บาลีวันละคำ

กตัญญุตา (บาลีวันละคำ 3,308)

กาลธัมมัสสวนะ

ฟังธรรมตามกาล

คำในพระสูตร: กาเลน ธมฺมสฺสวนํ (กา-เล-นะ ทำ-มัด-สะ-วะ-นัง) 

กาลธัมมัสสวนะ” อ่านว่า กา-ละ-ทำ-มัด-สะ-วะ-นะ

กาลธัมมัสสวนะ” เขียนแบบบาลีเป็น “กาลธมฺมสฺสวน” อ่านว่า กา-ละ-ทำ-มัด-สะ-วะ-นะ แยกศัพท์เป็น กาล + ธมฺมสฺสวน 

(๑) “กาล

บาลีอ่านว่า กา-ละ รากศัพท์มาจาก กลฺ (ธาตุ = นับ, คำนวณ) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ -(ลฺ) เป็น อา (กล > กาล)

: กลฺ + = กลณ > กล > กาล แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องนับประมาณอายุเป็นต้น” “ถูกนับว่าล่วงไปเท่านี้แล้ว” “ยังอายุของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไป” หมายถึง เวลา, คราว, ครั้ง, หน

กาล” ที่หมายถึง “เวลา” (time) ในภาษาบาลียังใช้ในความหมายที่ชี้ชัดอีกด้วย คือ :

(ก) เวลาที่กำหนดไว้, เวลานัดหมาย, เวลาตายตัว (appointed time, date, fixed time)

(ข) เวลาที่เหมาะสม, เวลาที่สมควร, เวลาที่ดี, โอกาส (suitable time, proper time, good time, opportunity)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กาล ๑, กาล– : (คำนาม) เวลา, คราว, ครั้ง, หน. (ป., ส.).” 

(๒) “ธมฺมสฺสวน

อ่านว่า ทำ-มัด-สะ-วะ-นะ แยกศัพท์เป็น ธมฺม + สวน 

(ก) “ธมฺม” มาจากรากศัพท์ว่า ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ และ ต้นปัจจัย = ธมฺม 

: ธรฺ > + รมฺม > มฺม : + มฺม = ธมฺม แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้

บาลี “ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม 

ธมฺมธรรม” มีความหมายหลายหลาก ดังต่อไปนี้ –

สภาพที่ทรงไว้, ธรรมดา, ธรรมชาติ, สภาวธรรม, สัจธรรม, ความจริง; เหตุ, ต้นเหตุ; สิ่ง, ปรากฏการณ์, ธรรมารมณ์, สิ่งที่ใจคิด; คุณธรรม, ความดี, ความถูกต้อง, ความประพฤติชอบ; หลักการ, แบบแผน, ธรรมเนียม, หน้าที่; ความชอบ, ความยุติธรรม; พระธรรม, คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งแสดงธรรมให้เปิดเผยปรากฏขึ้น

ธรรม” คำง่ายๆ เหมือนหญ้าปากคอก แต่แปลทับศัพท์กันจนแทบจะไม่ได้นึกถึงความหมายที่แท้จริง

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –

(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม

(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า

(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม

(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม

(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม

(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ

(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ

(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม

(ข) “สวน” (สะ-วะ-นะ) รากศัพท์มาจาก สุ (ธาตุ = ฟัง) + ยุ ปัจจัย แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อุ ที่ สุ เป็น โอ แล้วแผลง โอ เป็น อว (สุ > โส > สว)

: สุ > โส > สว + ยุ > อน = สวน แปลตามศัพท์ว่า “การฟัง

สวน” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) หู (the ear) 

(2) การฟัง (hearing) 

ธมฺม + สวน ซ้อน สฺ ระหว่างบทหน้ากับบทหลัง 

: ธมฺม + สฺ + สวน = ธมฺมสฺสวน แปลว่า “การฟังธรรม” (hearing the preaching of the Dhamma) 

โดยถ้อยคำ “ธมฺมสฺสวน” หมายถึงฟังพระธรรมคำสอนอันมีในพระพุทธศาสนา แต่โดยความหมาย “ธมฺมสฺสวน” หมายถึงการศึกษาหาความรู้ความเข้าใจในหลักปฏิบัติอันดีงามทั่วไป

กาเลน + ธมฺมสฺสวน ลบวิภัตติบทหน้า (กาเลน > กาล) = กาลธมฺมสฺสวน (กา-ละ-ทำ-มัด-สะ-วะ-นะ) แปลว่า “การฟังธรรมตามกาล” 

อภิปราย :

คำในพระสูตร: กาเลน ธมฺมสฺสวนํ (กาเลน คำหนึ่ง ธมฺมสฺสวนํ อีกคำหนึ่ง) ในที่นี้ใช้วิธีสมาสกันเป็นคำเดียว โดยลบวิภัตติบทหน้า คือ “กาเลน” เหลือเป็นศัพท์เดิมคือ “กาล” จึงได้รูปศัพท์เป็น “กาลธมฺมสฺสวน” เขียนแบบไทยเป็น “กาลธัมมัสสวนะ” อ่านว่า กา-ละ-ทำ-มัด-สะ-วะ-นะ (ไม่ใช่ กาน-ทำ-มัด-สะ-วะ-นะ)

ในที่ทั่วไปเมื่อเอ่ยถึงมงคลข้อนี้เป็นคำศัพท์ ท่านใช้คำว่า “ธัมมัสสวนะ” หรือ “ธรรมสวนะ” (ไม่มี “กาล-”) ในที่นี้ขอใช้ให้แปลกออกไปเพื่อยืนยันเจตนารมณ์แห่งพระสูตรที่มีคำว่า “กาเลน” ควบอยู่ด้วย (กาเลน ธมฺมสฺสวนํ) ทั้งเพื่อชวนให้ขบคิดต่อไปว่า คำว่า “กาล (กาเลน) = ตามกาล” หมายความว่าอย่างไร

มีบทอาราธนาธรรมวันอุโบสถบทหนึ่งว่า –

…………..

จาตุทฺทสี  ปณฺณรสี

ยา  จ  ปกฺขสฺส  อฏฺฐมี

กาลา  พุทฺเธน  ปญฺญตฺตา

สทฺธมฺมสฺสวนสฺสิเม.

แปลว่า –

วันเหล่านี้คือ สิบสี่ค่ำ สิบห้าค่ำ 

และแปดค่ำแห่งปักษ์

เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้

เพื่อการฟังพระสัทธรรม

…………..

สรุปว่า วันธรรมสวนะคือวันฟังธรรมตามหลักนิยมในพระพุทธศาสนา มีเดือนละ 4 วัน คือ (1-2) วันขึ้นและแรม 8 ค่ำ (3) วันเดือนเพ็ญ คือขึ้น 15 ค่ำ และ (4) วันเดือนดับ คือแรม 15 ค่ำ หรือ 14 ค่ำ 

วันเหล่านี้ก็คือที่เราเรียกรู้กันเป็นสามัญว่า “วันพระ

การฟังธรรมตามวันดังกล่าวนี้แหละ คือ “ฟังธรรมตามกาล” 

แต่ไม่พึงเข้าใจว่า เมื่อฟังธรรมตามวันเหล่านี้แล้วก็ไม่ต้องฟังในวันอื่นเวลาอื่น หรือธรรมะนั้นฟังได้เฉพาะในวันพระเท่านั้น วันอื่นฟังไม่ได้หรือห้ามฟัง

ขอให้เข้าใจว่า จะฟังในวันอื่นเวลาอื่นด้วยก็ยิ่งดี แต่เมื่อถึงวันพระควรฟังหรือต้องฟังด้วย ไม่พึงอ้างว่าฟังวันอื่นๆ มากแล้ว ไม่ต้องฟังในวันพระอีกก็ได้ หรืออ้างเตลิดไปว่า ธรรมะฟังวันไหนก็ได้ ไม่เห็นจำเป็นจะต้องกำหนดว่าต้องฟังในวันพระ 

ที่มีกำหนดวันฟังธรรมไว้ก็เพื่อเป็นหลักประกันว่า ผู้นับถือพระพุทธศาสนาต้องได้ฟังธรรมอย่างแน่นอน ไม่ใช่อยู่อย่างเลื่อนลอย จะฟังหรือไม่ฟัง หรือจะฟังวันไหนตามแต่สะดวกหรือตามศรัทธา 

สำหรับผู้ที่ความตั้งใจยังอ่อนอยู่ก็จะได้มีหลักยึดหรือมีตารางปฏิบัติให้ดำเนินตามเสมือนเป็น “แบบฝึกหัด” เพื่อนำไปสู่ความเข้มแข็งมั่นคงแห่งศรัทธาในกาลต่อไป

ขอให้ลองเทียบกับศาสนาอื่นดู วันอาทิตย์ชาวคริสต์ไปโบสถ์ วันศุกร์ชาวมุสลิมไปมัสยิด 

จะเป็นอย่างไร-ถ้าชาวคริสต์บอกว่า ไปโบสถ์วันไหนก็ได้ ไม่เห็นจำเป็นจะต้องไปวันอาทิตย์

จะเป็นอย่างไร-ถ้าชาวมุสลิมบอกว่า ไปมัสยิดวันไหนก็ได้ ไม่เห็นจำเป็นจะต้องไปวันศุกร์

ชาวพุทธควรละหรือที่จะพูดว่า ฟังธรรมวันไหนก็ได้ ไม่เห็นจำเป็นจะต้องเป็นวันพระ

นี่คือความสำคัญของคำว่า “กาล (กาเลน) = ตามกาล” 

ขยายความ :

มงคลข้อที่ 26 ในมงคล 38 ตามนัยแห่งมงคลสูตร คำบาลีในพระสูตรว่า “กาเลน ธมฺมสฺสวนํ” (กา-เล-นะ ทำ-มัด-สะ-วะ-นัง) แปลว่า “การฟังธรรมตามกาล” 

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [353] มงคล 38 บอกไว้ว่า –

26. กาเลน ธมฺมสฺสวนํ (ฟังธรรมตามกาล, แสวงความรู้เกี่ยวกับหลักความจริง ความดีงามและเรื่องที่เป็นประโยชน์ — Dhammassavana: the opportune hearing of the Dhamma; listening to good advice and the teaching of Truth on due occasions)

…………..

ในพระไตรปิฎกท่านแสดงโทษของการไม่ฟังธรรมโดยเคารพและคุณของการฟังธรรมโดยเคารพ ไว้ดังนี้ –

…………..

[๑๕๔]  ปญฺจิเม  ภิกฺขเว  ธมฺมา  สทฺธมฺมสฺส  สมฺโมสาย  อนฺตรธานาย  สํวตฺตนฺติ.  กตเม  ปญฺจ.  อิธ  ภิกฺขเว  ภิกฺขู  น  สกฺกจฺจํ  ธมฺมํ  สุณนฺติ  น  สกฺกจฺจํ  ธมฺมํ  ปริยาปุณนฺติ  น  สกฺกจฺจํ  ธมฺมํ  ธาเรนฺติ  น  สกฺกจฺจํ  ธตานํ  ธมฺมานํ  อตฺถํ  อุปปริกฺขนฺติ  น  สกฺกจฺจํ  อตฺถมญฺญาย  ธมฺมมญฺญาย  ธมฺมานุธมฺมํ  ปฏิปชฺชนฺติ.  อิเม  โข  ภิกฺขเว  ปญฺจ  ธมฺมา  สทฺธมฺมสฺส  สมฺโมสาย  อนฺตรธานาย  สํวตฺตนฺติ. 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม 

ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน? 

คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ –

ไม่ฟังธรรมโดยเคารพ ๑ 

ไม่เล่าเรียนธรรมโดยเคารพ ๑ 

ไม่ทรงจำธรรมโดยเคารพ ๑ 

ไม่ใคร่ครวญอรรถแห่งธรรมที่ทรงจำไว้โดยเคารพ ๑ 

รู้อรรถรู้ธรรมแล้วไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมโดยเคารพ ๑ 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แลย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม.

ปญฺจิเม  ภิกฺขเว  ธมฺมา  สทฺธมฺมสฺส  ฐิติยา  อสมฺโมสาย  อนนฺตรธานาย  สํวตฺตนฺติ.  กตเม  ปญฺจ.  อิธ  ภิกฺขเว  ภิกฺขู  สกฺกจฺจํ  ธมฺมํ  สุณนฺติ  สกฺกจฺจํ  ธมฺมํ  ปริยาปุณนฺติ  สกฺกจฺจํ  ธมฺมํ  ธาเรนฺติ  สกฺกจฺจํ  ธตานํ  ธมฺมานํ  อตฺถํ  อุปปริกฺขนฺติ  สกฺกจฺจํ  อตฺถมญฺญาย  ธมฺมมญฺญาย  ธมฺมานุธมฺมํ  ปฏิปชฺชนฺติ.  อิเม  โข  ภิกฺขเว  ปญฺจ  ธมฺมา  สทฺธมฺมสฺส  ฐิติยา  อสมฺโมสาย  อนนฺตรธานาย  สํวตฺตนฺตีติ. 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม 

ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน? 

คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ –

ย่อมฟังธรรมโดยเคารพ ๑ 

เล่าเรียนธรรมโดยเคารพ ๑ 

ทรงจำธรรมโดยเคารพ ๑ 

ใคร่ครวญอรรถแห่งธรรมที่ทรงจำไว้โดยเคารพ ๑ 

รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมโดยเคารพ ๑ 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แลย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม 

ที่มา: ปัญจกนิบาต อังคุตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม 22 ข้อ 154

…………..

ดูก่อนภราดา!

อันว่าธรรมะในพระพุทธศาสนานั้น

: ไม่ใช่แค่ฟังให้รู้ หรือดูให้จำ

: แต่ต้องทำให้ได้จริง

#บาลีวันละคำ (3,308) (ชุดมงคล 38)

3-7-64 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *