บาลีวันละคำ

อาจินต์ (บาลีวันละคำ 216)

อาจินต์

(คำที่เขียนผิดความหมาย)

ตามรูปศัพท์ “อาจินต์” ประกอบด้วย อา + จินต์

“อา” เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า ทั่ว ยิ่ง และใช้กลับความ เช่น “คม” (คะ-มะ”) แปลว่า “ไป” “อาคม” (อา-คม) แปลว่า “มา”

“จินต์” แปลว่า “คิด”

“อาจินต์” จึงแปลว่า คิดทั่วๆ ไป, คิดยิ่งๆ ขึ้น และ “ไม่มีความคิด”

เมื่อจะหมายถึงเรื่องหรือสิ่งที่ทำเป็นปรกติ, ทำจนติดเป็นนิสัย, ทำเสมอ ๆ เนือง ๆ มักจะมีผู้ใช้คำว่า “ทำเป็นอาจินต์” ซึ่งเป็นคำที่เขียนผิด เพราะมีความหมายไม่ตรงกับที่ต้องการพูด

คำที่ถูกต้อง คือ “อาจิณ” (อา-จิน) ภาษาบาลีเขียนว่า “อาจิณฺณ” อ่านว่า อา-จิน-นะ

ประกอบด้วย อา + จิ ธาตุ หรือ จรฺ ธาตุ ดำเนินกรรมวิธีทางไวยากรณ์ สำเร็จรูปเป็น “อาจิณฺณ” แปลว่า สะสม, สั่งสม, ปฏิบัติ กระทำบ่อยๆ, ประพฤติจนเป็นนิสัยแล้ว, ทำจนเป็นนิสัยแล้ว

สรุปว่า : อาจินต์-ผิด, อาจิณ-ถูก

และโปรดระวัง ถ้าทำอะไรไม่มีความคิด ก็มักจะผิดเป็นอาจิณ

บาลีวันละคำ (216)

10-12-55

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย