นิติรัฐ-นิติธรรม (บาลีวันละคำ 728)
นิติรัฐ-นิติธรรม
(บาลีไทย)
อ่านว่า นิ-ติ-รัด / นิ-ติ-ทำ
ประกอบด้วย –
นิติ + รัฐ = นิติรัฐ
นิติ + ธรรม = นิติธรรม
“นิติ” บาลีเป็น “นีติ” (โปรดสังเกตว่า บาลีเป็น นี- ไม่ใช่ นิ-) แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องนำไปให้บรรลุ” หมายถึง การนำไป, การแนะนำ, กฎ, ข้อบังคับ, แบบแผน, การนำทาง, การปฏิบัติ, ความประพฤติที่ถูกต้อง, การกระทำที่เหมาะที่ควร, การใช้วิธีปกครอง, การปกครองประชาชน
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “นีติ” ว่า guidance, practice, conduct, right conduct, propriety; statesmanship, polity (การนำทาง, การปฏิบัติ, ความประพฤติ, ความประพฤติที่ถูกต้อง, การทำที่เหมาะที่ควร; การใช้วิธีปกครอง, การปกครองประชาชน)
โปรดสังเกตว่า ฝรั่งไม่ได้แปล นีติ ว่า law
พจน.54 บอกไว้ว่า –
“นิติ : นีติ, กฎหมาย, กฎปฏิบัติ, แบบแผน, เยี่ยงอย่าง, ขนบธรรมเนียม, ประเพณี, วิธีปกครอง, เครื่องแนะนํา, อุบายอันดี”
“รัฐ” บาลีเขียน “รฏฺฐ” อ่านว่า รัด-ถะ แปลตามศัพท์ว่า “ดินแดนเป็นที่เป็นไปแห่งชาวเมือง” หรือ “ดินแดนเป็นเหตุให้พระราชาทั้งหลายทำลายป้อมค่ายกัน” (ในการเข้ายื้อแย่งเพื่อยึดครองดินแดนของอีกฝ่ายหนึ่ง) ความหมายที่เข้าใจกันก็คือ ดินแดน, อาณาจักร, ประเทศ, แผ่นดิน, บ้านเมือง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “รฏฺฐ” ว่า reign, kingdom, empire; country, realm (รัฐ, อาณาจักร, จักรวรรดิ, ประเทศ, แผ่นดิน)
“ธมฺม” มาจากรากศัพท์ว่า ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม ปัจจัย ลบ รฺ ที่สุดธาตุ และ ร ต้นปัจจัย
: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม แปลว่า “สภาพที่ทรงไว้”
“ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม” และแปลทับศัพท์ว่า ธรรม
ความหมายรวบยอดของ “ธรรม” ก็คือ ข้อปฏิบัติที่เป็นบ่อเกิดแห่งความดี (ดูความหมายละเอียดที่ “ธมฺม” บาลีวันละคำ (115) 31-8-55)
นีติ + รฏฺฐ = นีติรฏฺฐ > นิติรัฐ แปลตามศัพท์ว่า “ประเทศ (ที่ปกครองโดยยึด) หลักกฎหมาย”
คำว่า “นิติรัฐ” ในภาษาไทย ใช้เทียบคำเยอรมันว่า Rechtsstaat
นีติ + ธมฺม = นีติธมฺม > นิติธรรม แปลตามศัพท์ว่า “ข้อปฏิบัติคือกฎหมาย” “หลักกฎหมาย”
พจน.54 บอกไว้ว่า –
“นิติธรรม : (คำที่ใช้ในกฎหมาย) (คำนาม) หลักพื้นฐานแห่งกฎหมายที่บุคคลทุกคนต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน (อ. rule of law)”
นีติรฏฺฐ > นิติรัฐ และ นีติธมฺม > นิติธรรม เป็นคำที่คิดขึ้นใช้ในภาษาไทย ไม่พบว่ามีใช้ในคัมภีร์
ในวงการปกครองหรือการเมือง มีผู้นิยมพูดคำว่า “นิติรัฐ-นิติธรรม” กันเสมอ เมื่อได้ยินคำนี้ควรรู้ความหมายตามศัพท์เดิมเอาไว้เป็นพื้นฐานสำหรับศึกษาความหมายที่นักวิชาการอธิบายขยายความต่อไป
พระบรมราโชวาท :
“…การรักษาความยุติธรรมในแผ่นดิน ก็มิได้มีวงแคบอยู่เพียงแค่ขอบเขตของกฎหมาย หากต้องขยายออกไปให้ถึงศีลธรรมจรรยา ตลอดจนเหตุและผลตามความเป็นจริงด้วย…”
(พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สอบไล่ได้วิชาความรู้ชั้นเนติบัณฑิตยสภา สมัยที่ ๓๓ ปีการศึกษา ๒๕๒๓ ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร ๒๙ ตุลาคม ๒๕๒๔)
#บาลีวันละคำ (728)
15-5-57