บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ปัญหาเรื่องการเรียนบาลี (๑)

ปัญหาเรื่องการเรียนบาลี (๕)

ปัญหาเรื่องการเรียนบาลี (๕)

————————–

๕ ทำอย่างไรผู้มีหน้าที่จึงจะรับรู้ปัญหาและลงมือแก้ปัญหา

ที่กล่าวมาในตอนก่อนๆ เป็นการพูดถึงปัญหาและแนวทางแก้ปัญหาเรื่องการเรียนบาลี คราวนี้ก็มาถึงตอนสำคัญที่สุด คือทำอย่างไรผู้มีหน้าที่จึงจะรับรู้ปัญหาและลงมือแก้ปัญหา

ธรรมชาติอย่างหนึ่งของระบบงานของเราก็คือ จะบอกผู้มีหน้าที่ให้ทำอะไร จะต้อง “ทำเรื่อง” ส่งไป

คำพูดติดปากที่เราอาจจะเคยได้ยินผู้มีหน้าที่พูดก็คือ “ไปทำเรื่องมา”

“ไปทำเรื่องมา” ในความหมายนี้ก็คือ เขียนข้อความลงบนแผ่นกระดาษ (หมายรวมไปถึงพิมพ์หรือใช้กลไกอื่นๆ) ลงชื่อผู้เขียน บรรจุซอง ดำเนินการส่งไปให้ถึงสำนักงานของผู้มีอำนาจหน้าที่ เจ้าหน้าที่รับกระดาษนั้นไปดำเนินกรรมวิธีตาม “ระเบียบงานสารบรรณ” นิยมเรียกกันว่า “รับเรื่อง” แล้วเอากระดาษนั้นใส่แฟ้ม เอาแฟ้มไปเสนอผู้มีอำนาจหน้าที่ เพื่อให้ผู้มีอำนาจหน้าที่รับทราบหรือสั่งการ เมื่อดำเนินการดังกล่าวมานี้จึงจะพูดกันว่า “เรื่องมาแล้ว” 

ถ้ายังไม่ได้ทำตามที่ว่ามานี้หรือผู้มีอำนาจหน้าที่ยังไม่ได้เห็นกระดาษแผ่นนั้น ก็จะพูดกันว่า “ยังไม่เห็นเรื่อง” หรือ “เรื่องยังไม่มา” นั่นหมายถึงว่าผู้มีอำนาจหน้าที่ก็จะยังไม่ทำอะไร

นี่คือขั้นตอนตามระบบการทำงานที่หน่วยราชการ-รวมทั้งคณะสงฆ์-ยึดถือเป็นหลักปฏิบัติ

ใครจะบอกจะเสนอให้ใครทำอะไร ต้องทำตามขั้นตอนที่กล่าวมานี้เท่านั้น ทำอย่างอื่นไม่ได้ 

เว้นไว้แต่ผู้มีอำนาจในหน่วยงานนั้นหรือผู้มีอำนาจที่เหนือกว่าสั่งให้ใครในหน่วยงานนั้นทำเรื่องนั้น ก็จะมีคำเรียกว่า “ยกเรื่อง” ก็คือจะต้องมีคนเขียนลงบนแผ่นกระดาษบรรยายว่าจะมีการทำอะไรและให้ใครทำ แล้วเอากระดาษนั้นไปเข้ากระบวนการตามระเบียบงานสารบรรณ การทำหรือการปฏิบัติเรื่องนั้นๆ จึงจะเริ่มขึ้น

แต่โดยทั่วไปหรือโดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้มีอำนาจหน้าที่จะใช้วิธีนั่งรอให้กระดาษวิ่งเข้ามาถึงมือ

และพึงทราบว่า ขั้นตอนตามที่ว่าก็ยังเป็นแต่เพียงขั้น “เรื่องมาแล้ว” เท่านั้น แต่จะทำอะไรหรือไม่ทำอะไรยังเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง

…………………..

ถ้าพิจารณาถึงความเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ ในโลกประกอบกับความก้าวหน้าของระบบการสื่อสารผ่านอุปกรณ์หรือช่องทางต่างๆ แล้ว จะเห็นได้ว่าการเสนอเรื่องรับเรื่องจนถึงขึ้น “เรื่องมาแล้ว” ที่ทางราชการใช้เป็นแนวปฏิบัติอยู่นี้ต้องนับว่าล้าหลังมากๆ

บางทีคิดดูก็น่าขัน เรื่องที่คนเขารู้กันทั้งโลกแล้ว แต่หน่วยราชการยังคงพูดหน้าตาเฉยว่า “ยังไม่เห็นเรื่อง” หรือ “เรื่องยังไม่มา” ด้วยเหตุผลสำคัญข้อเดียวคือยังไม่มีแผ่นกระดาษมาอยู่ในแฟ้ม

ผมขอเสนอให้ปรับปรุงระบบการทำงานโดยด่วนครับ

ระบบนั่งรอให้กระดาษวิ่งมาใส่มือ ถ้ายังอยากจะทำต่อไป ก็ทำต่อไป เพียงแต่ขอให้เพิ่มวิธีวิ่งออกไปหาเรื่องมาใส่แฟ้ม

หลักการคือ จัดเจ้าหน้าที่ออกลาดตระเวนเก็บข้อเสนอจากแหล่งต่างๆ ที่ผู้คนเขาแสดงความเห็นและข้อเสนอแนะกัน

คำว่า “ออกลาดตระเวน” นั้น พูดเพื่อให้เห็นภาพ แต่การปฏิบัติจริงผู้ปฏิบัติไม่ต้องออกไปไหนเลย นั่งหน้าเครื่องมือหรืออุปกรณ์อยู่ในห้องแอร์นั่นเอง งานที่ทำคือ – 

(๑) เปิดอ่านความเห็นและข้อเสนอแนะที่ปรากฏทางสื่อต่างๆ 

(๒) คัดลอก+รวบรวมความเห็นและข้อเสนอแนะทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับงานในหน่วยงานของตน 

(๓) คัดกรอง แบ่งเป็นหมวดหมู่ตามเนื้องาน อาจต้องใช้ทักษะในการสรุปเรื่อง-จับประเด็นเป็นพิเศษบ้าง 

(๔) เข้าแฟ้มเสนอผู้มีอำนาจหน้าที่เพื่อดำเนินการต่อไป

แต่ละหน่วยงานมีทุนอยู่แล้ว นั่นคือ “ประชาสัมพันธ์” ของหน่วย บางหน่วยเป็นระดับแผนก บางหน่วยเป็นระดับกอง ที่เป็นระดับกรมที่เรารู้จักกันดีคือกรมประชาสัมพันธ์

ปรับปรุงงานประชาสัมพันธ์ที่แต่ละหน่วยมีอยู่แล้วนั่นแหละ วิธีดั้งเดิมคือนั่งรอให้คนมาสอบถามอยู่กับโต๊ะ ก็ยังมีอยู่ แต่เพิ่มงาน “ออกลาดตระเวน” ตามที่กล่าวข้างต้นเข้าไปอีก 

แน่นอนว่าต้องเหนื่อยเพิ่มขึ้น นั่นคือต้องปลุกจิตสำนึกของข้าราชการให้ตื่นตัว-ทำงานรับใช้ประเทศชาติและประชาชน ไม่ใช่นั่งสบายเป็นนายประชาชน

ถ้าทุกหน่วยงานมีระบบ “ออกลาดตระเวน” เหมือนกันก็จะยิ่งสบาย 

หน่วย เอ เจอข้อเสนอแนะที่เป็นงานของหน่วย บี แจ้งให้หน่วย บี ทราบ

หน่วย บี เจอข้อเสนอแนะที่เป็นงานของหน่วย เอ แจ้งให้หน่วย เอ ทราบ

หรือจะให้ดีกว่านั้น จัดตั้ง “ศูนย์กลางเก็บรวบรวมข้อเสนอแนะแห่งชาติ” ขึ้นมาโดยเฉพาะก็ยิ่งประเสริฐ ทำหน้าที่ติดตามเก็บรวบรวมข้อเสนอแนะที่ปรากฏทางสื่อต่างๆ แล้วแยกแยะจัดส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ก็จะช่วยให้สามารถเก็บรวบรวมข้อเสนอแนะได้ครบถ้วนและและเป็นระบบยิ่งขึ้น

…………………..

ผมเขียนบาลีวันละคำมากว่า ๓๐๐๐ วัน ได้พบคำที่สมควรเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แต่ยังไม่ได้เก็บไว้เป็นจำนวนมาก พบคำหนึ่งผมก็จะบอกไว้ว่า “คำนี้ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พศ.๒๕๕๔” ถึงวันนี้น่าจะเป็นร้อยคำ

แน่นอนว่าคำบอกหรือข้อเสนอแนะนี้ไปไม่ถึงราชบัณฑิตยสภา เพราะมันไม่ได้เป็นแผ่นกระดาษเข้าไปอยู่ในแฟ้ม ต่อให้คนที่ทำงานอยู่ในราชบัณฑิตยสภาแท้ๆ มาได้อ่านเข้าก็ช่วยอะไรไม่ได้ เขาย่อมอ้างไว้ว่าไม่ใช่หน้าที่ของเขาที่จะเอาไปเสนอ

แต่ถ้ามีระบบ “ออกลาดตระเวน” อย่างที่ว่า คำบอกหรือข้อเสนอแนะนั้นอาจไปถึงราชบัณฑิตยสภาในวันนั้นหรือวันรุ่งขึ้นนั่นเองเป็นอย่างช้า

ปัญหาเรื่องการเรียนบาลีที่ผมเสนอแนะไปถึงคณะสงฆ์นี้ก็เช่นเดียวกัน ถ้าหน่วยงานของคณะสงฆ์มีระบบ “ออกลาดตระเวน” อย่างที่ว่า ก็คงไม่ต้องมีใครพูดว่า ทองย้อยน่าจะเสนอไปยังคณะสงฆ์ เพราะการที่ผมโพสต์ทางเฟซบุ๊กก็เท่ากับได้เสนอไปยังคณะสงฆ์เรียบร้อยแล้วนั่นเอง

ฟังแล้วคงจะมีคนบอกว่าฝันเฟื่องเพ้อเจ้ออีกเช่นเคย แต่ผมเชื่อว่าโดยศักยภาพที่เรามีอยู่ในวันนี้ เราสามารถทำได้ 

ที่ยังขาดอยู่ก็คือ คนที่จะสั่งให้ทำ

…………………..

เมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้ว คนทำงานมีเงินเดือนจะรับเงินเดือน ต้องชักแถวไปที่แผนกการเงิน ต้องเซ็นชื่อแล้วจึงรับตัวเงินมาใส่กระเป๋า

แต่ ณ วันนี้ ทุกคนรับเงินเดือนผ่านระบบออนไลน์

เมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้ว ใครมีเรื่องอะไรจะเสนอต่อทางราชการต้องทำเป็นแผ่นกระดาษ และแผ่นกระดาษนั้นเข้าไปอยู่ในแฟ้ม ผู้มีอำนาจหน้าที่จึงจะรับรู้

ผ่านไป ๑๐๐ ปี เรายังจะใช้ระบบ-ต้องทำเป็นแผ่นกระดาษ และแผ่นกระดาษนั้นเข้าไปอยู่ในแฟ้ม-กันอยู่อีก 

หรือว่าควรจะก้าวให้ทันโลกกันได้แล้ว

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๔

๑๓:๑๓

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *