็นคนสร้าง ฯลฯ อยู่นอกขอบเขตของพระราชบัญญัติฉบับนี้ และคณะสงฆ์ก็ยังไม่มีแนวคิดหรือนโยบายใดๆ เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวนี้

แถมตัวอย่างชัดๆ แม้ไม่เกี่ยวกับการศึกษาตรงๆ แต่ก็สำคัญมาก – ปัจจุบันนี้จำนวนพระภิกษุสามเณรลดลงไปทุกวัด นอกจากรอให้บุญกรรมจัดสรรแล้วคณะสงฆ์เคยคิดจะทำอะไรบ้างหรือไม่?

มองภาพรวมแล้ว ผมอยากจะเปรียบกิจการคณะสงฆ์-โดยเฉพาะการศึกษา ว่าเหมือนกับขบวนรถไฟที่แล่นมาแต่ไกล มาถึง ณ ปัจจุบัน และกำลังแล่นไปสู่อนาคต

ที่แล่นมาแต่ไกลได้นั้นเพราะแรงขับเคลื่อนของบูรพาจารย์ที่ได้ลงทุนลงแรงสร้างสรรค์ไว้

ครั้นมาถึงปัจจุบัน หัวรถจักรที่ขับเคลื่อนมาหมดกำลังแล้ว เพราะผู้บริหารการพระศาสนารุ่นปัจจุบันไม่ได้สร้างเสริมพัฒนาให้มั่นคงและเพิ่มพูนขึ้น ทำได้เพียงเสวยผลจากบุญเก่า 

ขบวนรถที่เราเห็นว่ายังแล่นไปได้ทุกวันนี้เกิดจาก “แรงเฉื่อย” ที่ยังส่งผลอยู่ แต่เราไม่รู้ตัว หลงคิดว่าหัวรถจักรยังมีแรงขับไปสู่อนาคตได้อยู่

เราจะรอให้หมดแรงเฉื่อย ขบวนรถหยุดนิ่ง แล้วจึงค่อยคิดจุดกำลังหัวรถจักรที่เครื่องดับแล้ว หรือควรจะรีบช่วยกันคิดในขณะที่แรงเฉื่อยยังพอมีอยู่? 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๔

๑๙:๐๐

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *