บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ลักษณะนิสัยในการสื่อสารสมัยนี้ (๑)

ลักษณะนิสัยในการสื่อสารสมัยนี้ (๒)

ลักษณะนิสัยในการสื่อสารสมัยนี้ (๒)

——————————–

ช่องทางการสื่อสารสมัยนี้มีหลากหลาย หนึ่งในจำนวนนั้นที่ผมอยากจะพูด-เพราะมีความคิดอะไรบางอย่าง ก็คือ เฟซบุ๊ก

เริ่มไปจากคำว่า “เฟซบุ๊ก” นี่เลย ชื่อนี้เป็นคำฝรั่ง สะกดเป็นอักษรฝรั่งว่า Facebook

สำหรับผม มีปัญหาไปตั้งแต่วิธีสะกดนั่นเลย คือผมสงสัยว่า Face- คำนี้ต้องใช้ F ตัวพิมพ์ใหญ่ หรือใช้ f ตัวพิมพ์เล็กก็ได้ มีหลักหรือเปล่าว่ากรณีอย่างไรใช้แบบไหน 

ท่านผู้ใดรู้หลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง ที่ไม่ใช่คิดเอาเอง ขอความกรุณานำหลักความรู้มาเสนอสู่กันอ่าน จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

ปัญหาต่อไปก็คือ Facebook หรือ facebook ถอดเป็นอักษรไทยสะกดอย่างไร

ผมเคยเห็นที่มีผู้ใช้ว่า เฟส ซึ่งเข้าใจว่าตัดมาจาก Facebook หรือ facebook นี่แหละ ใช้ ส เสือสะกด ถูกต้องหรือไม่ 

Face หรือ face ตามความเข้าใจของผม น่าจะถอดเป็น เฟซ ซ โซ่ สะกด คือ c เท่ากับ ซ โซ่ ไม่ใช่ ส เสือ

ส่วน book นั้น คุณครูจรัญญาซึ่งเป็นอาจารย์สอนภาษาไทยท่านกรุณานำหลักการถอดคำของราชบัณฑิตยสภามาแสดงว่า k เป็นตัวสะกดเท่ากับ ก เมื่อสะกดตามเสียงที่เราพูด book ก็ควรถอดเป็น บุ๊ก วรรณยุกต์ตรี ก ไก่สะกด

ดังนั้น Facebook หรือ facebook เมื่อถอดเป็นอักษรไทยก็ควรสะกดเป็น เฟซบุ๊ก เวลาเขียนคำนี้ผมสะกดอย่างนี้ทุกครั้ง 

แต่เห็นท่านอื่นๆ สะกดเป็น เฟสบุค เฟซบุ๊ค เฟสบุ๊ก แปลกๆ กันไป แบบว่าใครนึกว่าควรสะกดอย่างไรก็สะกดกันไปตามที่ใจนึก 

นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมเห็นว่าควรยึดหลักเกณฑ์เดียวกัน เริ่มจากตรวจดูว่ามีหลักเกณฑ์กำหนดไว้อย่างไรหรือเปล่า ถ้ามีก็ใช้ตามหลักเกณฑ์นั้น ถ้ายังไม่มี ก็ให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ทางภาษากำหนดขึ้นมา แล้วประกาศให้กันรู้ แล้วเราก็ใช้ตามนั้น ภาษาของเราก็จะเป็นเอกภาพและเป็นระเบียบเรียบร้อย

นี่เป็นแค่คำเดียว ตัวอย่างเดียว เรื่องอื่นๆ ก็ใช้หลักเดียวกันนี้

หลักของผมก็คือ ระเบียบวินัยเป็นหัวใจของการพัฒนาสังคม

สำหรับท่านที่นิยมลัทธิ – ภาษาเป็นสิ่งสมมุติ ไม่มีผิดไม่มีถูก เขียนอย่างไรก็ได้ อ่านอย่างไรก็ได้ ขอให้เข้าใจตรงกันว่าหมายถึงอะไรเท่านั้นเป็นพอ – ก็ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ เราจะไม่เถียงกัน ท่านถือของท่านไป ผมก็ถือของผมไป ต่างคนต่างไป ไม่ว่ากัน

………………

คราวนี้ก็มาถึงเรื่องที่ผมบอกว่าผมมีความคิดอะไรอยู่อย่างหนึ่ง 

เมื่อมองเฟซบุ๊ก ผมชอบใจความคิดของท่านศาสตราจารย์ ดร.สมภาร พรมทา ท่านบอกว่า เฟซบุ๊กเหมือนหนังสือพิมพ์ส่วนตัวของแต่ละคน 

ขอให้ดูไปที่หนังสือพิมพ์จริงๆ ก่อน

หนังสือพิมพ์ฉบับไหนจะลงข่าวลงภาพอะไร ลงบทความลงเรื่องราวอะไรแบบไหน ขึ้นอยู่กับนโยบายหรือ “แนว” ของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นๆ เราอยากให้หนังสือพิมพ์ลงข่าวนี้ลงเรื่องนั้น ถ้าเขาไม่ลง เราก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากขัดเคือง

แต่พอมีเฟซบุ๊ก และ “เฟซบุ๊กเหมือนหนังสือพิมพ์ส่วนตัวของแต่ละคน” คราวนี้เราไม่ต้องง้อหนังสือพิมพ์จริงอีกต่อไป เราอยากจะลงข่าวลงภาพอะไร ลงบทความลงเรื่องราวอะไร ขึ้นอยู่กับความพอใจของเราแต่เพียงผู้เดียว เรามีอิสระเสรีภาพอย่างเต็มที่ ระวังเพียงอย่างเดียวว่า อย่าไปละเมิดระเบียบกฎหมายของบ้านเมืองเท่านั้นพอ

ในแงนี้ คือแง่ที่-เฟซบุ๊กเหมือนหนังสือพิมพ์ส่วนตัวของแต่ละคน เราท่านที่มีเฟซบุ๊กของตัวเองได้เคยชำเลืองมองหรือสำรวจตรวจตราหนังสือพิมพ์ส่วนตัวของเราแต่ละคนกันบ้างหรือเปล่าว่า แต่ละวันๆ เราเสนอข่าวอะไรบ้าง เผยแพร่ภาพอะไรบ้าง ลงบทความข้อคิดอะไรบ้าง 

“สาร” ที่เราเอามาลงเป็นเรื่องที่ “เพื่อน” หรือผู้ติดตาม หรือญาติมิตรของเราเขาอยากอ่าน หรือว่าเป็นเพียงสิ่งที่เราอยากเขียนอยากเสนอ 

รูป-เรื่องเหล่านั้นจะมีใครอยากอ่านหรือไม่อยากอ่าน เราไม่สนใจ จะมีประโยชน์ต่อผู้อ่านหรือไม่มี เราไม่รับรู้

เราอยากเขียน เราอยากเอามาลง อยากเอามาเผยแพร่-เท่านี้พอ

เราเป็นกันอย่างนี้ ใช่หรือไม่ หรือไม่ใช่

หรือว่าเรามีหลักเกณฑ์หลักการ มีกรอบขอบเขตของเราเองเป็นประการใด

ผมเชื่อว่าเราส่วนมากไม่ค่อยได้คิดคำนึงถึงแง่มุมพวกนี้

เคยได้ยินใครคนหนึ่งอธิบายไว้นานแล้วว่า เฟซบุ๊กเขาทำขึ้นมาก็เพื่อสนองความต้องการแบบนี้นี่แหละ คือใครอยากพูดอยากเขียนอยากระบายอะไรออกมา ก็ใช้เฟซบุ๊กนี่แหละเป็นที่รองรับ 

ก็เมื่อเฟซบุ๊กเขามีวัตถุประสงค์แบบนี้ จะต้องมาพูดอะไรกันอีกเล่า ใครที่คิดจะกะเกณฑ์ให้เฟซบุ๊กเป็นแบบนั้นแบบนี้นั่นแหละที่ควรพิจารณาตัวเองว่า-มาผิดงานหรือเปล่า

คำอธิบายนี้น่าคิด ถ้าเฟซบุ๊กมีนโยบายแบบนี้จริง เราก็ต้องยอมรับ แต่ควรยอมรับแค่ว่า-เขามีนโยบายแบบนี้ เราก็ไม่ต้องไปเถียงอะไรเขา

ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับเรา เราจะใช้เฟซบุ๊กตามนโยบายนั้น หรือว่าเราควรได้ประโยชน์จากเฟซบุ๊กมากกว่านั้น 

ก็เหมือนเรามีของอะไรอย่างหนึ่งที่ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ติ๋งต่างว่ามีคนให้ผ้าสารพัดประโยชน์ผืนหนึ่งแก่เรา ผ้าผืนนี้ใช้ห่มก็ได้ ใช้นุ่งก็ได้ ใช้ผลัดอาบน้ำก็ได้ ใช้คลุมหัวกันแดดเหมือนร่มก็ได้ ใช้ปูนอนก็ได้ ใช้ห่มนอนก็ได้ ใช้ห่อของก็ได้ ใช้ทำอะไรได้อีกเยอะ แต่เราอ้างว่า คนที่เขาให้เรามาเขาบอกว่า ให้เราเอาไว้ใช้โบกปัดไล่แมลง เพราะฉะนั้นเราก็ต้องใช้ผ้าผืนนี้เพื่อโบกปัดไล่แมลงเท่านั้น เราจะไม่ใช้เพื่อการอย่างอื่น 

ถ้าคิดอย่างนี้ ผมว่าคงจะไม่ฉลาดเท่าไร

อาจจะเป็นอย่างที่ว่า เราจึงได้เห็นว่ามีคนใช้เฟซบุ๊กเป็นที่ระบายอารมณ์กันดาษดื่นไปหมด คำว่า “ระบายอารมณ์” หมายความว่า เขียนออกมาเพราะอยากเขียนล้วนๆ ไม่คำนึงว่าคนอ่านจะได้ประโยชน์อะไรหรือไม่

เหมือนคนพูดคนเดียว แต่พูดให้คนอื่นได้ยินด้วย 

พูดคนเดียว เราจะพูดอย่างไรก็ได้ เป็นภาษาหรือไม่เป็นภาษาก็ไม่มีใครมาว่าอะไรเราได้

แต่พูดให้คนอื่นฟัง ต้องเป็นอีกแบบหนึ่ง มีกฎมีเกณฑ์มีกรอบมีระเบียบ

อุปมาเหมือนอยู่ในห้องนอนมิดชิด เราจะใส่ชุดอะไรหรือไม่ใส่อะไรเลยก็เป็นสิทธิโดยชอบธรรมของเรา แต่เมื่อใดที่ออกมาเดินบนถนน เมื่อนั้นต้องแต่งกายให้เหมาะสม จะอ้างสิทธิโดยชอบธรรมเหมือนอยู่ในห้องนอนไม่ได้แล้ว

เวลานี้เหมือนกับว่า-พากันเอาสิทธิโดยชอบธรรมเมื่ออยู่ในห้องนอนออกมาใช้บนถนนกันเกลื่อนไปหมด

กฏเกณฑ์มาตรฐานในการสื่อสาร คือควรบอกให้ครบ-ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร ผลเป็นอย่างไร ทางเฟซบุ๊กนี่แทบจะไม่มีใครคำนึงถึงกันอีกแล้ว

อยากบอกอะไรแค่ไหน ก็บอกแค่นั้น จบ

วันก่อนโน้น ผมอ่านโพสต์ของท่านผู้หนึ่ง ท่านเขียนว่า –

“หลับให้สบายนะแม่” 

ข้อความมีแค่นี้ นอกนั้นเป็นภาพ 

อ่านแล้วก็เข้าใจได้ว่า คุณแม่ของท่านถึงแก่กรรม รู้เท่านี้

คุณแม่ชื่ออะไร อายุเท่าไร ถึงแก่กรรมเมื่อไร บำเพ็ญกุศลศพที่ไหน เผาเมื่อไร ไม่รู้ ไม่บอก

อาจเนื่องด้วยข้อจำกัดบางอย่าง เช่นพิมพ์ข้อความด้วยโปรแกรมบนโทรศัพท์ พิมพ์ยาวไม่ถนัด ไม่สะดวก จึงต้องบอกแค่สั้นๆ 

นี่ก็เป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่น่าคิด-ข้อจำกัดทางอุปกรณ์ 

ผมมีความคิดแบบนักเลงๆ ว่า ถ้าคนสมัยนี้มีอหังการว่าเราอยู่ในยุคไฮเทค เราเก่ง เราฉลาดกว่ารุ่นปู่ย่าตายาย ทำไมเราจึงจะมายอมจำนนกับปัญหาข้อจำกัดทางอุปกรณ์แค่นี้เล่า แน่จริงต้องแก้ปัญหาได้สิ

ถ้าเราตั้งใจดำรงหลักมาตรฐานทางการสื่อสารไว้ให้มั่นคง เราก็จะพยายามแก้ปัญหาข้อจำกัดทางอุปกรณ์สื่อสาร และในที่สุดจะแก้ได้สำเร็จ

แต่ถ้าเรายอมจำนนกับปัญหาข้อจำกัดทางอุปกรณ์สื่อสาร เราก็จะหันไปแก้หลักมาตรฐานทางการสื่อสารให้เหลือแค่-บอกเท่าที่อยากบอก ดังที่นิยมประพฤติกันอยู่ในเวลานี้

การสื่อสารกับสาธารณชนด้วยลีลาภาษาแบบพูดคนเดียวรู้คนเดียวดังกล่าวมานี้กำลังกลายเป็นลักษณะนิสัยการสื่อสารของคนสมัยนี้

ถ้าใครอ่าน “หนังสือราชการ” (คือเอกสารต่างๆ ที่ออกไปจากหน่วยราชการ) ในเวลานี้อย่างพินิจพิเคราะห์ คงจะมองเห็นกันบ้างแล้วว่า ลีลาภาษาพูดเริ่มจะแพลมๆ เข้ามาในภาษาเขียนมากขึ้น

ถ้าสถานการณ์ยังดำเนินไปในลักษณาการเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ในอนาคตเด็กไทยจะเขียนไม่เป็น แยกไม่ออก บอกไม่ถูก ว่าอย่างไรคือภาษาพูด อย่างไรคือภาษาเขียน 

ความงดงามของภาษาไทยจะค่อยๆ เสื่อมสูญไป ที่น่าจะไปก่อนเพื่อนก็คือบรรดาวรรณกรรมวรรณคดีไทย

เชื่อหรือไม่ เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน วรรณคดีไทยที่เลิศล้ำ วรรณกรรมวิถีชีวิตชาวบ้านที่เลิศรส ที่คนรุ่นผมซึมซับซาบซึ้ง เด็กไทยวันนี้ไม่รู้จักแล้ว-ยังไม่ทันได้ถามเลยว่าเคยอ่านหรือเปล่า 

มีเวลาเล่นไลน์เล่นเฟซวันละหลายชั่วโมง 

แต่ไม่มีเวลาอ่าน 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๑ เมษายน ๒๕๖๔

๑๔:๑๐

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *