อาศิรวาท (บาลีวันละคำ 215)
อาศิรวาท
(คำไทยที่มาจากบาลีสันสกฤต)
คำนี้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 เก็บไว้หลายรูป คือ อาศิรพจน์, อาศิรพาท, อาศิรวจนะ, อาเศียรพจน์, อาเศียรพาท, อาเศียรวจนะ, อาเศียรวาท
แต่ “อาศิรวาท” นิยมใช้กันมากกว่าคำอื่น
“อาศิรวาท” ประกอบด้วย อาศิร + วาท
คำว่า “วาท” เข้าใจกันดีแล้ว แต่ “อาศิร” มีที่มาค่อนข้างซับซ้อน
“อาศิร” บาลีเป็น “อาสี” และ “อาสี” ก็มาจาก “อาสา” อีกทีหนึ่ง
“อาสา” แปลว่า ความจำนง, ความหวัง, ความปรารถนา, ความประสงค์, ความอยากได้, การอ้อนวอน, การขอ
“อาสา” รากศัพท์เดิมแปลว่า “สรรเสริญด้วยความหวัง”
อาสา = อาสี สันสกฤตเป็น “อาศี” “อาศิสฺ”แปลว่า “การอวยพร” และมีกฎไวยากรณ์ว่า เมื่อนําหน้าอักษรตํ่าและตัว ห ต้องเปลี่ยน ส เป็น ร; อาศี, อาศิสฺ จึง = “อาศิร”
แต่ที่น่าคิดก็คือ “อาศิร” ในสันสกฤตแปลว่า ไฟ, เวตาล, ปีศาจ
แม้ “อาสี” “อาศิสฺ” ที่แปลว่า “การอวยพร” นั่นเอง ก็มีคำแปลไว้อีกคำหนึ่งว่า “เขี้ยวงู”
สรุปว่า “อาศิรวาท” แปลว่า “คำอวยพร” ก็ได้ แปลว่า “วาทะอันเปรียบเหมือนเขี้ยวงู” ก็ได้ แล้วแต่ว่าผู้ใช้มีเจตนาจะให้มีความหมายอย่างไร
: ความยากอยู่ตรงที่ว่า เจตนาของคน รู้ได้ยาก
: ท่านจึงว่า “จิตมนุษย์นี้ไซร้ ยากแท้หยั่งถึง”
บาลีวันละคำ (215)
9-12-55