บาลีวันละคำ

นิวาตะ (บาลีวันละคำ 3,305)

นิวาตะ

ความอ่อนน้อมถ่อมตน 

คำในพระสูตร: นิวาโต (นิ-วา-โต จะ) 

นิวาตะ” อ่านว่า นิ-วา-ตะ

นิวาตะ” เขียนแบบบาลีเป็น “นิวาต” อ่านว่า นิ-วา-ตะ ประกอบด้วย นิ + วาต 

(๑) “นิ” 

เป็นศัพท์จำพวก “อุปสรรค” นักเรียนบาลีในเมืองไทยท่องกันว่า “นิ = เข้า, ลง, นิ = ไม่มี, ออก” 

อภิปรายแทรก :

อาจารย์ผู้สอนบาลีแสดงความเห็นว่า อุปสรรคตัวนี้เป็น “นิ” (สระ อิ) ตัวหนึ่ง เป็น “นี” (สระ อี) ตัวหนึ่ง คือ “นิ = เข้า, ลง” และ “นี = ไม่มี, ออก” แต่เนื่องจากตำราพิมพ์ผิด “นี” ตัวหลังพิมพ์เป็น “นิ” กลายเป็น “นิ” ทั้ง 2 ตัว แล้วไม่ได้แก้ 

ลองตรองดูก็ประหลาดอยู่ ถ้าเป็น “นิ” เหมือนกันทั้ง 2 ตัว ไฉนจึงแยกเป็น “นิ = เข้า, ลง, นิ = ไม่มี, ออก” ทำไมจึงไม่ว่า “นิ = เข้า, ลง, ไม่มี, ออก” รวดเดียวไปเลย 

อาจารย์ผู้สอนบาลีรุ่นใหม่จึงยุติว่า “นิ” ตัวหลังต้องเป็น “นี” คือต้องเป็น “นิ = เข้า, ลง” และ “นี = ไม่มี, ออก

ถ้ายุติดังว่านี้ อุปสรรคตัวนี้ก็คือ “นี” = ไม่มี, ออก รัสสะ อี เป็น อิ 

(๒) “วาต

บาลีอ่านว่า วา-ตะ รากศัพท์มาจาก วา (ธาตุ = ไป) + ปัจจัย

: วา + = วาต (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่พัดไป” (2) “สิ่งเป็นเหตุฟุ้งไปแห่งกลิ่นดอกไม้เป็นต้น” (3) “สิ่งที่ไปเร็ว” (4) “สิ่งที่ประกาศกลิ่น” หมายถึง ลม (wind)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายของ “วาต” เพิ่มเติมไว้ดังนี้ –

(1) wind [of the air] (ลม [เกี่ยวกับอากาศ])

(2) “winds” of the body, i. e. pains caused by [bad] circulation, sometimes simply [uncontrolled] movements in the body, sometimes rheumatic pains, or sharp & dragging pains in var. parts of the body (“ลมต่างๆ” เกี่ยวกับร่างกาย, คือความเจ็บปวดที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของเลือดลม [ที่ผิดปกติ], บางทีก็จากความเคลื่อนไหว [อันไม่อาจควบคุมได้] ในร่างกาย, บางทีก็จากความเจ็บปวดทางไขข้อ, หรือความเจ็บปวดอย่างแรงและเรื้อรังในส่วนต่างๆ ของร่างกาย)

(3) [fig.] atmosphere, condition, state ([อุปมา.] บรรยากาศ, สภาวะ, สถานะ)

นิ + วาต = นิวาต (หรือ นี + วาต = นีวาต > นิวาต) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีลมออกแล้ว” (คือผู้ไม่พองตัว) หมายถึง สงบ, เสงี่ยม, เรียบร้อย, สุภาพ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายของ “นิวาต” ไว้ดังนี้ –

(1) เป็นคุณศัพท์: with the wind gone down, i. e. without wind, sheltered from the wind, protected, safe, secure (มีลมตก, คือไม่มีลม, ถูกกันจากลม, ได้รับการป้องกัน, ปลอดภัย, มั่นคง)

(2) เป็นคำนาม: a calm (ความเงียบสงบ)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

นิวาต : (คำแบบ) (คำวิเศษณ์) สงัดลม, สงัด; เสงี่ยม, เจียมตัว, สุภาพ. (ป.).”

ขยายความ :

มงคลข้อที่ 23 ในมงคล 38 ตามนัยแห่งมงคลสูตร คำบาลีในพระสูตรว่า “นิวาโต ” (นิ-วา-โต จะ) แปลว่า “ความอ่อนน้อมถ่อมตน ประการหนึ่ง” 

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [353] มงคล 38 บอกไว้ว่า –

23. นิวาโต (ความสุภาพอ่อนน้อม, ถ่อมตน — Nivāta: humility, courtesy; politeness)

…………..

ในอรรถกถาท่านขยายความ “นิวาตะ = ความอ่อนน้อมถ่อมตน” ไว้ดังนี้ –

…………..

นิวาโต  นาม  นีจมนตา นิวาตวุตฺติตา.  ยาย  สมนฺนาคโต  ปุคฺคโล  นิหตมาโน  นิหตทปฺโป  ปาทปฺปุญฺฉนโจฬกสทิโส  ฉินฺนวิสาณุสภสโม  อุทฺธฏทาฐสปฺปสโม  จ  หุตฺวา  สณฺโห  สขิโล  สุขสมฺภาโส  โหติ  อยํ  นิวาโตติ  อฏฺฐกถายํ  วุตฺตํ. 

ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาว่า ความเป็นผู้มีใจอ่อนน้อม คือความเป็นผู้ประพฤติถ่อมตน ชื่อว่านิวาตะ (ความประพฤติถ่อมตน).

บุคคลผู้ประกอบแล้วด้วยความเป็นผู้ประพฤติถ่อมตน เป็นผู้ขจัดมานะเสียได้ ขจัดความกระด้างเสียได้ เป็นผู้เช่นกับด้วยท่อนผ้าสำหรับเช็คเท้า เสมอด้วยโคผู้เขาหัก และเป็นผู้เสมอด้วยงูพิษที่ถูกถอนเขี้ยวแล้ว มีวาจาอ่อนหวาน มีวาจานิ่มนวล สนทนาด้วยได้อย่างสบายใจ นี้ชื่อว่านิวาตะ.

ที่มา: มังคลัตถทีปนี ภาค 2 ข้อ 286 หน้า 217

…………..

เอวํ  ถทฺธตา  วินาสเหตุโต  อวมงฺคลนฺติ  เวทิตพฺพา.  อตฺถทฺธตาสงฺขาโต  นิวาโต  ตุ  ยสาทิคุณปฺปฏิลาภเหตุโต  มงฺคลํ. 

ความเป็นผู้กระด้าง พึงทราบว่าเป็นอวมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งความพินาศด้วยประการฉะนี้.

ส่วนความประพฤติถ่อมตนกล่าวคือความไม่กระด้าง ชื่อว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุให้ได้คุณมียศเป็นต้น.

ที่มา: มังคลัตถทีปนี ภาค 2 ข้อ 292 หน้า 222

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ก้มหัวให้โลกก่อน

: แล้วโลกจะก้มหัวให้ท่าน

#บาลีวันละคำ (3,305) (ชุดมงคล 38)

30-6-64 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *