บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ลักษณะนิสัยในการสื่อสารสมัยนี้ (๑)

ลักษณะนิสัยในการสื่อสารสมัยนี้ (๓)

ลักษณะนิสัยในการสื่อสารสมัยนี้ (๓)

——————————–

เมื่อตอนที่แล้วผมอ้างถึงแนวคิดของท่านศาสตราจารย์ ดร.สมภาร พรมทา ที่ท่านบอกว่า เฟซบุ๊กเหมือนหนังสือพิมพ์ส่วนตัวของแต่ละคน

มารยาทในการอ้างอิงที่มานี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นว่าผู้ใช้เฟซบุ๊ก ตลอดจนใช้ไลน์เป็นช่องทางสื่อสาร กำลังจะละเลยกันมากขึ้น

การอ้างอิงที่มานอกจากเป็นการให้เกียรติแก่ตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของแนวคิดหรือเป็นคนต้นคิดทฤษฎีนั้นๆ แล้ว ยังเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่สนใจศึกษาสืบค้นเรื่องนั้นให้ละเอียดกว้างขวางยิ่งๆ ขึ้นไปอีกด้วย

ในทางวิชาการด้วยแล้ว การระบุที่มา หรือ reference ไม่ใช่เป็นแค่มารยาท หากแต่เป็นกฎข้อบังคับกันเลยทีเดียว

การละเลยไม่บอกที่มานั้น แรกๆ อาจทำกับเรื่องสัพเพเหระก่อน ยกไปเล่า เอาไปอ้าง ทำกันอย่างง่ายๆ มองเห็นเป็นเรื่องสาธารณะ ใครจะเอาไปพูดเอาไปเขียนสู่กันอ่านก็ได้ ไม่มีใครสนใจว่ารากเหง้าเค้าเดิมของเรื่องนั้นมาจากไหน 

แต่เมื่อทำจนเคย จนชิน ต่อไปก็จะขยายกว้างออกไปถึงเรื่องที่เป็นหลักเป็นฐาน ยกเอามาเสนอโดยไม่ได้บอกที่มาเพราะติดนิสัยเคยชินมาจากเรื่องประเภทสัพเพเหระ

โดยเฉพาะวิธีการที่เรียกกันว่า แชร์ (share) จะปรากฏลักษณะนิสัยไม่บอกที่มาได้มากที่สุด 

หลายๆ เรื่องที่ยกมาโพสต์ทางเฟซบุ๊ก ตามอ่านไปจนจบด้วยความสนใจเพราะเขียนดี ลงท้ายบอกว่าลอกมาอีกทีหนึ่ง ลอกมาจากไหนใครเป็นเจ้าของข้อเขียนนั้นก็ไม่บอก คนลอกเองก็ไม่รู้เหมือนกันเพราะลอกต่อกันมาหลายทอด

แม้แต่เรื่องที่ผมเขียนก็เคยโดนด้วย มีคนเอาไปแชร์ต่อเป็นอย่างดี ไปอ่านเจอเข้า อ้าว นี่ของเรานี่ แต่ลงท้ายจบไปดื้อๆ ไม่บอกว่าใครเขียน 

ด้วยลักษณะนิสัยเช่นนี้ ต่อไปก็จะเกิดความสับสนอลหม่านพร่ามัวไปหมดว่าเรื่องอะไรใครเป็นคนเขียนตัวจริง ยิ่งถ้าคนเขียนต้นฉบับไม่รู้ หรือตัวไม่อยู่ด้วยแล้ว ตอนนั้นแหละสนุกเขาละ

นึกออกไหมครับ กลอนอักษร ม ม้าล้วนๆ ที่ว่า-เมื่อมั่งมีมากมายมิตรหมายมอง … เป็นกลอนที่ไม่เก่านัก ตีเสียว่าประมาณครึ่งศตวรรษกว่าๆ เอามาพูดเอามาท่องกันแทบจะทั้งประเทศ ถึงวันนี้หมดโอกาสแล้วที่จะรู้ว่าใครแต่ง ก็เพราะลักษณะนิสัยไม่ชอบบอกที่มานี่แหละ

คำกลอนกรวดน้ำ … ขอเดชะตั้งจิตอุทิศผล … นี่ก็อีก นอกจากไม่นิยมบอกที่มาว่าใครแต่งแล้ว ยังเอาไปพูดกันวิปลาสคลาดเคลื่อนจนแทบจะไม่รู้ว่าถ้อยคำสำนวนต้นฉบับจริงเป็นอย่างไร 

การใช้ช่องทางสื่อสารที่เป็นอิสระมากๆ เช่นเฟซบุ๊กหรือไลน์เป็นเหมือนหนังสือพิมพ์ส่วนตัวอย่างทุกวันนี้ ถ้าเจ้าของหนังสือพิมพ์ไม่มีหลัก ไม่รู้จักควบคุมตัวเอง ไม่มีสติ รวมความว่าไม่รู้จักรับผิดชอบอะไรทั้งสิ้นละก็ ผมว่าสร้างมหันตภัยที่ประทุษร้ายสติปัญญาของผู้คนได้อย่างไร้ขีดจำกัดทีเดียวแหละ คอยดูกันไปเถิด

ตอนหน้า: ผมมองเฟซบุ๊กอย่างไร

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๒ เมษายน ๒๕๖๔

๑๒:๑๐

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *