บาลีวันละคำ

สังฆานุสติ – 1 ในอนุสติ 10 (บาลีวันละคำ 4,037)

สังฆานุสติ – 1 ในอนุสติ 10

ระลึกเนืองๆ ถึงพระสังฆคุณ

อ่านว่า สัง-คา-นุด-สะ-ติ

ประกอบด้วย สังฆ + อนุสติ

(๑) “สังฆ

เขียนแบบบาลีเป็น “สงฺฆ” อ่านว่า สัง-คะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + หนฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + (อะ) ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น (สํ > สงฺ), แปลง หนฺ เป็น

: สํ > สงฺ + หนฺ > + = สงฺฆ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “หมู่เป็นที่ไปรวมกันแห่งส่วนย่อยโดยไม่แปลกกัน” หมายความว่า ส่วนย่อยที่มีคุณสมบัติหลักๆ “ไม่แปลกกัน” คือมีคุณสมบัติตรงกัน เหมือนกัน ส่วนย่อยดังกล่าวนี้ไปอยู่รวมกัน คือเกาะกลุ่มกัน ดังนี้เรียกว่า “สงฺฆ

(2) “หมู่ที่รวมกันโดยมีความเห็นและศีลเสมอกัน” ความหมายนี้เล็งที่บรรพชิตหรือสาวกที่เป็นนักบวชในลัทธิศาสนาต่างๆ เช่นภิกษุในพระพุทธศาสนาเป็นต้น ต้องมีความคิดเห็นและความประพฤติลงรอยกันจึงจะรวมเป็น “สงฺฆ” อยู่ได้

สงฺฆ” จึงหมายถึง หมู่, กอง, กลุ่ม, คณะ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺฆ” เป็นอังกฤษว่า –

(1) multitude, assemblage (ฝูงชน, ชุมนุมชน, หมู่, ฝูง)

(2) the Order, the priesthood, the clergy, the Buddhist church (คณะสงฆ์, พระ, นักบวช, พุทธจักร)

(3) a larger assemblage, a community (กลุ่มใหญ่, ประชาคม)

สงฺฆ” ปกติในภาษาไทยใช้ว่า “สงฆ์” ถ้าอยู่หน้าคำสมาสมักใช้เป็น “สังฆ-”

สงฆ์” ในพระพุทธศาสนามีความหมาย 2 อย่าง คือ –

(1) “สาวกสงฆ์” หมายถึงหมู่สาวกของพระพุทธเจ้า ที่ได้บรรลุธรรมในภูมิอริยบุคคลคือเป็นพระโสดาบันขึ้นไป ดังคำสวดในสังฆคุณที่ว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ 

(2) “ภิกขุสงฆ์” หมายถึงชุมนุมภิกษุหมู่หนึ่งตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป ซึ่งสามารถประกอบสังฆกรรมได้ตามกำหนดทางพระวินัย 

บางทีเรียกอย่างแรกว่า “อริยสงฆ์” อย่างหลังว่า “สมมติสงฆ์

ในภาษาไทย คำว่า “สงฆ์” อาจหมายถึงภิกษุที่รวมกันเป็นหมู่คณะก็ได้ หมายถึงภิกษุแต่ละรูปก็ได้ 

ในที่นี้ “สงฆ์” หมายถึง “อริยสงฆ์” ได้แก่พระอริยบุคคล 8 จำพวก คือ –

1 ผู้บรรลุโสดาปัตติมรรค 

2 ผู้บรรลุโสดาปัตติผล

3 ผู้บรรลุสกทาคามิมรรค 

4 ผู้บรรลุสกทาคามิผล 

5 ผู้บรรลุอนาคามิมรรค 

6 ผู้บรรลุอนาคามิผล 

7 ผู้บรรลุอรหัตมรรค 

8 ผู้บรรลุอรหัตผล 

(๒) “อนุสติ

บาลีเป็น “อนุสฺสติ” (โปรดสังเกต 2 ตัว) อ่านว่า อะ-นุด-สะ-ติ ประกอบด้วย อนุ + สติ

(ก) “อนุ” เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า –

(1) ภายหลัง, ข้างหลัง (after, behind)

(2) ไปยัง, ตรงไปยังเป้าหมาย, ดำเนินต่อไป, ข้ามไปยัง, ข้างหน้า (for, towards an aim, on to, over to, forward)

ความหมายของ “อนุ” ที่เข้าใจกันหมู่นักเรียนบาลี คือ น้อย, ภายหลัง, ตาม, เนืองๆ

(ข) “สติ” รากศัพท์มาจาก สรฺ (ธาตุ = คิด, ระลึก; เบียดเบียน) + ติ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (สรฺ > )

: สรฺ + ติ = สรติ > สติ แปลตามศัพท์ว่า (1) “กิริยาที่ระลึกได้” (2) “ธรรมชาติเป็นเหตุให้ระลึกได้” (3) “ผู้เบียดเบียนความประมาท” 

สติ” หมายถึง ความระลึกได้, การจำได้, สติ; ความตั้งใจ, การมีใจตื่นอยู่, ความตระหนัก, ความระมัดระวัง, ความเข้าใจ, การครองสติ, มโนธรรม, ความมีสติถึงตนเอง (memory, recognition, consciousness, intentness of mind, wakefulness of mind, mindfulness, alertness, lucidity of mind, self-possession, conscience, self-consciousness)

อนุ + สติ ซ้อน สฺ : อนุ + สฺ + สติ = อนุสฺสติ แปลตามศัพท์ว่า “การระลึกถึงเนืองๆ” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อนุสฺสติ” ว่า remembrance, recollection, thinking of, mindfulness (อนุสติ, ความระลึก, ความทรงจำ, ความคิด, ความตั้งใจ) (โปรดสังเกตคำแปลภาษาอังกฤษระหว่าง “สติ” กับ “อนุสฺสติ” บางคำตรงกัน)

สงฺฆ + อนุสฺสติ = สงฺฆานุสฺสติ (สัง-คา-นุด-สะ-ติ) แปลตามศัพท์ว่า “การระลึกเนืองๆ ถึงคุณของพระสงฆ์” (recollection of the Sangha; contemplation on the virtues of the Order)

สงฺฆานุสฺสติ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สังฆานุสติ” (อนุสฺสติ ในบาลีตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง เป็น อนุสติ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

สังฆานุสติ : (คำนาม) การระลึกถึงคุณพระสงฆ์ เป็นกรรมฐานอย่างหนึ่ง. (ป.).”

สังฆานุสติ” เป็น 1 ในอนุสติ 10 คือ –

1. พุทธานุสติ = ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า

2. ธัมมานุสติ = ระลึกถึงคุณพระธรรม

3. สังฆานุสติ = ระลึกถึงคุณพระสงฆ์

4. สีลานุสติ = ระลึกถึงศีลที่ตนรักษา

5. จาคานุสติ = ระลึกถึงความเผื่อแผ่เสียสละที่มีในตน

6. เทวตานุสติ = ระลึกถึงคุณธรรมอันทำบุคคลให้เป็นเทวดา

7. มรณสติ = ระลึกถึงความตายอันจะต้องมีมาถึงตนเป็นธรรมดา

8. กายคตาสติ =  “สติอันไปในกาย” คือมีสติรู้เท่าทันสภาวะกายของตนมิให้หลงใหลมัวเมา

9. อานาปานสติ = สติกำหนดลมหายใจเข้าออก

10. อุปสมานุสติ = ระลึกถึงธรรมเป็นที่สงบ คือพระนิพพาน

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “สังฆานุสติ” บอกไว้ดังนี้ –

…………..

สังฆานุสติ : ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนในนันทิยสูตร (อง.ทสก.๒๔/๒๒๐/๓๖๔) ให้ระลึกถึงพระสงฆ์ในฐานเป็นกัลยาณมิตร (ข้อ ๓ ใน อนุสติ ๑๐) เขียนอย่างรูปเดิมในภาษาบาลีเป็น สังฆานุสสติ.

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [335] อนุสติ 10 แสดงความหมายของ “สังฆานุสติ” ไว้ดังนี้ –

…………..

3. สังฆานุสติ (ระลึกถึงพระสงฆ์ คือ น้อมจิตระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระสงฆ์ — Saṅghānussati: recollection of the Sangha; contemplation on the virtues of the Order)

…………..

ขยายความ :

คุณของพระสงฆ์ตามคำบาลีแสดงพระสังฆคุณ ว่าดังนี้ –

…………..

สุปฏิปนฺโน  ภควโต  สาวกสงฺโฆ  

อุชุปฏิปนฺโน  ภควโต  สาวกสงฺโฆ  

ญายปฏิปนฺโน  ภควโต  สาวกสงฺโฆ  

สามีจิปฏิปนฺโน  ภควโต  สาวกสงฺโฆ  

ยทิทํ  จตฺตาริ  ปุริสยุคานิ  อฏฺฐ  ปุริสปุคฺคลา  

เอส  ภควโต  สาวกสงฺโฆ  

อาหุเนยฺโย  ปาหุเนยฺโย  ทกฺขิเณยฺโย  อญฺชลีกรณีโย  

อนุตฺตรํ  ปุญฺญกฺเขตฺตํ  โลกสฺสาติ.

ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค 

พระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 89 หน้า 111

…………..

แปลเป็นไทยตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ดังนี้ –

สุปฏิปนฺโน  ภควโต  สาวกสงฺโฆ = พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดี

อุชุปฏิปนฺโน = เป็นผู้ปฏิบัติตรง

ญายปฏิปนฺโน = เป็นผู้ปฏิบัติถูกทาง

สามีจิปฏิปนฺโน = เป็นผู้ปฏิบัติสมควร

ยทิทํ จตฺตาริ  ปุริสยุคานิ  อฏฺฐ  ปุริสปุคฺคลา = ได้แก่ คู่บุรุษ ๔ ตัวบุคคล ๘

เอส  ภควโต  สาวกสงฺโฆ = พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคนี้

อาหุเนยฺโย = เป็นผู้ควรแก่ของคำนับ คือควรรับของที่เขานำมาถวาย

ปาหุเนยฺโย = เป็นผู้ควรแก่การต้อนรับ

ทกฺขิเณยฺโย = เป็นผู้ควรแก่ทักษิณาคือควรแก่ของทำบุญ

อญฺชลีกรณีโย = เป็นผู้ควรแก่การกราบไหว้

อนุตฺตรํ  ปุญฺญกฺเขตฺตํ  โลกสฺส = เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก คือเป็นแหล่งปลูกเพาะและเผยแพร่ความดีที่ยอดเยี่ยมของโลก

…………..

ดูก่อนภราดา!

ท่านอยากพบพระอริยสงฆ์แบบไหน?

: ถ้าศึกษาประวัติพระเกจิให้จบ

ท่านจะได้พบพระอริยสงฆ์ที่ข้าพเจ้าตั้ง

: ถ้าศึกษาพระไตรปิฎกให้จบ

ท่านจะได้พบพระอริยสงฆ์ที่พระพุทธเจ้าตั้ง

#บาลีวันละคำ (4,037)

2-7-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *