บาลีวันละคำ

ภาวนา (บาลีวันละคำ 222)

ภาวนา

อ่านว่า พา-วะ-นา

ใช้ในภาษาไทยเขียนและอ่านเหมือนบาลี

ภาวนา” มีรากศัพท์มาจาก “ภู” แปลว่า “มี”, “เป็น” มีกระบวนการทางไวยากรณ์ ดังนี้ –

แผลง อู เป็น โอ = โภ, แผลง โอ เป็น อว = ภว, ลง ยุ ปัจจัย แปลง ยุ เป็น “อน” = ภวน, ยืดเสียง อะ ที่ เป็น อา = ภาวน, เข้ากระบวนการเป็นอิตถีลิงค์ (ศัพท์ที่สมมุติว่าเป็นเพศหญิง) ภาวน = ภาวนา

สรุปว่า ภู = โภ = ภว = ภวน = ภาวน = ภาวนา

ภาวนา” แปลว่า การทำให้มีขึ้นเป็นขึ้น, การทำให้เกิดขึ้น, การเจริญ, การบำเพ็ญ, การเพาะใจ, การทำให้ปรากฏออกมา, การรักษาให้ธำรงอยู่

ตามหลัก “ภาวนา” มี 2 แบบ คือ

1. สมถภาวนา = จอดใจไว้กับอารมณ์เดียว คือฝึกอบรมจิตให้เกิดความสงบ

2. วิปัสสนาภาวนา = ฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความรู้เข้าใจตามเป็นจริง จนมีจิตใจเป็นอิสระ ไม่ถูกครอบงำด้วยกิเลสและความทุกข์

ในภาษาไทย “ภาวนา” เข้าใจกันในความหมายว่า ท่องบ่นหรือว่าซ้ำๆ ให้ขลัง หรือ สำรวมใจตั้งความปรารถนา เช่น นั่งภาวนาขอให้พระช่วย

ภาวนา” ไทย ใช้ใจกับวจี

ภาวนา” บาลี ลงมือทำจนสำเร็จผลด้วยตนเอง

บาลีวันละคำ (222)

16-12-55

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย