กมลสันดาน (บาลีวันละคำ 1,383)
กมลสันดาน
อ่านว่า กะ-มน-ละ-สัน-ดาน
ประกอบด้วย กมล + สันดาน
(๑) “กมล”
บาลีอ่านว่า กะ-มะ-ละ รากศัพท์มาจาก –
(1) กํ (น้ำ) + อลฺ (ธาตุ = ประดับ) + อ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ กํ เป็น ม (กํ > กม)
: กํ > กม + อลฺ = กมล + อ = กมล แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ประดับน้ำ”
(2) กํ (น้ำ) + อล (ประดับ) แปลงนิคหิตที่ กํ เป็น ม (กํ > กม)
: กํ > กม + อล = กมล แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่กระทำซึ่งการตกแต่งน้ำ”
(3) ก (น้ำ) + มล (มลทิน)
: ก + มล = กมล แปลตามศัพท์ว่า “มลทินแห่งน้ำ” (คือสิ่งที่ทำให้น้ำมีสิ่งเจือปน)
“กมล” ในบาลีหมายถึง ดอกบัว
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กมล : (คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป) (คำนาม) บัว เช่น บาทกมล. (สมุทรโฆษ); ใจ เช่น ดวงกมล. (คำวิเศษณ์) เหมือนบัว เช่น เต้าสุวรรณกมลคนที. (ม. คําหลวง หิมพานต์), บางทีใช้ว่า กระมล. (ป., ส.).”
(๒) “สันดาน”
บาลีเป็น “สนฺตาน” (สัน-ตา-นะ) รากศัพท์มาจาก สํ ( = พร้อม, ดี) + ตนฺ (ธาตุ = แผ่, ขยาย) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น นฺ (สํ > สนฺ), ทีฆะต้นธาตุ (ตนฺ > ตาน)
: สํ > สนฺ + ตนฺ = สนฺตน + ณ = สนฺตนณ > สนฺตน > สนฺตาน แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่แผ่ขยายเชื้อแถวไปด้วยดี” หมายถึง การแผ่, การแยกกิ่งก้านสาขา (spreading, ramification) การต่อเนื่อง, การสืบลำดับเชื้อสาย; เชื้อสาย (continuity, succession; lineage)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“สนฺตาน : (คำนาม) ‘สันดาน’ วงศ์, ชาติ, กุล; สันตติ; lineage, race, family; progeny”
“สนฺตาน – สันดาน” ตามความหมายเดิมหมายถึง การแผ่ขยายออกไป เช่น พ่อมีลูก ลูกมีหลาน หลานมีเหลน และสืบต่อกันไปเรื่อยๆ กล่าวคือเล็งถึงตัวบุคคลที่สืบเชื้อสายต่อๆ กันมา ต่อมาความหมายขยายไปถึงลักษณะนิสัยไม่ว่าจะด้านดีหรือเลวที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาและสั่งสมเป็นบุคลิกประจำตัว
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) สันดาน ๑ : (คำนาม) อุปนิสัยที่มีมาแต่กําเนิด เช่น มีสันดานดี มีสันดานเลว, (ภาษาปาก) มักใช้ไปในทางไม่สู้จะดี เช่นสันดานของเขาเป็นเช่นนั้น อย่าไปถือเลย. (ป., ส. สนฺตาน ว่า สืบต่อ).
(2) สืบสันดาน : (คำกริยา) สืบเชื้อสายมาโดยตรง.
กมล + สันดาน = กมลสันดาน แปลโดยอนุรูปแก่ศัพท์ว่า “ลักษณะนิสัยที่ถูกฝังรากลึกไว้ในจิตใจ” หมายถึง พฤติกรรมทางกาย วาจา ใจ ที่แก้ไม่หาย
คำว่า “กมลสันดาน” เป็นคำที่คนเก่าพูดกัน พจน.54 ยังไม่ได้เก็บคำนี้ไว้ จึงยังไม่ทราบความหมายที่แท้จริง
ความเห็นของผู้เขียนบาลีวันละคำ :
๑ “สันดาน” น่าจะมี 2 ลักษณะ คือ สันดานทางรูปธรรม กับสันดานทางนามธรรม
๒ สันดานทางรูปธรรม หมายถึงกิริยาวาจาที่ฝังลึกเป็นบุคลิกประจำตัว เช่น ท่าทางการเดิน กิริยาที่หลุกหลิกไม่เรียบร้อยที่เป็นเองตามธรรมชาติของผู้นั้น คำพูดติดปากที่แก้ไม่หาย เช่นชอบพูดคำว่า “ไอ้ห่า” โดยที่จิตใจมิได้มีเจตนาจะพูดคำหยาบ
ลักษณะนี้ถ้าเรียกเป็นคำศัพท์ ก็อาจจะใช้คำว่า “กายสันดาน” (กาย-ยะ-)
๓ สันดานทางนามธรรม หมายถึงพื้นอารมณ์หรือจริตของแต่ละคน แนวคิด แนวโน้มในการตัดสินใจ ความชอบ ความติดใจ หรือความถนัดในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อันส่งผลให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งบ่อยๆ ชนิดแก้ไม่หาย
ลักษณะนี้ถ้าเรียกเป็นคำศัพท์ ก็อาจจะใช้คำว่า “จิตสันดาน” (จิด-ตะ-)
๔ คำว่า “กมลสันดาน” ก็คือ จิตสันดาน นี่เอง
: แต่งตัว งามอยู่ได้ไม่นาน
: แต่งกมลสันดาน งามชั่วนิรันดร
13-3-59