กรณีศึกษา (บาลีวันละคำ 3,878)
กรณีศึกษา
จะศึกษาเพื่อก่อกรณีหรือเพื่อแก้กรณี
อ่านว่า กะ-ระ-นี-สึก-สา
ประกอบด้วยคำว่า กรณี + ศึกษา
(๑) “กรณี”
อ่านว่า กะ-ระ-นี รูปคำเดิมมาจาก กรณ + อี ปัจจัย
(ก) “กรณ” อ่านว่า กะ-ระ-นะ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง น เป็น ณ
: กรฺ + ยุ > อน = กรน > กรณ แปลตามศัพท์ว่า “การทำ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กรณ” ไว้ดังนี้ –
(1) doing, making, causing, producing (กระทำ, สร้าง, ก่อให้เกิด, ผลิต)
(2) the making, producing of; the doing, performance of (การสร้าง, การผลิต; การทำ, การประกอบ)
(3) the doing up, preparing (การกระทำ, การตระเตรียม)
(4) state, condition (ภาวะ, สถานะ)
(ข) กรณ + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: กรณ + อี = กรณี แปลเหมือน “กรณ”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กรณี : (คำนาม) คดี, เรื่อง, เหตุ, เช่น ในกรณีนี้ = ในเรื่องนี้. (ป., ส. กรณี ว่า ที่เป็นเหตุกระทํา).”
(๒) “ศึกษา”
บาลีเป็น “สิกฺขา” อ่านว่า สิก-ขา รากศัพท์มาจาก สิกฺขฺ (ธาตุ = ศึกษา, เรียนรู้) + อ (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: สิกฺข + อ = สิกฺข + อา = สิกฺขา แปลตามศัพท์ว่า “ข้อปฏิบัติอันบุคคลพึงศึกษา”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สิกฺขา” ไว้ดังนี้ –
(1) study, training, discipline (การศึกษา, การฝึก, สิกขาหรือวินัย)
(2) [as one of the 6 Vedāngas] phonology or phonetics, combd with nirutti [interpretation, etymology] ([เป็นหนึ่ีงในเวทางค์ 6] วิชาว่าด้วยเสียง หรือการอ่านออกเสียงของคำต่าง ๆ, รวมกับ นิรุตฺติ [การแปลความหมาย, นิรุกติ])
ความหมายของ “สิกขา” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สิกขา : (คำนาม) ข้อที่จะต้องศึกษา, ข้อที่จะต้องปฏิบัติ ได้แก่ ศีล เรียกว่า ศีลสิกขา สมาธิ เรียกว่า จิตสิกขา และปัญญา เรียกว่า ปัญญาสิกขา รวมเรียกว่า ไตรสิกขา; การศึกษา, การเล่าเรียน, เช่น ปริยัติสิกขา ปฏิบัติสิกขา. (ป.; ส. ศิกฺษา).”
บาลี “สิกฺขา” สันสกฤตเป็น “ศิกฺษา”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “ศิกฺษ” อันเป็นรากศัพท์ (ธาตุ) ของ “ศิกฺษา” ไว้ดังนี้ –
“ศิกฺษ : (ธาตุ) เรียน, ศึกษาศาสตร์หรือความรู้; to learn, to acquire science or knowledge.”
และบอกความหมายของ “ศิกฺษา” ไว้ดังนี้ –
“ศิกฺษา : (คำนาม) ‘ศึกษา,’ หนึ่งในจำนวนหกแห่งเวทางค์ หรือ ศาสตร์อันติดต่อกับพระเวท; การศึกษา, การเล่าเรียน; ความเสงี่ยมในมรรยาท, อนหังการ; one of the six Vedāngas or sciences attached to the Vadas; learning, study; modesty, humility.”
ในภาษาไทย “สิกฺขา” นิยมใช้อิงรูปสันสกฤต คือ “ศิกฺษา” แล้วเสียงกลายเป็น “ศึกษา” และพูดทับศัพท์ว่า “ศึกษา” จนเข้าใจกันทั่วไป
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ศึกษา : (คำนาม) การเล่าเรียน ฝึกฝน และอบรม. (ส. ศิกฺษา; ป. สิกฺขา).”
กรณี + ศึกษา = กรณีศึกษา แปลตามความเข้าใจของผู้เขียนบาลีวันละคำว่า “เรียนรู้ถึงเหตุที่เป็นเช่นนั้น”
ขยายความ :
“กรณีศึกษา” เป็นคำที่บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า case study
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล case study ว่า การศึกษาเรื่องราวแต่ละราย
คำว่า case study ไม่มีในพจนานุกรมอังกฤษ-บาลี (English-Pali Dictionary ของ A.P. BUDDHATTA MAHTHERA)
คำว่า “กรณีศึกษา” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
ตามความเข้าใจของผู้เขียนบาลีวันละคำ ความหมายของ “กรณีศึกษา” ก็คือ –
(1) มีเรื่องอย่างใดอย่างหนึ่งปรากฏเกิดขึ้น เป็นเรื่องแปลก ยังไม่เคยมีใครรู้จัก หรือไม่เหมือนกับเรื่องทั่วๆ ไป
(2) มีผู้เห็นว่าเรื่องนั้นน่าศึกษาเรียนรู้ไว้ว่า มีเหตุเป็นมาอย่างไรและผลที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร
(3) เพื่อที่ว่า-เมื่อพบเห็นเรื่องเช่นนั้นหรือเรื่องทำนองเดียวกันนั้นอีก จะได้ใช้ผลที่ศึกษาเรียนรู้ไว้นั้นมาช่วยแก้ปัญหาหรือพัฒนาให้เกิดผลที่พึงประสงค์ได้ดียิ่งขึ้น
รวม (1) (2) (3) เข้าด้วยกัน นี่คือความหมายของคำว่า “กรณีศึกษา”
เนื่องจากคำว่า “กรณีศึกษา” เป็นศัพท์ทางวิชาการและบัญญัติจากคำอังกฤษ จึงควรให้ผู้รู้เฉพาะทางเป็นผู้อธิบายความหมาย ที่ผู้เขียนบาลีวันละคำแสดงมานั้นเป็นความเข้าใจส่วนตัวล้วนๆ ไม่พึงถือเอาเป็นหลักฐาน เป็นเพียงการนำร่องอย่างไม่เป็นทางการเท่านั้น
ผู้เขียนบาลีวันละคำยังไม่พบคำนิยามหรือความหมายอย่างเป็นทางการของคำว่า “กรณีศึกษา” (เช่นคำอธิบายของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาเป็นต้น) ท่านผู้ใดพบ ขอความกรุณานำมาร่วมบูรณาการเพื่อเป็นองค์ความรู้ร่วมกัน จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คนฉลาด ศึกษาใจคน
: คนฉลาดกว่า ศึกษาใจตน
#บาลีวันละคำ (3,878)
24-1-66
…………………………….
……………………………