บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ปัญหาเรื่องการเรียนบาลี (๑)

ปัญหาเรื่องการเรียนบาลี (๓)

ปัญหาเรื่องการเรียนบาลี (๓)

————————–

๔ ปัญหาเรื่องเป้าหมายของการเรียนบาลี

นักเรียนบาลีของเราส่วนมากเรียนบาลีโดยไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน

คำว่า “เป้าหมาย” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงผู้ที่เรียนบาลีสำเร็จแล้วมีความรู้ความสามารถหรือมีคุณภาพแค่ไหน แต่หมายถึงว่า เรียนบาลีเพื่อจะเอาไปใช้งานอะไร

พระเณรที่เรียนบาลีจบแล้ว-เช่นสอบ ป.ธ.๙ ได้แล้ว คณะสงฆ์จะเอาไปใช้งานอะไร หรือจะให้ไปทำอะไร ไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน

ตัวผู้เรียนอาจมีแผนมีเป้าหมายของตัวเอง แต่คณะสงฆ์ไม่มีแผน ไม่มีเป้าหมาย ใครจะอยู่ใครจะไปไหน ตัวใครตัวมัน

เป้าหมายของการเรียนบาลีคืออะไร? 

(๑) เป้าหมายตามหลักการ: เรียนบาลีเพื่อเข้าถึงพระไตรปิฎกซึ่งหมายถึงเข้าถึงหลักพระธรรมวินัยอันเป็นตัวพระศาสนา แล้วนำพระธรรมวินัยที่ถูกต้องมาประพฤติปฏิบัติสำหรับตน และเผยแผ่ต่อไป 

(๒) เป้าหมายส่วนตัว: เรียนเพื่อสอบได้เพื่อได้ศักดิ์และสิทธิ์ แล้วนำศักดิ์และสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ต่อไป 

การเรียนบาลีของเราไม่ได้มีการแนะแนวเรื่องแบบนี้

ถ้าแนะแนวไปตั้งแต่ต้นทาง ผู้เรียนก็จะมีโอกาสเลือกเป้าหมายไปตั้งแต่ต้นทาง

แต่ในระดับการบริหารจัดการ ควรคำนึงให้กว้างออกไปอีกชั้นหนึ่ง นั่นคือคำนึงว่า วงการพระศาสนาของเราต้องการผู้เรียนบาลีตามเป้าหมายแบบไหน 

เราต้องการคนเรียนบาลีเพื่อสืบทอดพระศาสนา (เป้าหมายข้อ ๑) 

หรือว่าเราจะทำเพียงแค่ช่วยสงเคราะห์คน กล่าวคือช่วยให้คนจำนวนหนึ่งในสังคมที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาให้ได้ศักดิ์และสิทธิ์จากการเรียนบาลี เพื่อใช้ศักดิ์และสิทธิ์นั้นไปทำประโยชน์ส่วนตนต่อไป (เป้าหมายข้อ ๒) 

ตรงจุดนี้เราไม่ค่อยได้ใส่ใจกัน 

เราบอกกันแต่ว่า ไปเรียนบาลีกัน ไปเรียนบาลีกัน แต่เรียนทำไมเพื่ออะไร เราปล่อยให้ผู้เรียนแสวงหาคำตอบเอาเอง 

การเรียนบาลีของเราจึงคล้ายกับบริษัทผลิตสินค้าที่ไม่มีตลาดหรือไม่ได้เตรียมตลาดรองรับไว้ให้ชัดเจน

คำถามคือ เราจะไปกันเรื่อยๆ แบบนี้ หรือควรจะตั้งเป้าหมายกันให้ชัดเจน

ถ้าไปกันเรื่อยๆ แบบนี้ ก็ไม่ต้องทำอะไร ถึงเวลาก็เรียน ถึงเวลาก็สอบ สอบได้แล้วจะไปทำอะไรก็เชิญตามสบาย แบบนี้สบายดีทุกฝ่าย ไม่เหนื่อย

ถ้าตั้งเป้าหมาย-ซึ่งควรตั้งอย่างยิ่ง-ก็ต้องเริ่มคิดว่า –

(๑) เราจะหาคนเรียนบาลีมาจากไหน 

(๒) จะสนับสนุนส่งเสริมอย่างไรให้การเรียนบาลีเข้มข้นขึ้น 

(๓) จะผลิตเปรียญธรรม ๙ ประโยคให้ได้ปีละเท่าไร 

(๔) จะใช้ผู้จบเปรียญธรรม ๙ ประโยคไปทำงานอะไรเพื่อพระศาสนา-นั่นคือจะเตรียมงานอะไรรองรับผู้จบเปรียญธรรม ๙ ประโยค เพื่อที่ว่าผลิตออกมาแล้วจะได้ไม่สูญเปล่า (สูญเปล่า-หมายความว่าอยู่ว่างๆ ไม่มีงานให้ทำ)

แน่นอน ต้องเหนื่อยกันอีกมาก หนักกันอีกนาน แต่ถ้าตั้งใจอุทิศชีวิตเพื่อพระศาสนา บูชาพระพุทธเจ้า จะทำงานแบบนี้ได้ด้วยความสุข 

แต่เหนืออื่นใดที่ต้องไม่ลืมคิดก็คือ ใครล่ะจะเป็นคนลงมือคิดลงมือทำ 

อ๋อ ก็คณะสงฆ์นะสิ 

ทราบแล้ว 

แต่ในคณะสงฆ์นั่นแหละใครล่ะจะเป็นคนนับหนึ่ง? เวลานี้ท่านนั่งอยู่ตรงไหน? และท่านรู้หรือเปล่าว่าท่านจะต้องเป็นคนนับหนึ่ง?

งานนี้ไม่ยาก

แต่ก็ไม่ง่าย

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๔

๑๕:๔๘

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *