อัปปมาทะ (บาลีวันละคำ 3,303)
อัปปมาทะ
ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย
คำในพระสูตร: อปฺปมาโท จ ธมฺเมสุ (อับ-ปะ-มา-โท จะ ทำ-เม-สุ)
“อัปปมาทะ” อ่านว่า อับ-ปะ-มา-ทะ
“อัปปมาทะ” เขียนแบบบาลีเป็น “อปฺปมาท” อ่านว่า อับ-ปะ-มา-ทะ รากศัพท์มาจาก น + ปมาท
(๑) “น” บาลีอ่านว่า นะ เป็นคำจำพวก “นิบาต” คำจำพวกนี้ไม่แจกด้วยวิภัตติปัจจัย คือคงรูปเดิมเสมอ อาจเปลี่ยนรูปโดยวิธีสนธิกับคำอื่นบ้าง แต่คงถือว่าเป็นคำเดิมเพราะเวลาแปลต้องแยกคำออกเป็นคำเดิมเสมอ
นักเรียนบาลีมักท่องจำรวมกับคำอื่นในกลุ่มเดียวกันว่า –
…………..
น (นะ) =ไม่
โน = ไม่
มา = อย่า
ว (วะ) = เทียว
…………..
“น” เป็นนิบาตบอกความปฏิเสธ แปลว่า ไม่, ไม่ใช่ (no, not)
หมายเหตุ: รูปศัพท์ที่ตาเห็นคือ “อปฺปมาท” ควรจะบอกว่า รากศัพท์มาจาก อ (อะ) + ปมาท แต่เนื่องจาก อ (อะ) ในที่นี้ไม่ใช่ศัพท์เดิมที่มีอยู่จริง หากแต่เป็นคำที่แปลงมาจาก “น” (นะ) อีกทีหนึ่ง ดังนั้น จึงบอกลึกเข้าไปถึงคำเดิมทีเดียว ไม่ต้องบอกเป็น 2 ขยัก
(๒) “ปมาท”
อ่านว่า ปะ-มา-ทะ รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + มทฺ (ธาตุ = เมา, มัวเมา) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ ม-(ทฺ) เป็น อา (มทฺ > มาท)
: ป + มทฺ = ปมทฺ + ณ = ปมทฺณ > ปมทฺ > ปมาท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภาวะเป็นเหตุให้ไม่ทำกิจที่พึงทำด้วยตนเองแห่งบุคคลผู้แม้จะมีความสามารถ” (2) “ความเมาทั่ว”
คำแปลตามศัพท์ที่ว่า “ภาวะเป็นเหตุให้ไม่ทำกิจที่พึงทำด้วยตนเองแห่งบุคคลผู้แม้จะมีความสามารถ” หมายความว่า กิจที่มนุษย์ควรทำเพราะเป็นความดีงาม คนบางคนสามารถทำกิจเช่นว่านั้นได้เป็นอย่างดี แต่ก็ไม่ทำ ทั้งอ้างเหตุต่างๆ ที่จะไม่ทำ นี่คือ “ปมาท”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “ปมาท” ไว้ดังนี้ –
“ปมาทะ : ความประมาท, ความขาดสติ, ความเลินเล่อ, ความเผอเรอ, ความเผลอ, ความผัดเพี้ยน, ความปล่อยปละละเลย, ความชะล่าใจ; เทียบ อัปปมาทะ.”
บาลี “ปมาท” สันสกฤตเป็น “ปฺรมาท”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปฺรมาท : (คำนาม) ‘ประมาท,’ อนวธาน, ความเลินเล่อ, ความผิด; ความเมา; ความเสียจริต; inadvertence, carelessness, error, inaccuracy; intoxication; insanity.”
บาลี “ปมาท” ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ประมาท”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
“ประมาท : (คำกริยา) ขาดความรอบคอบ, ขาดความระมัดระวังเพราะทะนงตัว, เช่น เวลาขับรถอย่าประมาท; ดูหมิ่น เช่น ประมาทฝีมือ. (คำนาม) ความเลินเล่อ, การขาดความระมัดระวัง, เช่น ขับรถโดยประมาท; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่. (ส. ปฺรมาท; ป. ปมาท).”
ในทางธรรม “ประมาท” มีความหมายลึกและละเอียดกว่าที่พจนานุกรมฯ นิยามไว้ ดังบทสวด “อุปกิเลส 16” หัวข้อ “มโท” และ “ปมาโท” บรรยายไว้ดังนี้ –
…………..
มโท : (1) ความเมาหลงในร่างกายที่ทรุดโทรมด้วยความชรามีอยู่ทุกวันๆ มาสำคัญว่ายังหนุ่มยังสาวอยู่ ประมาทไป
(2) และเมาหลงในร่างกายที่ป่วยไข้อยู่เป็นนิตย์ ต้องกินยาคือข้าวน้ำทุกค่ำเช้า มาสำคัญว่าไม่มีโรค เป็นสุขสบาย ประมาทไป
(3) และเมาหลงในชีวิตที่เป็นของไม่เที่ยง พลันดับไปดังประทีปจุดไว้ในที่แจ้งฉะนั้น มาสำคัญว่ายังไม่ตาย ประมาทไป
ปมาโท : ความเมามัวทั่วไป อารมณ์อันใดที่น่ารัก ก็ไปหลงรักอารมณ์นั้น อารมณ์อันใดที่น่าชัง ก็ไปหลงชิงชังโกรธต่ออารมณ์เหล่านั้น
บรรจบเป็นอุปกิเลสเครื่องเศร้าหมองใจ 16 ข้อ จิตเศร้าหมองด้วยอุปกิเลสข้อใดข้อหนึ่งดังว่ามานี้แล้ว จิตนั้นล้วนเป็นบาปอกุศลหมดทั้งสิ้น.
…………..
ในแง่ภาษาธรรม ท่านจำกัดความคำว่า “ปมาท” ไว้ว่า “สติโวสฺสคฺค” = “การปล่อยสติ” หมายถึง การลดละความตั้งใจ, ความไม่ตั้งใจ, ความไม่เอาใจใส่ (relaxation of attention, inattention, indifference)
พูดสั้นๆ ว่า ประมาทคือขาดสติ
…………..
น + ปมาท มีกฎดังนี้ –
(1) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ ให้แปลง น เป็น อ (อะ)
(2) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ คือ อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ให้แปลง น เป็น อน (อะ-นะ)
ในที่นี้ “ปมาท” ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ คือ ป– จึงแปลง น เป็น อ และซ้อน ปฺ ระหว่างบทหน้ากับบทหลัง
: น + ปฺ + ปมาท = นปฺปมาท > อปฺปมาท (อับ-ปะ-มา-ทะ) แปลว่า “ความไม่ประมาท” หมายถึง ความรอบคอบ, ความจดจ่อ, ความระวังระไว (earnestness, vigilance, zeal)
“อปฺปมาท” เขียนแบบไทยเป็น “อัปปมาทะ”
ขยายความ :
มงคลข้อที่ 21 ในมงคล 38 ตามนัยแห่งมงคลสูตร คำบาลีในพระสูตรว่า “อปฺปมาโท จ ธมฺเมสุ” (อับ-ปะ-มา-โท จะ ทำ-เม-สุ) แปลว่า “ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [353] มงคล 38 บอกไว้ว่า –
21. อปฺปมาโท จ ธมฺเมสุ (ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย — Appamāda: diligence in virtue; perseverance in virtuous acts)
…………..
ในคัมภีร์ท่านแสดงอานิสงส์ของ “อัปปมาทะ = ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย” ส่วนหนึ่งไว้ดังนี้ –
…………..
โย เอวรูโป ปมาโท ปมชฺชนา ปมชฺชิตตฺตํ อยํ วุจฺจติ ปมาโทติ เอตฺถ วุตฺตสฺส ปมาทสฺส ปฏิปกฺขวเสน อตฺถโต กุสเลสุ ธมฺเมสุ สติยา อวิปฺปวาโส เวทิตพฺโพ.
โส นานปฺปการกุสลาธิคมเหตุโต อมตาธิคมเหตุโต จ มงฺคลนฺติ วุจฺจติ.
ความประมาท ความเลินเล่อ ความเป็นผู้มัวเมาเห็นปานนี้ใด อันนี้เรียกว่าประมาท ความดำรงอยู่โดยไม่ปราศจากสติที่จะบำเพ็ญกุศลธรรมทั้งหลาย อันมีความหมายตรงกันข้ามกับความประมาทที่กล่าวแล้วนี้ พึงทราบว่าเป็นความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย.
ความไม่ประมาทในกุศลธรรมนั้น พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุประสบกุศลนานัปการ และเพราะเป็นเหตุบรรลุอมฤตธรรม.
ที่มา: ปรมัตถโชติกา ขุททกปาฐวัณณนา หน้า 192
…………..
ดูก่อนภราดา!
: สติมีอยู่ทุกหย่อมหญ้า
: แต่หายาก
#บาลีวันละคำ (3,303) (ชุดมงคล 38)
28-6-64