บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ลักษณะนิสัยในการสื่อสารสมัยนี้ (๑)

ลักษณะนิสัยในการสื่อสารสมัยนี้ (๔)

ลักษณะนิสัยในการสื่อสารสมัยนี้ (๔)

——————————–

ผมมองเฟซบุ๊กอย่างไร?

ในความคิดของผม ผมมองว่าเฟซบุ๊กเป็นอัพยากตธรรม

ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า “อัพยากตธรรม” คืออะไร

อัพยากต” เป็นรูปคำบาลี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ เก็บไว้เป็นรูปคำสันสกฤตว่า “อัพยากฤต” บอกไว้ว่า – 

อัพยากฤต [อับพะยากฺริด] : (คำนาม) กลาง ๆ ระหว่างกุศลกับอกุศล คือไม่จัดเป็นกุศลหรืออกุศล ในความว่า ธรรมที่เป็นอัพยากฤต. (ส.; ป. อพฺยากต).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายไว้ว่า –

อัพยากฤต : “ซึ่งท่านไม่พยากรณ์”, มิได้บอกว่าเป็นกุศลหรืออกุศล (ไม่จัดเป็นกุศลหรืออกุศล) คือ เป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว ไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศล ได้แก่ วิบาก กิริยา รูป และนิพพาน.”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ (The Pali Text Society’s Pali-English Dictionary) แปล “อัพยากต” ว่า unexplained, undecided, not declared, indeterminate (มิได้อธิบาย, มิได้ตัดสินใจ, มิได้ประกาศ, ไม่กำหนดหมาย) 

เวลาไปฟังสวดพระอภิธรรม ถ้าใครยังพอระลึกได้ก็ย่อมจะได้ยินพระท่านสวดบทแรกว่า กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อพฺยากตา ธมฺมา

กุสลา ธมฺมา = ธรรมที่เป็นกุศล คือเป็นฝ่ายดี

อกุสลา ธมฺมา = ธรรมที่เป็นอกุศล คือเป็นฝ่ายชั่ว

อพฺยากตา ธมฺมา = ธรรมที่เป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว

“อพฺยากตา ธมฺมา” คำนี้แหละที่ผมเอามาเรียกเป็น “อัพยากตธรรม” 

เฟซบุ๊กเป็นอัพยากตธรรม ก็หมายความว่า เฟซบุ๊กมันไม่ดีไม่ชั่วในตัวมันเอง แล้วแต่ว่าคนที่มาเกี่ยวข้องกับมันจะใช้มันเพื่อการอันใด

ใช้เฟซบุ๊กทำดีก็ได้

ใช้เฟซบุ๊กทำชั่วก็ได้

ใครที่มองว่าเฟซบุ๊กเป็นของดี คงต้องมองใหม่ ใครที่มองว่าเฟซบุ๊กเป็นของเลวก็ต้องมองใหม่เช่นกัน คือต้องมองให้ถูกตรงกับที่มันเป็น

มีประเด็นที่น่าคิด นั่นก็คือ มีหลายคนแสดงความรังเกียจที่เห็นพระภิกษุสามเณร “เล่นเฟซเล่นไลน์” บ้างก็ตั้งคำถามว่า พระเณรเล่นเฟซบุ๊กผิดหรือไม่

ผมว่าการที่เราใช้คำว่า “เล่น” นั้น ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนไปตั้งแต่ต้นแล้ว 

เป็นเรื่องชอบกลอยู่-ที่คนไทยเรามักมองอุปกรณ์ไฮเทคในฐานะเป็น “ของเล่น” กันเสียหมด

วิทยุ-โทรทัศน์ เมื่อแรกมีนั้น สังคมไทยจัดไว้ในฐานะเป็นเครื่องมือเพื่อการบันเทิงเป็นหลัก

เครื่องฉายวีดิโอชนิดที่เป็นกล่องเป็นม้วนซึ่งเวลานี้น่าจะไม่มีใครใช้กันอีกแล้วนั้น วงคาราบาวมีเพลงที่เอ่ยถึงอยู่ท่อนหนึ่งว่า – จะถอยวีดิโอ เอามาฉายหนังโป๊ … นี่ก็ยืนยันว่า เรามองอุปกรณ์ชนิดนั้นว่าเป็นเครื่องมือแสวงหาความบันเทิงเป็นจุดเด่น 

พอมีโทรศัพท์มือถือ ก็มีโปรแกรมเล่นสนุกต่างๆ ใส่เข้าไว้เต็มที่ ทำให้พูดกันว่า “เล่นโทรศัพท์”

เล่นเฟซ เล่นไลน์ – เราจึงพูดกันติดปาก และมองเห็นอุปกรณ์สื่อสารเหล่านี้เป็น “ของเล่น” อย่างเต็มตัว

อันที่จริง อุปกรณ์เหล่านี้สามารถใช้ทำประโยชน์ได้อย่างมหาศาล แต่คนของเรากลับมองเห็นคุณค่าเพียงแค่เป็นของเล่นเท่านั้น น่าตระหนกและน่าจะตระหนักกันบ้างหรือไม่

จึงไม่ต้องแปลกใจ พออุปกรณ์เหล่านี้ไปอยู่ในมือพระเณร เราก็เพ่งเล็งกันไปในทางเดียวเท่านั้นว่า พระเณรจะต้องเอาไปใช้เล่นสนุก จึงเป็นที่มาของข้อกังขาว่า พระเณรเล่นเฟซบุ๊กผิดหรือไม่

แต่ถ้าเราช่วยกันมองให้ถูกกับความเป็นจริง คือ เฟซบุ๊กเป็นอัพยากตธรรม ไม่ดีไม่ชั่วในตัวมันเอง ใช้ทำดีก็ได้ ใช้ทำชั่วก็ได้ เราก็คงไม่ตั้งข้อสงสัยเอากับพระเณรแบบนั้น 

แต่เราก็ยังมีสิทธิ์ที่จะถามแบบวิภัชวาที คือยังถามได้ว่า พระภิกษุสามเณรใช้เฟซบุ๊กไปเพื่อการบันเทิง จะผิดหรือไม่ (นี่ก็แปลว่า พระภิกษุสามเณรที่ไม่ได้ใช้เฟซบุ๊กไปเพื่อการบันเทิงก็มีอยู่)

ถามแบบนี้คำตอบก็ชัดเจน อันที่จริงแทบจะไม่ต้องถาม คือไม่ต้องสงสัยเลยว่าผิดหรือไม่ เพราะวิถีชีวิตสงฆ์ย่อมไม่ควรเสพรสบันเทิงเหมือนที่ชาวบ้านเขาเสพกัน เพราะฉะนั้น ผิดหรือไม่ผิด ไม่ต้องถาม ชัดอยู่แล้ว

ถ้าจะถามก็ถามข้ามชอร์ตไปเลยว่า ทำอย่างไรพระเณรจึงจะไม่ใช้อุปกรณ์เหล่านี้ไปเพื่อการบันเทิง หากแต่มุ่งใช้เพื่อประโยชน์ในทางสร้างสรรค์ เช่นใช้เป็นอุปกรณ์เสริมความสะดวกในการศึกษาและเผยแผ่พระธรรมวินัยเป็นต้น ทำอย่างไรกันดีจึงจะเป็นแบบนั้นได้

ใครที่ว่าหวังดีต่อพระศาสนา และที่คิดว่าตัวเองฉลาด ลองช่วยกันคิดหาวิธีตรงนี้ให้ได้ทีเถิด-ทำอย่างไรจึงจะไม่ให้พระเณรใช้เฟซใช้ไลน์ไปเพื่อการบันเทิง

ห้ามมีห้ามใช้-เหมือนกับที่หลายๆ วัดห้ามมีโทรทัศน์ห้ามมีวิทยุ ห้ามใช้โทรศัพท์ ดีไหม?

ตั้งกฎกติกาในการมีการใช้ และมีมาตรการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ทำได้ไหม?

ใครหัวแหลม ลองช่วยกันคิดวิธีการออกมาสิครับ-วิธีการช่วยให้พระเณรไม่ใช้อุปกรณ์ไฮเทคออกไปกรอบแห่งพระธรรมวินัย คิดได้ทำได้จะเป็นมหากุศล

ทิ้งปมไว้ตรงนี้ก่อน 

คราวนี้ขออนุญาตพูดถึงตัวผมเองที่ใช้เฟซบุ๊กอยู่ในทุกวันนี้ ผมใช้เฟซบุ๊กเพื่อเป็นอุปกรณ์ในการทำงาน และไม่เคยตั้งอารมณ์ไว้เลยว่าผมจะ “เล่น” เฟซบุ๊ก

ในแง่นี้ เฟซบุ๊กซึ่งเป็นอัพยากตธรรม ก็เป็นอุปกรณ์ในการทำความดีให้ผมเต็มๆ 

และผมมีเทคนิคในการที่จะแปรสภาพการทำงานให้เป็นการบันเทิงหรือการพักผ่อนไปในตัว เพราะฉะนั้น ผมก็ไม่จำเป็นต้องใช้เฟซบุ๊กไปเพื่อการบันเทิงอย่างอื่นๆ ที่ใครๆ นิยมใช้กัน เพราะผมมีวิธีบันเทิงของผมอยู่แล้ว-โดยใช้เฟซบุ๊กนั่นแหละ

อ้อ คำว่า “เฟซบุ๊ก” ที่กล่าวมาทุกแห่งขอให้หมายรวมถึงระบบการสื่อสารไฮเทคทั้งปวงที่ผู้คนใช้กันอยู่ในยุคสมัยปัจจุบันนี้ด้วย 

เป็นอันว่า เฟซบุ๊กซึ่งเป็นอัพยากตธรรม-ที่สามารถเอาไปใช้ทำความชั่วก็ได้ด้วยนั้น เมื่อมาอยู่ในมือผม มันไปทำความชั่วไม่ได้ ไม่ใช่เพราะมันทำไม่เป็น หรือเพราะมีใครไปตั้งโปรแกรมล็อคการทำชั่วของมันไว้ หากแต่เป็นเพราะผม-ผู้ใช้มันเป็นฝ่ายกำหนดการทำงานของมันเอง

ย้อนกลับไปที่ปมพระเณรเล่นเฟซบุ๊กข้างต้น 

ระหว่างการ “ห้าม” ไม่ให้มีไม่ให้ใช้ กับการ “แนะนำฝึกสอน” ให้พระเณรรู้จักใช้ในทางที่ถูกหรือรู้จักควบคุมตัวเองให้ได้ในการที่จะใช้มัน เราควรทำวิธีไหน

แน่นอนว่าคนเราต่างกัน หลักหรือเทคนิคในการอบรมสั่งสอนฝึกหัดคนก็ต้องแตกต่างกัน

เด็กเล็ก ยังไม่เข้าใจเหตุผล ต้องใช้วิธี “สั่ง” มากกว่า “สอน”

โตแล้ว พูดกันรู้เรื่อง ต้องใช้วิธี “สอน” มากกว่า “สั่ง”

พระภิกษุสามเณรที่เข้ามาอยู่ในสังฆมณฑล ผู้ดูแลรับผิดชอบอบรมสั่งสอนกันด้วยอาการอย่างไร เรื่องนี้สำคัญที่สุด แต่เราสนใจกันน้อยที่สุด

ขออนุญาตอธิบายด้วยวิธียกตัวอย่าง 

ในการเรียนบาลีของพระภิกษุสามเณร ครูผู้สอนจะมี ๒ ประเภท

ครูประเภทหนึ่ง มุ่งสอนแต่วิชาการล้วนๆ มุ่งให้นักเรียนจำหลักได้ เข้าใจหลัก แปลได้ สอบได้ อื่นใดจากนี้ถือว่าอยู่นอกกรอบขอบเขต ไม่สนไม่สอน

ครูอีกประเภทหนึ่ง สอนหนังสือด้วย สอนคนด้วย 

นักเรียนเข้าห้องเรียนสาย โดนเอ็ด 

ครองจีวรไม่เรียบร้อย โดน 

นั่งไขว่ห้าง โดน 

นั่งกระดิกขาไปพลางแปลหนังสือไปพลาง โดน (โดนหนักด้วย)

พูดกับครูบาอาจารย์ใช้กิริยาวาจาไม่ถูกต้อง โดน

ฯลฯ 

ครูประเภทนี้ไม่ได้สอนเฉพาะทฤษฎีวิชาการ แต่สอนการปฏิบัติด้วย

ถามว่า บาลีเรียนไปทำไม

เรียนไปเพื่อเป็นเครื่องมือศึกษาพระธรรมวินัย

ศึกษาพระธรรมวินัยไปทำไม

เพื่อปฏิบัติให้ถูกต้อง

ก็ถ้าแม้ในขณะที่เรียนบาลีนั่นเองยังปฏิบัติไม่ถูกต้อง แล้วก็ไม่อบรมสั่งสอนให้ปรับปรุงแก้ไข แล้วจะเรียนบาลีไปเพื่ออะไร 

จากตัวอย่างนี้ ถามว่า พระภิกษุสามเณรที่เข้ามาอยู่ในสังฆมณฑล ผู้ดูแลรับผิดชอบอบรมสั่งสอนกันด้วยท่าทีและทิศทางแบบครูประเภทไหน?

ถ้าแบบครูประเภทแรก พระภิกษุสามเณรของเราก็มีโอกาสที่จะเป็นทาสรับใช้ของเฟซบุ๊กและอุปกรณ์สื่อสารไฮเทคทั้งปวงได้มากที่สุด

ถ้าแบบครูประเภทหลัง พระภิกษุสามเณรของเราก็มีโอกาสที่จะใช้เฟซบุ๊กและอุปกรณ์สื่อสารไฮเทคทั้งปวงเป็นทาสรับใช้งานพระศาสนาได้มากที่สุด

ในขณะที่เราคิดจะกีดกันคัดกรองไม่ให้อุปกรณ์ไฮเทคเข้ามาพัวพันกับคนของเรานั่นเอง เราก็ควรที่จะฝึกหัดอบรมคนของเราให้มีสำนึกในการใช้อุปกรณ์ไฮเทคเหล่านั้นด้วย

ในขณะที่เราตำหนิติเตียนพระภิกษุสามเณรที่เล่นเฟซเล่นไลน์นั่นเอง เราก็ควรจะช่วยกันหาทางหาวิธีทำให้ท่านมีใจรักรู้จักใช้เฟซใช้ไลน์เป็นเครื่องมือทำงานเพื่อพระศาสนาให้ได้ด้วย

กิจเหล่านี้ ต้องทำโดยผู้รักและห่วงพระศาสนาอย่างบริสุทธิ์ใจ

และกิจเหล่านี้ต้องการผู้บริหารการพระศาสนาที่มีวิสัยทัศน์และมุ่งมั่นจริงจังกับการทำงานเพื่อพระศาสนาจริงๆ 

พวกเราโชคดีมากๆ ที่มีคนคิดสร้างอุปกรณ์ไฮเทคขึ้นมาให้เราใช้ เราไม่ต้องคิดเอง

แต่พวกเราโชคร้ายมากๆ ที่ใช้มันไม่เป็น 

พวกเราส่วนมากใช้มันเพื่อเสพสุขส่วนตัว 

มีน้อยอยางยิ่งที่ใช้เพื่อสร้างสรรค์สิ่งอำนวยประโยชน์ให้แก่เพื่อนร่วมโลก

……………………..

เฟซบุ๊กเป็นอัพยากตธรรม

ไม่ดีไม่ชั่วในตัวมันเอง

ใช้ทำดีก็ได้

ใช้ทำชั่วก็ได้

จงใช้มันให้เป็น

……………………..

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๓ เมษายน ๒๕๖๔

๑๔:๔๘

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *