ปัญหาเรื่องการเรียนบาลี (๑)
ปัญหาเรื่องการเรียนบาลี (๔)
ปัญหาเรื่องการเรียนบาลี (๔)
————————–
๔ ปัญหาเรื่องเป้าหมายของการเรียนบาลี (ต่อ)
แง่คิดสำคัญของการเรียนบาลีที่ผมเชื่อว่าแทบจะไม่มีใครตระหนักก็คือ เป้าหมายจริงๆ ของการเรียนบาลีคือเรียนไปเพื่ออะไร
“เป้าหมายจริงๆ” หมายถึงเป้าหมายตามหลักการ ไม่ใช่เป้าหมายอันเป็นผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นและมองเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน หรือเป้าหมายส่วนตัว เช่นจบประโยค ๙ แล้วจะได้เป็นเจ้าคุณ สึกไปก็สอบเข้าเป็นอนุศาสนาจารย์ได้ เอาวุฒิประโยค ๙ ไปต่อปริญญาโทก็ได้ เป็นต้น – เหล่านี้เป็นผลพลอยได้ที่เกิดทีหลัง ไม่ใช่เป้าหมายจริงๆ
ลองคิดอีกมุมหนึ่งดูก็ได้
จบประโยค ๙ ถ้าเขาไม่ให้เป็นเจ้าคุณ จะเป็นได้อย่างไร
ถ้ากระทรวงกลาโหมเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ ไม่รับสมัครผู้ที่จบประโยค ๙ เข้าเป็นอนุศาสนาจารย์ จะไปสอบเข้าได้อยางไร
ถ้าสถาบันการศึกษาเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ ไม่ยอมให้ผู้ที่จบประโยค ๙ เรียนปริญญาโท จะเรียนได้อย่างไร
นี่คือข้อพิสูจน์ว่า – ศักดิ์และสิทธิ์เหล่านั้นเป็นเพียงผลพลอยได้ที่เกิดทีหลัง ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นก่อนการเรียนบาลีหรือแม้แต่เกิดพร้อมๆ กับการเรียนบาลี
นั่นคือ แรกเริ่มเดิมทีที่มีการเรียนบาลี ผลพลอยได้เหล่านี้ยังไม่มี ต่อมาเมื่อผู้เรียนบาลีไปแสดงคุณภาพหรือความสามารถอย่างใดอย่างหนึ่งให้สังคมเห็นประจักษ์ สังคมจึงให้สิทธิ์บางอย่างซึ่งกลายเป็นผลพลอยได้ที่เห็นกันอยู่ และกลายเป็นเป้าหมายของผู้เรียนบาลี ในขณะที่เป้าหมายจริงไม่มีใครนึกถึง
ถ้าเช่นนั้น “เป้าหมายจริงๆ” ของการเรียนบาลีคืออะไร?
ข้อเท็จจริงที่รู้เห็นกันแล้วก็คือ ภาษาบาลีไม่ใช่ภาษาเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวันของผู้คน ไม่มีชาติใดในโลกที่ผู้คนพูดภาษาบาลีในชีวิตประจำวัน เป้าหมายจริงๆ ของการเรียนบาลีจึงมิใช่เพื่อการสื่อสารเหมือนภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ฯลฯ
แหล่งที่มีภาษาบาลีปรากฏตัวอยู่ในโลกก็มีอยู่แห่งเดียว คือพระไตรปิฎก (เมื่อพูดถึง “พระไตรปิฎก” พึงทราบว่าหมายรวมถึงคัมภีร์ทุกประเภททุกระดับชั้นที่เป็นภาษาบาลี) การเรียนบาลีจึงสัมพันธ์กับพระไตรปิฎกโดยตรง
ถ้าเปรียบเทียบกับการเรียนภาษาอื่นๆ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ฯลฯ อาจจะช่วยให้เข้าใจเป้าหมายจริงๆ ของการเรียนบาลีได้ชัดขึ้น
…………………..
คนไทยจะไปเรียนวิชาอะไรสักอย่างที่มีสอนอยู่ในประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ และสอนเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ฯลฯ เราก็ต้องเรียนภาษานั้นๆ ก่อน ใช่หรือไม่
เรียนภาษานั้นๆ จนสามารถใช้งานได้ คือฟังคำบรรยายรู้เรื่องและเข้าใจวัฒนธรรมประเพณีเป็นต้นของชาตินั้นๆ สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมของประเทศนั้นได้ในระหว่างที่ไปเรียนวิชา นี่คือเป้าหมายของการเรียนภาษาต่างๆ
……………………………
เรียนภาษาเพื่อใช้ภาษาเป็นเครื่องมือเรียนวิชา
เป้าหมายอยู่ที่เรียนวิชา รู้วิชา ได้วิชากลับมา
……………………………
เรียนภาษานั้นๆ จบแล้ว เอาแต่ชื่นชมว่าฉันเรียนภาษานั้นฉันรู้ภาษานั้น แต่ไม่ไปเรียนวิชาที่เขาสอนเป็นภาษานั้นๆ การเรียนภาษานั้นๆ ก็ผิดเป้าหมาย
เพราะเราไม่ได้เรียนภาษาเพียงเพื่อรู้ภาษา แต่เรียนภาษาเพื่อรู้วิชา
……………………………
การเรียนภาษาบาลี เทียบได้กับคนที่เรียนภาษาต่างๆ
รู้ภาษาบาลีแล้วไปเรียนพระไตรปิฎก เทียบได้กับคนที่เรียนภาษานั้นๆ แล้วไปเรียนวิชาที่ประเทศนั้นๆ
……………………………
หรือพูดในทางกลับกัน —
……………………………
เรียนภาษาต่างๆ เทียบได้กับการเรียนบาลี
รู้ภาษานั้นๆ แล้วไปเรียนวิชาที่ประเทศนั้นๆ ต่อไป เทียบได้กับรู้ภาษาบาลีแล้วไปเรียนพระไตรปิฎกต่อไป
……………………………
รู้ภาษาบาลีแล้ว แต่ไม่เรียนพระไตรปิฎกต่อไป เอาแต่ชื่นชมว่าฉันจบบาลี ก็เหมือนคนที่เรียนภาษานั้นๆ แล้ว แต่ไม่ไปเรียนวิชาที่ประเทศนั้นๆ ต่อไปตามที่ตั้งเป้าหมาย เอาแต่ชื่นชมว่าฉันเรียนภาษานั้นฉันรู้ภาษานั้น
พอจะมองเห็นและเข้าใจ “เป้าหมายจริงๆ” ของการเรียนบาลีแล้วหรือยัง
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้ก็คือ เราพากันยกเอาศักดิ์และสิทธิ์หรือผลพลอยได้จากการเรียนบาลีขึ้นเป็นเป้าหมายหลัก แล้วพยายามหาเหตุผลมาอธิบายว่าศักดิ์และสิทธิ์หรือผลพลอยได้นี่แหละคือเป้าหมายจริงๆ ของการเรียนบาลี
ส่วน “เป้าหมายจริงๆ” ของการเรียนบาลีคือการเรียนพระไตรปิฎกเราก็ช่วยกันอธิบายว่า “ควรเป็นไปตามอัธยาศัย”
เทียบกับการเรียนภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ฯลฯ ซึ่งเป้าหมายเดิมคือไปเรียนวิชาที่อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ฯลฯ แต่เมื่อเรียนภาษานั้นๆ จบแล้วกลับไม่ไปเรียนวิชา บอกกันว่าแค่รู้ภาษาก็ดีพอแล้ว ไปเรียนหรือไม่ไปเรียนแล้วแต่ความสะดวก
…………………..
เวลานี้มีหลักการใหม่เกิดขึ้น นั่นคือ เรียนภาษาในแง่ “ภาษาศาสตร์”
คือไม่ได้มีเป้าหมายที่จะเอาภาษาไปใช้เรียนวิชาใดๆ ต่อไปอีก หากแต่เรียนเพื่อรู้ในฐานะเป็น “ภาษาศาสตร์” เท่านั้น ผู้เรียนจบก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญทางภาษาศาสตร์ ได้ศักดิ์และสิทธิ์กันตรงนั้น
เวลานี้กำลังมีความพยายามที่จะให้นักเรียนบาลีเรียนบาลีในฐานะเป็น “ภาษาศาสตร์” คือไม่ต้องเอาความรู้บาลีไปเรียนพระไตรปิฎก ไม่ต้องเอาความรู้บาลีไปศึกษาพระธรรมวินัยแล้วเอาพระธรรมวินัยที่ถูกต้องมาประพฤติปฏิบัติและเผยแผ่ต่อไป
ไม่ใช่แบบนั้นอีกแล้ว
แต่เรียนเพื่อได้ชื่อว่ารู้ภาษาบาลี แล้วได้ศักดิ์และสิทธิ์ในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางภาษาบาลี
จะรู้หลักพระธรรมวินัยหรือไม่รู้
ความประพฤติปฏิบัติจะเป็นอย่างไร
ตัวผู้เรียนจะนับถือพระพุทธศาสนาหรือไม่นับถือ
ตลอดจนอนาคตพระพุทธศาสนาจะเป็นอย่างไร
ไม่เกี่ยว ไม่สน ไม่ใช่หน้าที่
หน้าที่คือเรียนบาลีเพื่อให้ได้ชื่อว่าจบบาลี ได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญทางภาษาบาลี ได้ศักดิ์และสิทธิ์กันตรงนั้น พอ
ถ้าแนวคิด-เรียนบาลีในแง่ภาษาศาสตร์ เป็นที่ยอมรับ เป็นที่นิยม จะเป็นอย่างไร?
จะเป็นอย่างไรก็ขอให้เข้าใจด้วยอุปมา —
พระไตรปิฎกเหมือนตำรายารักษาโรค
เรียนบาลีก็เพื่อไปเรียนพระไตรปิฎก คือเรียนตำรายารักษาโรค
รู้ตัวยา รู้วิธีประกอบยา แล้วเอาความรู้มาทำยารักษาโรค
เรียนบาลีในแง่ภาษาศาสตร์ก็คือเรียนให้อ่านตำรายาออก แต่ไม่ต้องเรียนตำรายา
เวลานี้มีแนวโน้มว่ากำลังจะเป็นแบบนี้
ถ้าแนวโน้มนี้เป็นจริง ในอนาคตการเรียนบาลีก็จะรุ่งโรจน์ แต่พระไตรปิฎกจะร่วงโรย
คนเรียนบาลีก็อยู่ส่วนบาลี พระไตรปิฎกก็อยู่ส่วนพระไตรปิฎก ไม่มีอะไรต้องเกี่ยวข้องกัน
คนรู้บาลีไม่จำเป็นต้องเรียนพระไตรปิฎก
คนเรียนพระไตรปิฎกไม่จำเป็นต้องรู้บาลี
ผู้บริหารการพระศาสนาของเราอยากให้เป็นแบบนี้หรือ
หรือยังจะคิดว่า คนเรียนบาลีที่เขาสนใจเรียนพระไตรปิฎกด้วยมันก็ต้องมีมั่งแหละ …
ถ้าคิดแบบนี้ ก็ไม่ต้องทำอะไร ปล่อยให้บุญกรรมจัดสรรต่อไป
ว่าแต่ว่า-ใครจำพระราชปุจฉาที่เผยแพร่ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ได้บ้างครับ?
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๔
๑๗:๓๖