อนวัชกัมมะ (บาลีวันละคำ 3,301)
ปาปวิรัติ
เว้นจากความชั่ว
คำในพระสูตร: อารตี วิรตี ปาปา (อา-ระ-ตี วิ-ระ-ตี ปา-ปา)
“ปาปวิรัติ” อ่านว่า ปา-ปะ-วิ-รัด
แยกศัพท์เป็น ปาป + วิรัติ
(๑) “ปาป”
อ่านว่า ปา-ปะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ปา (ธาตุ = รักษา) + อ (อะ) ปัจจัย, ลง ป อาคม
: ปา + อ + ป = ปาป แปลตามศัพท์ว่า “กรรมเป็นแดนรักษาตนแห่งเหล่าคนดี” คือคนดีจะป้องกันตนโดยออกห่างแดนชนิดนี้
(2) ปา (ธาตุ = รักษา) + ป ปัจจัย
: ปา + ป = ปาป แปลตามศัพท์ว่า “กรรมที่รักษาอบายภูมิไว้” คือเพราะมีคนทำกรรมชนิดนี้ อบายภูมิจึงยังคงมีอยู่
(3) ป (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + อป (ธาตุ = ให้ถึง) + อ (อะ) ปัจจัย, ลบสระหน้า (คือ อ ที่ ป) ทีฆะสระหลัง (คือ อ ที่ อป เป็น อา-)
: ป + อป > อาป = ปาป + อ = ปาป แปลตามศัพท์ว่า “กรรมที่ยังผู้ทำให้ถึงทุคติ”
(4) ป (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + เป (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ณ ปัจจัย, ทีฆะ อ (ที่ ป) เป็น อา, ลบ เอ ที่ เป
: ป > ปา + เป > ป = ปาป + ณ = ปาป แปลตามศัพท์ว่า “กรรมเป็นเหตุไปสู่อบาย”
“ปาป” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ความชั่ว, ความเลวร้าย, การทำผิด, (evil, sin, wrong doing); เลวร้าย, เป็นอกุศล, ชั่ว, เลวทราม, บาป (evil, bad, wicked, sinful)
ในภาษาไทยใช้ว่า “บาป” (ปา– เป็น บา-) อ่านว่า บาบ ถ้ามีคำอื่นมาสมาส อ่านว่า บาบ-ปะ- พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บาป, บาป– : (คำนาม) การกระทําผิดหลักคําสอนหรือข้อห้ามในศาสนา; ความชั่ว, ความมัวหมอง.(คำวิเศษณ์) ชั่ว, มัวหมอง, เช่น คนใจบาป. (ป., ส. ปาป).”
(๒) “วิรัติ”
เขียนแบบบาลีเป็น “วิรติ” อ่านว่า วิ-ระ-ติ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, ต่าง) + รมฺ (ธาตุ = เว้น) + ติ ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ
: วิ + รมฺ = วิรมฺ + ติ = วิรมติ > วิรติ แปลตามศัพท์ว่า :
(1) “การเว้นพิเศษ” (คือปกติไม่ได้เว้น การงดเว้นนี้จึงพิเศษกว่าปกติ)
(2) “การเว้นต่าง” (คือคนทั่วไปไม่เว้นการกระทำเช่นนั้น การงดเว้นนี้จึงต่างจากคนทั่วไป)
ในมงคลข้อมีคำที่ควบกันอยู่อีกคำหนึ่ง คือ “อารตี” อ่านว่า อา-ระ-ตี รูปคำเดิมเป็น “อารติ” (อา-ระ-ติ) รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + รมฺ (ธาตุ = เว้น) + ติ ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ
: อา + รมฺ = อารมฺ + ติ = อารมติ > อารติ แปลตามศัพท์ว่า :
(1) “การเว้นทั่ว” (คือเว้นทั่วไปทั้งหมด ไม่ละเลยหรือข้ามผ่านส่วนใดๆ เลย)
(2) “การเว้นอย่างยิ่ง” (คือเว้นอย่างเข้มแข็ง จริงจัง เด็ดเดี่ยว)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลไว้ดังนี้ –
(1) วิรติ : abstinence (การงดเว้น)
(2) อารติ : leaving off, abstinence (การเลิกละ, การงดเว้น)
“อารติ” กับ “วิรติ” เป็นคำขยายซึ่งกันและกัน ใช้คำหนึ่งก็มีความหมายเท่ากับอีกคำหนึ่งอยู่ในตัว
“วิรติ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วิรัติ” (วิ-รัด)
“อารติ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อารัติ” (อา-รัด)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) วิรัติ : (คำกริยา) งดเว้น, เลิก. (คำนาม) การงดเว้น, การเลิก, เช่น มังสวิรัติ สุราวิรัติ. (ป., ส. วิรติ).
(2) อารัติ : (คำนาม) การเว้น, การเลิก, การหยุด, อารดี หรือ อารติ ก็ว่า. (ป., ส. อารติ).
(3) อารดี, อารติ : (คำนาม) การเว้น, การเลิก, การหยุด, อารัติ ก็ว่า. (ป. อารติ).
ขยายความ :
ในหลักวิชาทางธรรม ท่านแบ่ง “วิรัติ” เป็น 3 อย่าง คือ –
(1) สัมปัตตวิรัติ (สำ-ปัด-ตะ-วิ-รัด) เว้นได้ซึ่งสิ่งที่ประจวบเข้า (สัมปัตต : “ถึงพร้อม” – reached, arrived, come to, present) = งดเว้นเมื่อมีเหตุมาประจวบเข้าเฉพาะหน้า (ไม่ได้ตั้งเจตนามาก่อน)
(2) สมาทานวิรัติ (สะ-มา-ทาน-นะ-วิ-รัด) เว้นด้วยการสมาทาน (สมาทาน : “ยึดถือไว้พร้อม” – resolution, vow) = ตั้งใจงดเว้นไว้ก่อนแล้ว
(3) สมุจเฉทวิรัติ (สะ-หฺมุด-เฉด-ทะ-วิ-รัด) เว้นได้โดยเด็ดขาด (สมุจเฉท : “ตัดขึ้นพร้อม” – cutting off, abolishing, giving up) = ปฏิบัติถึงขึ้นที่ตัดได้ขาดจริง
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [108] แสดงเรื่อง “วิรัติ” ทั้ง 3 ไว้ดังนี้ –
…………..
วิรัติ 3 (การเว้นจากทุจริต, การเว้นจากกรรมชั่ว — Virati : abstinence)
1. สัมปัตตวิรัติ (เว้นสิ่งประจวบเฉพาะหน้า, เว้นเมื่อประสบซึ่งหน้า หรือเว้นได้ทั้งที่ประจวบโอกาส คือ ไม่ได้ตั้งเจตนาไว้ก่อน ไม่ได้สมาทานสิกขาบทไว้เลย แต่เมื่อประสบเหตุที่จะทำชั่ว นึกคิดพิจารณาขึ้นได้ในขณะนั้นว่า ตนมีชาติตระกูล วัย หรือคุณวุฒิอย่างนี้ ไม่สมควรกระทำกรรมเช่นนั้น แล้วงดเว้นเสียได้ไม่ทำผิดศีล — Sampatta-virati: abstinence as occasion arises; abstinence in spite of opportunity)
2. สมาทานวิรัติ (เว้นด้วยการสมาทาน คือ ตนได้ตั้งเจตนาไว้ก่อน โดยได้รับศีล คือ สมาทานสิกขาบทไว้แล้ว ก็งดเว้นตามที่ได้สมาทานนั้น — Samādāna-virati: abstinence by undertaking; abstinence in accordance with one’s observances)
3. สมุจเฉทวิรัติ หรือ เสตุฆาตวิรัติ (เว้นด้วยตัดขาด หรือด้วยชักสะพานตัดตอนเสียทีเดียว, เว้นได้เด็ดขาด คือ การงดเว้นความชั่วของพระอริยะทั้งหลาย อันประกอบด้วยอริยมรรคซึ่งขจัดกิเลสที่เป็นเหตุแห่งความชั่วนั้นๆ เสร็จสิ้นแล้ว ไม่เกิดมีแม้แต่ความคิดที่จะประกอบกรรมชั่วนั้นเลย — Samuccheda-virati, Setughāta~ : abstinence by rooting out)
วิรัติ 2 อย่างแรก ยังไม่อาจวางใจได้แน่นอน วิรัติข้อที่ 3 จึงจะแน่นอนสิ้นเชิง
…………..
ปาป + วิรติ = ปาปวิรติ (ปา-ปะ-วิ-ระ-ติ) แปลว่า “การเว้นจากบาป” คือ งดเว้นการทำชั่ว
“ปาปวิรติ” เขียนแบบไทยเป็น “ปาปวิรัติ” อ่านว่า ปา-ปะ-วิ-รัด
ขยายความ :
มงคลข้อที่ 19 ในมงคล 38 ตามนัยแห่งมงคลสูตร คำบาลีในพระสูตรว่า “อารตี วิรตี ปาปา” (อา-ระ-ตี วิ-ระ-ตี ปา-ปา) แปลว่า “การงดเว้นจากบาป” ไขความว่า งดเว้นการทำชั่ว
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [353] มงคล 38 บอกไว้ว่า –
19. อารตี วิรตี ปาปา (เว้นจากความชั่ว — Pāpavirati: abstaining from evils and avoiding them)
…………..
ในคัมภีร์ท่านแสดงอานิสงส์ของ “ปาปวิรัติ = การเว้นจากบาป” ส่วนหนึ่งไว้ดังนี้ –
…………..
สพฺพา เจสา อารติ วิรติ จ ทิฏฺฐธมฺมิกสมฺปรายิกภยเวรปฺปหานาทินานปฺปการวิเสสาธิคมเหตุโต มงฺคลนฺติ วุจฺจติ.
การงดเว้นจากบาปอกุศลนั้นทั้งหมด พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุประสบผลพิเศษนานัปการมีการละภัยเวรที่เป็นปัจจุบันและที่เป็นไปภายหน้าเป็นต้น
ที่มา: ปรมัตถโชติกา ขุททกปาฐวัณณนา หน้า 191
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าท่านมีเหตุผลในการทำชั่ว
: ยมบาลก็มีเหตุผลในการสร้างนรก
—————–
#บาลีวันละคำ (3,301) (ชุดมงคล 38)
26-6-64