บาลีวันละคำ

สันตุฏฐี ในมงคลสูตร (บาลีวันละคำ 3,306)

สันตุฏฐี ในมงคลสูตร

ความสันโดษ

คำในพระสูตร: สนฺตุฏฺฐี (สัน-ตุด-ถี จะ) 

สันตุฏฐี” อ่านว่า สัน-ตุด-ถี

สันตุฏฐี” เขียนแบบบาลีเป็น “สนฺตุฏฺฐิ” อ่านว่า สัน-ตุด-ถิ (เขียนแบบไทย –ฐี เขียนแบบบาลีรูปศัพท์เดิม –ฐิ) รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ตุสฺ (ธาตุ = ยินดี) + ติ ปัจจัย, แปลงนิคหิตเป็น นฺ (สํ > สนฺ), แปลง สฺต (คือ –สฺ ที่สุดธาตุกับ ที่ ติ ปัจจัย) เป็น ฏฺฐ 

: สํ + ตุส = สํตุสฺ + ติ = สํตุสติ > สนฺตุสติ > สนฺตุฏฺฐิ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะเป็นเหตุยินดี” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สนฺตุฏฺฐิ” ว่า satisfaction, contentment (ความพอใจ, ความยินดี) 

ตุฏฺฐิ” (ไม่มี สนฺ-) พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า pleasure, joy, enjoyment (ความชื่นชม, ความรื่นเริง, ความบันเทิง) 

สนฺตุฏฺฐิ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สันตุฏฐี” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

สันตุฏฐี : (คำนาม) สันโดษ. (ป.; ส. สํตุษฺฏิ).”

ตามไปดูที่คำว่า “สันโดษ” พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ –

สันโดษ : (คำนาม) ความยินดีหรือพอใจเท่าที่ตนมีอยู่หรือเป็นอยู่ เช่น เขาถือสันโดษ. (ภาษาปาก) (คำกริยา) มักน้อย เช่น เขาเป็นคนสันโดษ. (ส. สํโตษ; ป. สนฺโตส).”

ตามไปดู “สันโดษ” ในบาลีเป็นการหาความรู้เพิ่มเติม

สันโดษ” บาลีเป็น “สนฺโตส” (สัน-โต-สะ) รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อม, ดี) + ตุสฺ (ธาตุ = ยินดี) + ปัจจัย, ลบ , แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น นฺ (สํ > สนฺ), แผลง อุ ที่ ตุ เป็น โอ (ตุสฺ > โตส

: สํ + ตุส = สํตุสฺ + = สํตุสณ > สํตุส > สนฺตุส > สนฺโตส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะเป็นเหตุยินดีพร้อม” หมายถึง ความยินดี, ความพอใจ, ความปลื้มใจ, ความยินดีในของของตน, ความยินดีตามฐานะ, ความรู้สึกว่ามีความสุขตามฐานะ 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สนฺโตส” ว่า contentment

โปรดเทียบกับที่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สนฺตุฏฺฐิ” ว่า satisfaction, contentment 

เป็นอันว่า “สนฺตุฏฺฐิ” กับ “สนฺโตส” มีความหมายเท่ากัน คือ satisfaction, contentment (ความพอใจ, ความยินดี) 

พจนานุกรมฯ บอกว่า “สันตุฏฐี” สันสกฤตเป็น “สํตุษฺฏิ” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ไม่ได้เก็บคำว่า “สํตุษฺฏิ” แต่มีคำว่า “ตุษฺฏิ” บอกไว้ดังนี้ 

(สะกดตามต้นฉบับ)

ตุษฺฏิ : (คำนาม) ‘ดุษฎี,’ ปรีติ, อภิลาษ, ความปลื้มใจ, ความพอใจ, ความยินดียิ่งในสิ่งที่พึงได้; มาตฤหรือเทพมารดาองค์หนึ่ง; pleasure, satisfaction, gratification, content, extreme satisfaction or delight in the thing possessed or obtained; one of the Mātṛis or divine mothers.”

อภิปราย :

นักเรียนบาลีในเมืองไทยแปล “สนฺตุฏฺฐิ” (สันตุฏฐี) ว่า “สันโดษ” อันที่จริงในภาษาบาลีก็มีคำว่า “สนฺโตส” (สัน-โต-สะ) อีกคำหนึ่งดังที่นำมาแสดงข้างต้น รูปคำตรงกับ “สันโดษ” ตรงตัว อาจบอกได้ว่า “สันโดษ” มาจากคำว่า “สนฺโตส” ไม่ได้มาจาก “สนฺตุฏฺฐิ” 

อย่างไรก็ตาม “สนฺตุฏฺฐิ” กับ “สนฺโตส” มีความหมายเหมือนกัน อาจเพราะ “สนฺโตส” แปลงเป็น “สันโดษ” ออกเสียงได้คล่องกว่า “สันตุฏฐี” เมื่อจะแปล “สันตุฏฐี” เป็นไทย เราจึงเลือกเอา “สันโดษ” เป็นคำแปลทับศัพท์ จนกระทั่งในภาษาไทยเรารู้จัก “สันโดษ” กันทั่วไป แต่แทบจะไม่รู้จัก “สันตุฏฐี” แม้แต่พจนานุกรมฯ ก็ยังต้องบอกว่า “สันตุฏฐี” ก็คือ สันโดษ

สันโดษ” เป็นหลักธรรมที่ถูกสังคมไทยเข้าใจผิดมากที่สุด (พอๆ กับ “อุเบกขา”) คือคนไทยเข้าใจว่า สันโดษคือชอบอยู่เงียบๆ ไม่สุงสิงกับใคร ไม่อยากได้ใคร่ดีอะไร และที่เข้าใจผิดอย่างฉกรรจ์ก็คือ เข้าใจว่าสันโดษคือเกียจคร้าน 

รัฐบาลไทยสมัยหนึ่งถึงกับขอร้องคณะสงฆ์ว่า อย่าให้พระเทศน์เรื่องสันโดษเพราะจะทำให้คนขี้เกียจ!

ผู้เขียนบาลีวันละคำจะพยายามเอาไม้ซีกงัดไม้ซุงตามสติปัญญา ด้วยคำอธิบายดังต่อไปนี้ – 

ความหมายที่ “ขบ” ออกมาได้จากคำว่า “สันตุฏฐี” หรือ “สันโดษ” ก็คือ ความภูมิใจ อิ่มใจ สุขใจ

ในแง่ภาษา ท่านว่า คำว่า “สัน-” (คือ สํ– คำอุปสรรค) มีความหมาย 3 นัย คือ –

(1) สํ = สกํ (สะ-กัง) แปลว่า “เป็นของตน” (own) คือสิ่งที่เราจะภูมิใจอิ่มใจสุขใจนั้นต้องเป็นของตนอย่างถูกต้อง คือตนเป็นเจ้าของ ไม่ใช่ไปภูมิใจของคนอื่น ถ้าทำเช่นนั้นก็ผิดหลักสันโดษ

(2) สํ = สนฺตํ (สัน-ตัง) แปลว่า “เป็นของที่มีอยู่” (have-thing) คือสิ่งที่จะภูมิใจอิ่มใจสุขใจนั้นต้องเป็นของที่มาอยู่ในครอบครองแล้ว คือของที่มีอยู่จริงๆ ไม่ใช่ไปยินดีภูมิใจกับของที่ไม่มี แต่ของที่มีอยู่ในครอบครองนั้น ถ้าไม่ใช่ของของตน แม้จะ “เป็นของที่มีอยู่” ก็จะไม่ยินดีภูมิใจเรื่อยเปื่อยไป ถ้าทำเช่นนั้นก็ผิดหลักสันโดษ

(3) สํ = สมํ (สะ-มัง) แปลว่า “เป็นสิ่งที่สมควร” (fit, proper) หมายถึง สมควรแก่การที่จะได้มา (ยถาลาภ) สมควรแก่กำลังที่จะบริหารดูแลรักษา (ยถาพล) สมควรแก่ฐานะของตน (ยถาสารูป) เมื่อสมควรเช่นว่านี้จึงจะภูมิใจอิ่มใจสุขใจกับสิ่งนั้น 

ข้อนี้เทียบเคียงพอให้เห็นภาพ เช่น ภิกษุได้รับรองเท้ากีฬามาคู่หนึ่ง เป็นของนอกอย่างดี ราคาแพง 

รองเท้ากีฬาไม่สมควรแก่สมณสารูป ถ้าภิกษุไปยินดีภูมิใจอิ่มใจเข้า ก็ผิดหลักสันโดษ

ที่ว่ามาโดยย่อนี้คือความหมายของ “สันโดษ” 

สันโดษ” เป็นคุณธรรมทางใจ ไม่ใช่ทางการกระทำ หรือคำพูด แต่เป็นทางความคิด ความรู้สึก ความเข้าใจ 

ความขี้เกียจเป็นกิริยาทางกายหรือทางการกระทำ 

สันโดษจึงไม่มีทางที่จะทำให้ใครเป็นคนขี้เกียจได้

ความหมายของ “สันโดษ” คือ ภูมิใจ อิ่มใจ สุขใจ กับสิ่งที่ตนมี สิ่งที่ตนเป็น หรือกับผลงานที่ตนได้ทำลงไปอย่างเต็มความสามารถ ได้ผลเท่าไรอย่างไรก็มีความสุข พอใจ อิ่มใจ พร้อมกับที่มีฉันทะอุตสาหะที่จะพยายามทำให้ดีขึ้นมากขึ้นในครั้งต่อๆ ไป

ปัญหาของมนุษย์ก็คือ ไม่มีความสุขกับสิ่งที่ได้มาหรือที่มีอยู่ แต่เดือดร้อนวุ่นว่ายกับสิ่งที่ไม่มีไม่ได้ “สันโดษ” แก้ปัญหานี้ได้เป็นอย่างดี

ขอชาวเราโปรดให้ความเป็นธรรมแก่หลักธรรมข้อ “สันโดษ” หรือ “สันตุฏฐี” นี้โดยศึกษาให้เข้าใจถูกต้องด้วยเถิด

ขยายความ :

มงคลข้อที่ 24 ในมงคล 38 ตามนัยแห่งมงคลสูตร คำบาลีในพระสูตรว่า “สนฺตุฏฺฐี ” (สัน-ตุด-ถี จะ) แปลว่า “ความสันโดษ ประการหนึ่ง” ไขความว่า ความเอิบอิ่มพึงพอใจในผลสำเร็จที่ได้สร้างขึ้น หรือในลาภที่แสวงหามาได้โดยทางชอบธรรม

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [353] มงคล 38 บอกไว้ว่า –

24. สนฺตุฏฺฐี (ความสันโดษ, ความเอิบอิ่มพึงพอใจในผลสำเร็จที่ได้สร้างขึ้น หรือในลาภที่แสวงหามาได้ ด้วยเรี่ยวแรงความเพียรพยายามของตนโดยทางชอบธรรม — Santuṭṭhī: contentment)

…………..

ในพระไตรปิฎกท่านแสดงโทษของความไม่สันโดษและคุณของสันโดษ ไว้ดังนี้ –

…………..

[๑๒๑]  นาหํ  ภิกฺขเว  อญฺญํ  เอกธมฺมํปิ  สมนุปสฺสามิ  โย  เอวํ  สทฺธมฺมสฺส  สมฺโมสาย  อนฺตรธานาย  สํวตฺตติ  ยถยิทํ  ภิกฺขเว  อสนฺตุฏฺฐิตา,  อสนฺตุฏฺฐิตา  ภิกฺขเว  สทฺธมฺมสฺส  สมฺโมสาย  อนฺตรธานาย  สํวตฺตตีติ. 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นไปเพื่อควานเสื่อมสูญ เพื่อความอันตรธานแห่งสัทธรรม เหมือนความเป็นผู้ไม่สันโดษ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเป็นผู้ไม่สันโดษย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมสูญ เพื่อความอันตรธานแห่งสัทธรรม.

[๑๒๒]  นาหํ  ภิกฺขเว  อญฺญํ  เอกธมฺมํปิ  สมนุปสฺสามิ โย  เอวํ  สทฺธมฺมสฺส  ฐิติยา  อสมฺโมสาย  อนนฺตรธานาย  สํวตฺตติ  ยถยิทํ  ภิกฺขเว  สนฺตุฏฺฐิตา,  สนฺตุฏฺฐิตา  ภิกฺขเว  สทฺธมฺมสฺส  ฐิติยา  อสมฺโมสาย  อนนฺตรธานาย  สํวตฺตตีติ. 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นไปเพื่อความดำรงมั่น เพื่อความไม่เสื่อมสูญ เพื่อความไม่อันตรธานแห่งสัทธรรม เหมือนความเป็นผู้สันโดษ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเป็นผู้สันโดษย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงมั่น เพื่อความไม่เสื่อมสูญ เพื่อความไม่อันตรธานแห่งสัทธรรม.

ที่มา: เอกนิบาต อังคุตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม 20 ข้อ 121, 122

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าไม่รู้จักภูมิใจในสมบัติของตัวเอง

: สักวันหนึ่งแม้แต่กางเกงก็จะไม่เหลือติดกาย

—————–

#บาลีวันละคำ (3,306) (ชุดมงคล 38)

1-7-64 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *