บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ปัญหาเรื่องการเรียนบาลี (๑)

ปัญหาเรื่องการเรียนบาลี (๒)

ปัญหาเรื่องการเรียนบาลี (๒)

————————–

๒ สำนักเรียนบาลีหานักเรียนไม่ได้ + นักเรียนบาลีหาสำนักเรียนไม่ได้

นี่เป็นปัญหาที่มีอยู่จริง ณ เวลานี้ 

สมัยก่อน-คือเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว-วัดไหนเปิดสำนักเรียนบาลี จะมีพระเณรไปเรียนกันเต็มห้อง บางสำนักต้องเปิดหลายห้อง

แต่วันนี้สำนักเรียนบาลีหลายแห่งต้องปิดตัวเอง เพราะไม่มีพระเณรมาเรียน

แต่ก็แปลกอีก ในหลายๆ วัด หลายๆ พื้นที่ มีพระเณรอยากเรียนบาลี แต่ไม่รู้จะไปเรียนที่ไหน หาสำนักเรียนไม่ได้

ผมไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ถ้าพูดไทยปนฝรั่งก็คงต้องว่า supply กับ demand ไม่ balance กัน

แต่ถ้าว่าตามข้อเท็จจริง จะเห็นว่า วันนี้เองบางสำนักเรียนมีพระเณรเรียนบาลีล้นหลาม หรือแม้ไม่ล้นหลามก็ยังสามารถเปิดการเรียนการสอนอยู่ได้ตามปกติ 

แต่ถ้าตามเข้าไปพิจารณาดูก็จะเห็นว่า สภาพเช่นนั้นเกิดจากบุคลิกส่วนตัวหรือความสามารถส่วนตัวของผู้บริหารสำนัก ไม่ได้เกิดจากนโยบายหรือมาตรฐานการบริหารการศึกษาที่วางแผนออกไปจากคณะสงฆ์

พูดกันตรงๆ คณะสงฆ์ไม่ได้ช่วยทำอะไร สำนักไหนจะมีนักเรียนล้นหลามก็มีไป สำนักไหนจะปิดเพราะไม่มีนักเรียนก็ปิดไป พระเณรที่อยากเรียนบาลีไม่มีที่เรียนก็แสวงหาที่เรียนกันเอาเองไป คณะสงฆ์ไม่ได้ช่วยทำอะไร และน่าจะไม่มีนโยบายหรือมีแผนจะทำอะไรด้วย

ทำอย่างไรสำนักเรียนบาลีทั่วไปจึงจะมีนักเรียนมาเรียนอยู่เสมอ และทำอย่างไรพระเณรที่อยากเรียนบาลีจึงจะหาสำนักเรียนได้เสมอ คณะสงฆ์น่าจะมีนโยบาย มีวิธีการ มีแผนการปฏิบัติที่ชัดเจน และปฏิบัติให้เป็นไปตามแผนอยู่ตลอดเวลา แทนที่จะปล่อยให้เป็นไปตามบุคลิกส่วนตัวของเจ้าสำนักเรียน และปล่อยให้พระเณรที่อยากเรียนบาลีแก้ปัญหาเอาเองแบบตัวใครตัวมัน-อย่างที่กำลังเป็นอยู่

กิจการคณะสงฆ์ด้านการศาสนศึกษาและการศึกษาสงเคราะห์ที่มีอยู่น่าจะทำอะไรได้บ้าง?

…………………..

๓ พระเณรที่เรียนบาลีมีน้อยลงไปทุกที

ตัวอย่างที่เห็นง่ายๆ ใกล้ตัวก็คือสำนักเรียนวัดมหาธาตุ ราชบุรี สำนักที่ผมเรียนมา

เมื่อผมมาเรียนบาลีปี ๒๕๐๖ เฉพาะสามเณรมีประมาณ ๓๐ ทุกรูปมาอยู่วัดมหาธาตุเพื่อเรียนบาลี ห้องเรียนไวยากรณ์ต้องแบ่งเป็นนักเรียนเก่าห้องหนึ่ง นักเรียนใหม่ห้องหนึ่ง

เกือบ ๖๐ ปีผ่านไป ทุกวันนี้สำนักเรียนวัดมหาธาตุราชบุรีแทบจะไม่มีพระเณรมาเรียนบาลีอีกแล้ว

บุคลิกหรือนโยบายของเจ้าสำนักเรียนก็อาจเป็นปัจจัยสำคัญ และเพราะเช่นนั้นนั่นเอง จึงไม่ควรละหรือที่คณะสงฆ์จะมีนโยบายของคณะสงฆ์เสียเอง แทนที่จะปล่อยให้เป็นนโยบายใครนโยบายมันตามบุคลิกของเจ้าสำนักเรียน 

จะเรียกว่า นโยบายสรรหานักเรียนบาลี ก็ได้

นั่นคือ ไม่รอให้นักเรียนบาลีมีมาเองหรือเกิดเองเหมือนสมัยก่อน หากแต่ใช้วิธีสรรหาหรือสร้างนักเรียนบาลีขึ้นมา 

มีนโยบาย มีข้อมูล มีแผนปฏิบัติ 

สรรหาที่ไหน สรรหาแบบไหน ใช้วิธีการอย่างไร

ระดมคน ระดมความคิด ทำอย่างเป็นภารกิจสำคัญของสงฆ์

พอพูดอย่างนี้ ก็จะได้ยินเสียง “นักลากภูเขาขวางทาง” แว่วๆ มาทันที “โอย สมัยนี้มันทำไม่ได้หรอก สังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว คุณจะไปหาเด็กที่ไหนมาบวชเรียน เด็กสมัยนี้เขามีช่องทางไปทางอื่นกันหมดแล้ว ฝันไปเถอะ ….”

ว่าแล้วเราก็ปล่อยให้บุญกรรมจัดสรรกันไปตามสบาย-เหมือนกับที่เคยเป็นมา และกำลังเป็นอยู่

…………………..

ใครเคยอ่านหนังสือมิลินทปัญหา คงจะจำได้ว่าพระนาคเสนนั้นเกิดในตระกูลที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา 

เหตุการณ์ต้นเรื่อง (ต่อจากตอนที่พระใช้เณรขนขยะ) เล่าว่า พระอรหันต์ประชุมกันด้วยกิจของสงฆ์ แต่พระอรหันต์องค์หนึ่งชื่อพระโรหณเถระไม่ได้ไปร่วมประชุมเพราะเข้าสมาบัติอยู่ สงฆ์จึงลงทัณฑกรรมให้ท่านไปชักจูงพระนาคเสนมาบวช 

พระโรหณเถระใช้เวลาไปบิณฑบาตที่บ้านตระกูลนั้นนานถึง ๗ ปี ๑๐ เดือน คือตั้งแต่วันที่พระนาคเสนปฏิสนธิจนมีอายุได้ ๗ ขวบ โดยไม่มีใครใส่บาตรแม้แต่ทัพพีเดียว และไม่มีใครพูดด้วยแม้แต่คำเดียว 

แต่ในที่สุดท่านก็ทำให้ตระกูลนั้นเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและชักจูงให้พระนาคเสนบวชได้สำเร็จ ทำให้เกิดพระเถระที่มีความสามารถตอบโต้ปัญหากับพระยามิลินท์ได้ และยอยกพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองสืบมา

เด็กสร้าง เณรสร้าง พระสร้าง เกิดมีได้ถ้าร่วมใจกันสร้าง เราอาจเจอเพชรที่จะส่องประกายให้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองขึ้นได้อีกยาวนาน-เหมือนกับที่พระอรหันต์ท่านสร้างพระนาคเสนมาในอดีตกาล

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๔

๑๘:๔๔

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *